'บวรศักดิ์' แจงสนช. เลือกส.ว.ทางอ้อมเพื่อถ่วงดุลส.ส.

'บวรศักดิ์' แจงสนช. เลือกส.ว.ทางอ้อมเพื่อถ่วงดุลส.ส.

(รายงาน) "บวรศักดิ์" แจงที่ประชุมสนช. เลือกส.ว.ทางอ้อมเพื่อถ่วงดุลส.ส.

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ ได้ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญรายงานความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาไปแล้ว 57 ครั้ง 400 กว่าชั่วโมง ซึ่งร่างแรกจะต้องทำให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ จากนั้นเดือน พ.ค. สปช. , ครม. และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อพิจารณาเป็นร่างสุดท้าย แล้วเสนอต่อที่ประชุมสปช.อีกครั้งภายในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อให้สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ภายในวันที่ 6 ส.ค.


นายบวรศักดิ์ ชี้แจงว่า การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ยกเว้นการพิจารณาเป็นการภายใน และมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานก่อนพิจารณาลงไปในเนื้อหาแต่ละมาตรา ถ้ามีความเห็นต่างก็จะพิจารณาหลักการก่อน ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญยึดหลักเจตนารมณ์ 4 หลัก คือ 1.สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมคุณธรรมและ 4.นำชาติสู่สันติสุข 

ส่วนที่มาวุฒิสมาชิก (ส.ว.) นั้น กมธ.ยกร่างฯ ไม่ต้องการให้ ส.ว.เป็นกระจกส่อง ส.ส.อีกแล้ว เพราะในปี 2549 ส.ว.200 คน มี 47 คนที่เป็นเครือญาติของส.ส. ซึ่งการเลือกตั้งส.ว.ครั้งแรกไม่มีปัญหา เพราะพรรคการเมืองตั้งตัวไม่ได้ แต่พอเขาตั้งตัวได้ ก็มีการแบ่งพื้นที่กันเรียบร้อย ดังนั้นไม่ต้องการให้ส.ว.เป็นกระจกเงาส.ส. เราจึงต้องทำให้ส.ว.เป็นพหุนิยมของพลเมืองที่หลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับส.ส. ซึ่งสภาที่เป็นพหุนิยม ไม่ใช่ลากตั้ง คำว่าลากตั้งเป็นภาษาของสื่อบางฉบับที่ดูถูกการเลือกตั้ง

ดังนั้นปัจจุบันส.ว.จึงต้องมาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งนั้นสำคัญน้อยกว่าบทบาทหน้าที่


นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเลือกตั้งส.ส.นั้นระบบเลือกตั้งเดิมทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้คะแนนนิยมเกินกว่าที่ประชาชนให้จริง เราจึงสร้างสมดุลในความนิยม โดยใช้ระบบสัดส่วนผสมกับเขต ซึ่งวัดคะแนนได้จากทั่วประเทศ เราจึงต้องกำหนด ส.ส. 470 ที่นั่ง การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ซึ่งเอื้อต่อการปรองดอง ทำให้เกิดการพูดคุยของพรรคการเมือง ไม่คิดว่าข้าใหญ่คนเดียว เพราะที่ผ่านมาเมื่อพรรคใหญ่เป็นรัฐบาล แล้วเกิดการไม่พอใจ พรรคเล็กก็ออกมาบนท้องถนน หรือถ้าพรรคเล็กเป็นรัฐบาล พรรคใหญ่ก็ออกมาบนท้องถนนเช่นกัน ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 9 ปีแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เกิดความสมดุลของพรรคการเมือง

........


ล้อมกรอบใส่ภาพ- คำนูณ สิทธิสมาน

เปิดกรอบยกร่าง"บทเฉพาะกาล"
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ. ระบุเมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ว่า กมธ.ได้พิจารณาผ่านพ้นไปแล้วประมาณ 10 กว่ามาตรา โดยก่อนที่จะมาแถลงข่าว ที่ประชุมพิจารณาผ่านไปแล้วประมาณ 9 มาตรา ทั้งนี้บทเฉพาะกาลนั้นจะเริ่มตั้งแต่มาตรา 304 ซึ่งจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญจะมีทั้งสิ้นประมาณ 315 มาตรา โดยมาตรา 304 นั้นจะเป็นการรับรองสถานภาพของคณะองคมนตรี มาตรา 305 เป็นการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งจะเป็นเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 293 ของรัฐธรรมนูญปี 2550
ขณะที่มาตรา 306 ที่ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างฯ สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเลือกตั้งถัดไปครั้งแรก และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปีนับแต่พ้นตำแหน่งนั้น ที่ประชุมจะมีการพิจารณากันในวันที่ 6 มี.ค.


นายคำนูณ กล่าวอีกว่า มาตรา 307 จะเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ที่สำคัญ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 295 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 308 จะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกและบัญญัติให้มีกระบวนการให้ได้มาซึ่งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นครั้งแรกขึ้น


ส่วนมาตรา 309 จะเป็นการรับรองคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 298 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 310 จะเป็นการรองรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการป.ป.ช. และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 299, 300 และ 301 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 และมาตรา 311 ที่จะเป็นการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน


"เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะเร่งส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้กับสนช. โดยสนช.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับร่างจากกรรมาธิการยกร่างฯ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาภายใน 30 วันว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องดำเนินการเลือกตั้งส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 180 วันจึงจะมีส.ส.ชุดใหม่ ขณะที่ส.ว.ชุดใหม่จะใช้เวลาประมาณ 240 วัน"


โดยในวันที่ 6 มี.ค.กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ อาทิ มาตรา 306 ที่กำหนดให้สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้ามกรรมาธิการยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี