จีเอ็มลด'พนักงาน-รุ่นรถ' ไม่กระทบอุตฯยานยนต์ไทย

จีเอ็มลด'พนักงาน-รุ่นรถ' ไม่กระทบอุตฯยานยนต์ไทย

สมาคมอุตฯยานยนต์ไทย ยันแผนการลดพนักงาน จีเอ็ม 30% เป็นเพียงนโยบายภายใน ไม่สะท้อนภาพรวมอุตสาหกรรม

 แม้อยู่ในภาวะถดถอย เศรษฐกิจฉุดกำลังซื้อคาดไตรมาสแรกไม่ฟื้น ชี้ทุกค่ายต้องอดทน รอผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ


หลังจากที่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศแผนกลยุทธ์การพลิกโฉมธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมทั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ และศูนย์การผลิตฯในจังหวัดระยอง อย่างเป็นทางการเมื่อ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยแผนการสำคัญคือ โครงการพนักงานลาออกโดยสมัครใจ (Voluntary Separation Program) โดยมีเป้าหมาย 30% สำหรับ ข้อกำหนดและเงื่อนไข ที่จีเอ็มเสนอให้พนักงาน ผู้ที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการต้องยื่นความจำนงเข้าโครงการสมัครใจลาออกตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ถึงวันที่ 12 มี.ค. เวลา16.00น.


แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้งพนักงานในส่วนสำนักงาน (salaried) และระดับปฏิบัติการ (hourly) จะได้รับเงินช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.เงินช่วยเหลือสามัญ จำนวนเดือนตามระยะเวลาของอายุงานโดยคำนวณจากฐานเงินเดือน ทั้งนี้พนักงานที่ทำงานที่โรงงานระยอง จะคำนวณจากฐานเงินเดือน รวมกับค่าทำงานต่างจังหวัด สำหรับอัตราให้เงินช่วยเหลือ มีรายละเอียดตั้งแต่ อายุงาน ไม่ครบ1 ปี ได้เงินช่วยเหลือสามัญ1 เดือน ไปจนถึงสูงสุดอายุงานครบ10 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือ 10 เดือน


ส่วนที่สองได้แก่ เงินช่วยเหลือพิเศษแบ่งออกเป็น2 ส่วนคือเงินเดือน 1 เดือน (คำนวณจากฐานเงินเดือน สำหรับพนักงานโรงงานระยองจะบวกค่าทำงานต่างจังหวัดด้วย และเงินโบนัสแบบไม่คงที่ประจำไตรมาส 1 รวม 1.125 เดือนบวก 11,250 บาท ทั้งนี้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 31 มี.ค.
ยันไม่สะท้อนภาพรวมอุตฯยานยนต์


ด้านนายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า การลดจำนวนพนักงานของจีเอ็มไม่ได้สะท้อนความถดถอยของอุตสาหกรรม เพราะหากอุตสาหกรรมถดถอยต้องมีหลายค่ายเลิกจ้าง แต่กรณีจีเอ็มเห็นว่าเป็นนโยบายภายใน รวมถึงผลกระทบจากการที่ตลาดรถยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นสภาพที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ จะต้องอดทน เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นกลับขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม


“เราคาดหวังว่าช่วงครึ่งปีหลัง การที่ภาครัฐมีการเบิกจ่ายและเดินหน้าโครงการต่างๆ จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดรถยนต์ฟื้นตัว ซึ่งทุกค่ายก็รอลุ้นว่าจะเป็นไปอย่างที่คาดหวังหรือไม่ สำหรับในปีนี้ตลาดในประเทศโดยรวมแล้วคาดว่าจะมียอดขายราว 9.5 แสนคัน และหากครึ่งปีหลังมีปัจจัยบวก ค่ายรถนั้นพยายามจะผลักดันให้ได้1ล้านคัน” นายธนวัฒน์ กล่าว


สำหรับแผนการปรับโครงสร้างองค์กรของจีเอ็ม ประเทศไทย เป็นไปตามนโยบายของจีเอ็มที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่ง และเห็นว่าตลาดในบางพื้นที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จึงต้องปรับให้มีความเหมาะสมทั้งในด้านของสินค้า พนักงาน และการดำเนินการ


ปรับโครงสร้างเพิ่มความแข็งแกร่ง
โดยในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา จีเอ็มประกาศและดำเนินการแผนแล้วในหลายพื้นที่ เช่น เดือน ธ.ค.2556 จีเอ็มโฮลเด้น ประกาศเปลี่ยนเป็นบริษัทจัดจำหน่ายในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และเตรียมหยุดสายการผลิตในออสเตรเลียภายในปี 2560 หลังจากเศรษฐกิจออสเตรเลียไม่ดีนัก และต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ยากต่อการแข่งขัน และไม่เพียงแค่จีเอ็มเท่านั้น แต่ค่ายรถอีกหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็นฟอร์ด มิตซูบิชิ หรือ โตโยต้า ก็ประกาศเตรียมหยุดการผลิตในออสเตรเลียเช่นกัน


ขณะที่ 26 ก.พ.ปีนี้ จีเอ็มประกาศยุติการผลิตรถยนต์เอ็มพีวีขนาดเล็ก รุ่นสปิน ในโรงงาน เบงกาซี ประเทศอินโดนีเซีย และจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการเป็นแค่บริษัทจัดจำหน่ายเท่านั้น


ในส่วนของประเทศไทย การประกาศลดจำนวนพนักงานลง เป็นผลมาจากการลดสินค้า รวมถึงการยกเลิกโครงการใหม่ที่มีแผนลงทุน ก็คือ การเข้าร่วมโครงการอีโค คาร์ เฟส 2 ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุดจีเอ็มได้ยื่นแสดงความจำนงขอยกเลิกการเข้าร่วมกับบีโอไอแล้ว ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องใช้พนักงานในจำนวนเท่าเดิม


ทั้งนี้โครงการอีโค คาร์ เฟส 2 ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ เนื่องจากข้อกำหนดของภาครัฐบังคับให้ต้องดำเนินการผลิตให้ได้ 1 แสนคัน ภายในปีที่ 4 ขณะที่ยอดจำหน่ายของจีเอ็มรวมทุกรุ่นในไทยปี 2557 ที่ผ่านมาทำได้ 25,799 คัน ลดลง 54% จากปี 2556


ในส่วนการลดจำนวนสินค้านั้น จีเอ็มจะยุติการทำตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก รุ่น โซนิค และเอ็มพีวี รุ่นสปิน ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย โดยจะเน้นทำตลาดรถกลุ่มปิกอัพและเอสยูวีเป็นหลัก ประกอบด้วย โคโลราโด, เทรลเบลเซอร์ และ แคปติวา ขณะที่รถยนต์นั่งจะเหลือรุ่นเดียวคือ ครูซ ซึ่งปัจจุบันรถยนต์กลุ่มนี้มียอดขายรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 75% ของเชฟโรเลตในประเทศไทย และคิดเป็นสัดส่วน 95% ที่มีการส่งออกจากโรงงานไทย


เร่งดำเนินการช่วงตลาดซบเซา
ก่อนหน้านี้จีเอ็มได้ออกแถลงการณ์ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรในประเทศไทยและส่วนหนึ่งของแผนการพลิกโฉมธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยนายทิม ซิมเมอร์แมน ประธานกรรมการ จีเอ็ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า บริษัท ต้องเร่งดำเนินการพลิกโฉมธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งความต้องการของตลาดในประเทศอยู่ในภาวะซบเซา ด้วยการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และปรับการทำงานขององค์กรให้ดีขึ้นเพื่อเดินหน้าสู่การเติบโตในอนาคต


เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความแข็งแกร่งของแบรนด์เชฟโรเลตในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีเอ็มจะปรับเปลี่ยนกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อทิศทางของตลาดและความต้องการของลูกค้า
ขณะที่นายมาร์คอส เพอร์ตี กรรมการผู้จัดการ จีเอ็ม ประเทศไทย และเชฟโรเลต เซลส์ประเทศไทย กล่าวว่านอกการพลิกโฉมธุรกิจไม่สามารถทำได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่บริษัทจะมุ่งให้การช่วยเหลือพนักงานที่อาจได้รับผลกระทบ