ย้อนยุค "คณะรำวง"

ย้อนยุค "คณะรำวง"

ย้อนวันเวลาไปราวๆ ปี 2515 หรือประมาณ 43 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะค้นหาว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีสถานที่ใดบ้างที่มี "คณะรำวง" และ "สาวรำวง" มากที่สุด

มีอยู่สถานที่หนึ่งที่ได้รับการยืนยันจากผู้เคยคลุกคลีอยู่กับวงการนี้มาอย่างยาวนานว่าเป็นดินแดนที่มีคณะรำวงมากที่สุด โดย ณ ที่แห่งนี้ก็คือ "อำเภอพาน" นั่นเอง

            อำเภอพานเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย นอกจะเป็นอำเภอที่มีวัดวาอารามและสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งแล้ว เมืองพานยังมีคณะรำวงและสาวรำวง รวมทั้งนักดนตรีฝีมือดีมากมาย โดยในอดีตนั้นมีคณะรำวงหลายคณะ ไม่ว่าจะเป็นคณะแม่คาวโตน สตาร์, รุกขชาติ ,ธนชาติ ,สาว 17,พานทอง, หงษ์ทอง,พุทธชาติ, ป่าแขม,เพชรยางตาล,เอื้องไผ่,พรรณราย,เอื้องฟ้า,ป่าไผ่,ป่าส้าน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคณะรำวงที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายคณะทั้งที่พอจะมีชื่อและคณะใหม่ๆที่ตั้งกันขึ้นมาหากินในยุคนั้น

            เพราะเป็นดินแดนที่มีคณะรำวงมากที่สุดนี่เอง สิ่งที่เคียงคู่กับคณะรำวงก็คือ สาวรำวงและนักร้องนักดนตรี ดังนั้นเมืองพานจึงมีสาวรำวงนับพันๆ คนก็ว่าได้ เช่นเดียวกับนักร้องนักดนตรี เนื่องจากคณะรำวงยุคนั้นต้องใช้วงดนตรีแบคอัพแบบเต็มวง จึงทำให้อำเภอนี้มีนักดนตรีฝีมือจัดจ้านจำนวนมาก ตัวอย่างที่ยืนยันได้ก็เช่น "โอ้-โอฬาร" หรือ "โอฬาร พรหมใจ " มือกีตาร์ฝีมือเยี่ยมแห่งวง "ดิ โอฬาร โปรเจ็ค" ซึ่งก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคนเมืองพานเหมือนกัน

            ในบรรดาคณะรำวงจำนวนมากนั้น คณะที่ถือว่าโด่งดังที่สุดในอดีตของอำเภอพานนั้น มีอยู่ 2 คณะที่ถือว่าสุดยอดและเป็นที่รู้จักกันทั้งภาคเหนือ อีกทั้งเป็นคู่แข่งกันด้วย นั่นก็คือคณะ แม่คาวโตน สตาร์ และคณะรุกขชาติ โดยคณะแม่คาวโตน สตาร์ มีพ่อหลวงสวัสดิ์ เชื้อเมืองพาน เป็นผู้ก่อตั้ง ส่วน รุกขชาติ มีสมบูรณ์ คำมงคล เป็นผู้ก่อตั้ง

            ส่วนสาวรำวงที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการคณะรำวง โดยเป็นสาวรำวงกันแทบจะทั้งหมู่บ้านก็คือบ้านร่องบอน ต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย  ซึ่งที่นี่เองที่รู้จักกันในนามหมู่บ้านสาวรำวง และสังกัดอยู่กับคณะรำวงที่ดังที่สุดในยุคนั้นมากที่สุด

คำบอกเล่าของเวลา

            บนเส้นทางที่ยาวนานของคนที่คลุกคลีอยู่กับคณะรำวงจากอดีตจนกระทั่งถึงทุกวันนี้นั้น สุรินทร์ จันทะไทย หัวหน้าคณะรำวงแม่คาวโตน 2000 ในปัจจุบันนี้เป็นอีกคนหนึ่งที่ยังยืนหยัดอยู่บนเส้นทางสายนี้ โดยตลอดชีวิตที่ผ่านมานั้นได้สัมผัสและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของคณะรำวงในฐานะที่เป็นนักดนตรีและหัวหน้าคณะเป็นอย่างดี

