สำนักงานสถิติแจงภาคกลางแชมป์ว่างงาน

สำนักงานสถิติแจงภาคกลางแชมป์ว่างงาน

สำนักงานสถิติแจงครม.ตัวเลขว่างงานเดือนม.ค.2858 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีผู้ว่างงานทั่วประเทศกว่า 4 แสนคน พบภาคกลางมีอยู่ถึง 1.4 แสนคน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานภาวะการทำงานของประชากร โดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีครัวเรือนที่เป็นตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือนต่อเดือน คิดเป็นจำนวนประชากรที่เป็นตัวอย่างทั้งสิ้นประมาณ 97,860 คน

สำหรับเดือนม.ค. 2558 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงาน มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน จาก 3.61 แสนคน เป็น 4.04 แสนคน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนธ.ค. 2557 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.84 แสนคน

ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีทั้งสิ้น 38.01 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.36 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.04 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 2.47 แสนคน
ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 4.2 แสนคน ส่วนผู้งานทำ 37.36 ล้านคน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 4.3 แสนคน หรือลดลง 1.1% โดยมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต 3.5 แสนคน สาขาการก่อสร้าง 1.0 แสนคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 4.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 3 หมื่นคน

ส่วนผู้ที่ทำงานลดลง ได้แก่ ผู้ทำงานสาขาภาคเกษตรกรรม 4.8 แสนคน สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 4.2 แสนคน สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 7.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย 6 หมื่นคน สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 5 หมื่นคน

สำหรับผู้ว่างงานทั่วประเทศ 4.04 แสนคน คิดเป็น 1.1% ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.64 แสนคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.40 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคบริการและการค้า 1.19 แสนคน ภาคการผลิต 7.8 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 4.3 หมื่นคน

โดยผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา 1.44 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 9.5 หมื่นคน ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 6.6 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอีก 4.9 หมื่นคน

ส่วนผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 1.41 แสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.7 หมื่นคน ภาคเหนือ 6.2 หมื่นคน กรุงเทพฯ 5.8 หมื่นคน และภาคใต้ 5.6 หมื่นคน