            "ถ้าจะบอกว่ายุคเฟื่องฟูที่สุดของคณะรำวงน่าจะราวๆ ปี 2515 ช่วงนั้นยืนยันได้เลยว่าที่อำเภอพานนี่แหละ ที่มีคณะรำวงมากที่สุดในประเทศ"

            สุรินทร์ย้อนรำลึกก่อนจะเข้าสู่วงการนี้ว่า ตอนวัยรุ่นเริ่มเล่นลิเกก่อน โดยเล่นอยู่กับคณะ "ชาญน้อยวัฒนา" พร้อมกับฝึกฝนการเล่นดนตรีด้วย โดยเล่นดนตรีแทบทุกชนิต แต่เครืองดนตรีที่ถนัดจัดเจนก็คือการเล่นคีย์บอร์ดจนกระทั่งอายุ 21 ปีจึงเข้าสู่วงการคณะรำวง และมีอยู่ช่วงหนึ่งไปเดินสายอยู่ทั่วเชียงใหม่ จึงไปเล่นกับวงดนตรีลูกทุ่งที่เป็นลูกทีมของวงศรีสมเพชร วงดังของเชียงใหม่ ได้ค่าตัวคืนละ 20 บาท และที่นี่เองแล้วหลังจากนั้นก็กลับมาอยู่กับคณะรำวงอีกครั้ง

            "ระหว่างคณะแม่คาวโตน สตาร์ กับคณะรุกขชาติ เกิดร่วมยุคเดียวกัน ประมาณปี 2514 แต่คณะแม่คาวนั้นดังกว่า เพราะนักดนตรีเก่งมาก เมื่อก่อนนั้นผมเล่นอยู่กับคณะรุกขชาติ เป็นคู่แข่งกับแม่คาวโตน สตาร์  รำวงสมัยก่อนต้องเล่นสดเต็มวง ไม่ได้ใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกับทุกวันนี้ เหมือนกับเป็นวงดนตรีวงหนึ่ง"

            ความโด่งดังของคณะรำวงในตอนนั้น สุรินทร์ จันทะไทย บอกว่า เดินทางไปเล่นถึงสิงคโปร์เลยทีเดียว ส่วนทางภาคเหนือไปทุกจังหวัด โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ไปแทบทุกตำบล เพราะยุคนั้นลำไยแพงทำให้เศรษฐกิจดี มีคนว่างจ้างมาก บางทีก็เปิดเวทีเองเลย

            "คณะรำวงแม่คาวโตน สตาร์ เริ่ม ปี 2514 แล้วก็หยุดเมื่อ ปี 2526 จากนั้นก็เริ่มใหม่ปี 2537 โดยผมนำมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ก่อนหน้านั้นผมอยู่คณะรุกขชาติ แต่สนิทกับนักร้องหญิงของคณะแม่คาว จนกระทั่งมาใช้ชีวิตร่วมกันและนำเอาคณะรำวงแม่คาวโตนมาทำใหม่อีกครั้ง จนกระทั่งถึงทุกวันนี้อย่างที่เห็นนี่แหละ"

            สำหรับค่าจ้างคณะรำวงนั้น สำหรับคณะที่โด่งดังจะตกประมาณคืนละ3,000-3,500 บาท ค่าตัวนักดนตรีจะได้ค่าตัวตั้งแต่ 60 ขึ้นไป ส่วนสาวรำวงจะได้ 30-40 บาท

อายุ 15 เข้ามาเป็นสาวรำวง

            สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคณะรำวงก็คือสาวรำวง ซึ่งชุมชนบ้านร่องบอน ต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย จะเป็นชุมชนที่มีสาวรำวงมากที่สุด แม้ว่าเธอแต่ละคนจะผ่านพ้นวันเวลาเหล่านั้นมาแล้วก็ตาม ความทรงจำของสาวรำวงในวัยสาวก็ยังเหลืออยู่

          "ที่มาเป็นสาวรำวงนั้นก็เพราะเห็นว่ามันเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ อีกอย่างหนึ่งคือเราไม่ได้เรียนหนังสือ ส่วนมากจะจบแค่ ป.4 เท่านั้น อยู่บ้านก็ไม่มีอาชีพอะไร อีกอย่างหนึ่งซึ่งการเป็นสาวรำวงนั้นได้ออกจากบ้านไปพบเห็นสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ตามสถานที่ต่างๆ อีกอย่างวัยตอนนั้นก็เป็นวัยที่กำลังสนุกด้วย...จึงทำให้สาวๆ ที่นี่เป็นสาวรำวงกันมาก"

            นี่คือความทรงจำของช้อย วงศ์รัตน์ อดีตสาวรำวงแม่คาวโตน สตาร์ยุคแรกๆ ซึ่งปัจจุบันเธอกับสามีมีอาชีพรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งเหตุผลในการเป็นสาวรำวงของเธอนั้นก็เช่นกับของ บัวชอน บุญสุข อดีตสาวรำวงคณะเดียวกัน

            "ค่าตัวของสาวรำวงสมัยก่อนก็ได้กันคืนละ 30-40 บาท เดือนๆ หนึ่งก็มีรายได้ไม่น้อยนะ จะบอกว่าลำบากไหม...ก็มีบ้างนะ เพราะต้องเดินทางไปกับคณะรำวงตลอดเวลา บางทีรถบรรทุกคันเดียวก็ต้องไปกันให้หมด ทั้งสาวรำวง เครื่องดนตรี นักดนตรี บางทีมันก็เสี่ยงกับอุบัติเหตุเหมือนกัน เพราะมีคิวไปแสดงทุกวันนั่นเอง ในยุคโน้นบางทีต้องไปทั้งปีเลยนะ ไม่ได้กลับมาบ้านหรอก จะมีก็แต่เขียนจดหมายมาบอกทางบ้านเท่านั้น" ช้อย วงศ์รัตน์ เล่ารำลึกถึงอดีต

            เช่นเดียวกับบัวชอน บุญสุข เธอบอกว่า "คณะรำวงจะตระเวนไปทั่ว ที่ไปไกลที่สุดก็คือจังหวัดชุมพร สำหรับทางภาคเหนือนั้นไปทุกจังหวัด สถานที่หลับนอนในแต่ละคืนก็มีทั้งที่เจ้าภาพงานจัดให้ ในโรงเรียนบ้าง หรือไม่ก็วัดบ้าง หรือไม่บางทีก็จัดเต็นท์ทำเป็นที่หลับที่นอนกันเอง กับข้าวกับปลาก็ทำกินกันเอง แต่ถ้าเจ้าภาพที่มาว่าจ้างจัดอาหารการกินให้ก็ถือว่าโชคดีไป"

            ในความรู้สึกของ ธนิสร เต๋อ๊ะ สาวรำวง คณะสาว 17 ในอดีต ซึ่งเป็นคณะรำวงที่โด่งดังอีกคณะหนึ่งในยุคนั้น เธอเล่าถึงวันคืนเก่าให้ฟังว่า

            "บางแห่งที่เราไปเล่นนั้นมันไกลมาก โดยเฉพาะที่แม่สอด เป็นหมู่บ้านอยู่กลางหุบเขา เวลารถของคณะไปเวลามองลงไปจากไหล่เขาจะเห็นหมู่บ้านลิบๆอยู่ข้างล่าง...ที่หวาดเสียวก็คือเวลารถมันขึ้นเนินดอยไม่ค่อยไหว แล้วมันถอยหลังนั่นล่ะ... การเดินทางนี่แหละน่ากลัวมาก บางคืนต้องออกเดินทางตีหนึ่งตีสอง" เธอบอกพลางหัวเราะ

            ธรรมชาติอย่างหนึ่งของสาวรำวงที่จะต้องพบเจอก็คือการถูกพวกหนุ่มๆ แทะโลมหรือไม่ก็ลวนลาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ พวงเพ็ชร บุญสุข คุู่ชีวิตเจ้าของคณะรำวงรุกขชาติ เปิดเผยว่า

            "สาวรำวงจะมีกฎเกณฑ์นะ คือ ห้ามออกไปเที่ยวคนเดียว ถ้าจะออกจากสถานที่พักจะต้องไปเป็นกลุ่ม หรือเวลาจะไปเข้าห้องน้ำห้องท่า ก็ต้องไปเป็นคู่ๆ... ส่วนบนเวทีรำวงนั้นไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไร "

            พวงเพ็ชร บุญสุขยังบอกอีกว่า หัวหน้าคณะรำวงจะต้องรับผิดชอบสูงมาก จะต้องไปขออนุญาติกับพ่อแม่สาวๆ ก่อนที่จะชวนมาร่วมวง เหมือนกับเป็นการรับประกันความปลอดภัยให้กับลูกสาวของเขาด้วย

            "ส่วนค่าตัวของสาวรำวงนั้น ก็เริ่มตั้งแต่ 30 บาท ถ้าอยู่นานก็ขยับขึ้นมาเป็น 40 บาท ถือว่ามีประสบการณ์ แต่ถ้าใครมีความสามารถพิเศษร้องเพลงได้ หรือโชว์การเต้นได้ ก็จะได้ค่าตัวเพิ่มมากขึ้น"

 

ยุคอับเฉาของคณะรำวง

            "ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ตอนนั้นดิสโก้เธคกำลังเข้ามา และคนเริ่มหันไปนิยม โดยเฉพาะดิสโกเธกเคลื่อนที่ที่ไปเปิดตามงานต่างๆ ช่วงนี้แหละที่ทำให้คณะรำวงเริ่มตกต่ำลง"

            บังอร จันทะไทย ในฐานะที่เป็นนักร้องหญิงยุคแรกและเป็นเงาเสียง "บุปผา สายชล" ของคณะรำวงแม่คาวโตน สตาร์ พูดถึงการเผชิญกับความตกต่ำของคณะรำวง เนื่องจากคนหันไปสนใจดิสโกเธกกันหมด เธอบอกว่างานที่เคยมีแทบไม่ว่างเว้นในแต่ละเดือนลดลงฮวบฮาบ

            "ช่วงนั้นบางคืนผมเก็บเงินได้แค่ 200 บาทเท่านั้น" สุรินทร์ จันทะไทยเล่าถึงความล่มสลายที่มาเยือน "คือคณะรำวงมันต้องแสดงสดๆ ต้องใช้นักดนตรีจริงๆ และต้องเล่นเป็นวงด้วย นอกจากนี้แล้ว เรายังต้องมีเวที มีไฟด้วย เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายจึงสูง ไม่เหมือนเธคเคลื่อนที่ เปิดเพลงแล้วให้คนดิ้นกันเท่านั้น"

            นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บรรดาหัวหน้าคณะรำวงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือไม่บางคณะก็ต้องเลิกลากันไป เพราะไม่มีงาน ทำไปก็ไม่คุ้ม

            "ช่วงที่ตกต่ำนั้นผมขายเครื่องไม้เครื่องมือไปหลายอย่าง ทั้งไฟทั้งเวที แล้วก็หันไปเล่นดนตรีตามร้านอาหาร เล่นได้สักระยะก็หันไปเล่นดนตรีตามงานศพ เพราะช่วงนั้นคนตายด้วยโรคเอดส์เยอะมาก จึงทำให้มีงานแทบไม่ว่างเว้น เพราะเจ้าภาพงานศพเข้าจ้างให้ไปแสดงนั่นแหละ "

            วันนี้ สุรินทร์ จันทะไทย อายุ 60 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ทิ้งคณะรำวง โดยเป็นหัวหน้าคณะรำวงแม่คาวโตน 2000 สานต่อจากยุคอดีตมาจนถึงทุกวันนี้ แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับยุคสมัย

            "เดี๋ยวนี้คนกลับมานิยมคณะรำวงอีกครั้ง เป็นลักษณะของรำวงย้อนยุค แต่คณะของผมนำมาปรับให้ร่วมสมัย ไม่ได้ย้อนยุคเสียทั้งหมด ทุกวันนี้มีงานเข้าตลอด ทั้งรำวง และเล่นเป็นวงแบคอัพ แล้วแต่ว่าคนจ้างจะต้องการรูปแบบไหน ส่วนสาวรำวงการเนื้อแต่งตัวก็เป็นยุคใหม่ เช่นเดียวกับนักดนตรี ก็มีนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ มาเล่นประจำที่คณะของผม ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีใจรักดนตรี หรือบางทีก็เป็นลูกนักดนตรีที่พ่อของเขาเคยเล่นกับคณะรำวงรุ่นเดียวกันผมมาก่อน... สำหรับรายได้นั้นก็พออยู่ได้...ไม่ถึงกับร่ำรวยอะไร"

          แม้ว่าวันนี้คณะรำวงจะหวนกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่สำหรับวันเวลาที่ผ่านมาแล้ว มีเรื่องเล่าขานที่น่ารับรู้อีกมากมาย ทั้งสุขและแสนเศร้า