วธ.เผยโบราณวัตถุ6ชิ้น ประเมินค่ามิได้

วธ.เผยโบราณวัตถุ6ชิ้น ประเมินค่ามิได้

วธ.เผยโบราณวัตถุ 6 ชิ้นประเมินค่ามิได้ ด้านกรมศิลปากร เพิ่มมาตรการดูแลพิพิธภัณฑ์ฯ 44 แห่งในไทย

จากกรณีโจรบุกพิพิธภัณฑ์ห้องจีน ภายในพระราชวังฟงแตนโบล ใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้โบราณวัตถุสำคัญไปหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือพระมหามงกุฎ เครื่องมงคลราชบรรณาการ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3แห่งฝรั่งเศส โดยทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้รายงานว่าโบราณวัตถุของทางพิพิธภัณฑ์ห้องจีนหายไปถึง 20 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นเครื่องมงคลบรรณาการจากไทย 6 ชิ้น ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงทำจากญี่ปุ่น พระคนโฑ พระแสงกรรไกร 1 พระแสงกรรไกร 2 และ พาน ซึ่งกล้องวงจรปิดในพิพิธภัณฑ์ห้องจีน ได้เผยให้เห็นหัวขโมยมีถึง 2 คน และทางการฝรั่งเศสได้เร่งไล่ล่า พร้อมประสานตำรวจสากลป้องกันไม่ให้โบราณวัตถุที่ถูกขโมยเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สรุปรายงานโบราณวัตถุของทางพิพิธภัณฑ์ห้องจีนหายไปถึง 20 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นเครื่องมงคลบรรณาการจากไทย 6 ชิ้น ยังไม่มีรายงานว่ามีเครื่องมงคลบรรณาการชิ้นใดหายไปอีก อย่างไรก็ตาม จะติดตามเรื่องดังกล่าวเป็นระยะ เพราะทราบดีว่าประชาชนทั้งชาวไทยและชาวฝรั่งเศสรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าจะมีการติดตามนำโบราณวัตถุทั้งหมดคืนมา โดยทางพิพิธภัณฑ์ห้องจีนดังกล่าวมีข้อมูลรูปพรรณสัญฐานของโบราณวัตถุแต่ละชิ้นชัดเจน

“เครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี 2404 มีจำนวนทั้ง 34 ชิ้นนั้นล้วนแต่มีมูลค่าและคุณค่า ทุกชิ้นมีความสำคัญหมด การที่คนร้ายได้เลือกโจรกรรมไป 6 ชิ้น คือ พระมหามงกุฎ พระแสงทำจากญี่ปุ่น พระคนโฑ พระแสงกรรไกร 1 พระแสงกรรไกร 2 และ พาน อาจจะมองเห็นว่ามีราคามากกว่าชิ้นอื่นๆ ในส่วนของการประเมินราคาโบราณวัตถุทั้งหมดนั้น ทราบข้อมูลว่าเคยมีการประเมินหลังจากที่พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี 2404 ไปอีก 4 ปี คือปี 2408 ทางพระราชวังฟงแตนโบลได้มีการประเมินทรัพย์สินในพระราชวังทั้งหมด ก็ปรากฏว่าทรัพย์สินศิลปวัตถุที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีมูลค่ามากที่สุดในพระราชวัง และสิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือ พระมหามงกุฎ ที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานไป ซึ่งครั้งนั้นประเมินมูลค่าได้สูงถึง 70,000 ฟรังก์ สมัยยุคนั้นถือว่าเป็นมูลค่ามหาศาล มาถึงสมัยนี้จึงกล่าวได้ว่าประเมินค่ามิได้”นายวีระ กล่าว

รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์โจรกรรมโบราณวัตถุในฝรั่งเศสครั้งนี้ ทำให้ วธ. ต้องมาตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยทั้ง 44 แห่ง โดยทางนายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร ได้รายงานมาว่าได้สั่งการให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่ละแห่งเพิ่มมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากจะติดกล้องวงจรปิดแล้วต้องตรวจสอบด้วยว่ากล้องแต่ละตัวใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ กำชับบุคลากร เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ให้ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักพิมพ์สยามเรอเนสซองส์ให้แปลหนังสือ LE SIAM A FONTAINEBLEAU,L’AMBASSADE DU 27 JUIN 1861 มาเป็นภาษาไทยในชื่อ “ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล คณะราชทูตสยาม 27 มิถุนายน ค.ศ.1861” ที่ว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามกับฝรั่งเศส รวมทั้งยังทำเป็นบัญชีรายการพร้อมภาพและข้อมูลของเครื่องมงคลราชบรรณาการ กล่าวว่า เครื่องมงคลราชบรรณาการของสยามที่มีค่าสูงและสวยงามมาก เป็นเพราะทุกชิ้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง สำหรับการส่งให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสด้วยช่างฝีมือดีชั้นสูงของราชสำนักสยาม ยกตัวอย่าง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องการตอบแทนพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ซึ่งมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นประถมาภรณ์ หรือชั้นนักบุญมหากางเขนในปี 2406

ผศ.ดร.ปรีดี กล่าวต่อไปว่า สำหรับช้อน ส้อม และมีดทองคำมีด้ามประดับเพชร ที่สร้างมาเฉพาะกิจ เช่นกัน เพราะยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 สยามประเทศยังไม่นิยมทานข้าวด้วยช้อนส้อม รวมทั้งรัดพระองค์กรองทอง ที่นำเอาทองคำมารีดเป็นเส้นบางๆ ก่อนที่จะนำมาทอเป็นเข็มขัดประดับเพชรและมรกตขนาดใหญ่ ยังความโปรดปรานในเครื่องมงคลราชบรรณาการจากสยามของพระนางเออเชนีมี ดังปรากฏใจความบันทึกใน “จดหมายเหตุของพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค)”ว่า “...แอมเปรศพระมเหษีนั้นตรัสภาษาอังกฤษ แล้วเสด็จเลยไปทอดพระเนตรเครื่องมงคลราชบรรณาการ รับสั่งว่าฝีมือช่างไทยทำสิ่งลงยาลายสลักประดับเพ็ชร์ประดับพลอยงามกว่าของในประเทศอื่น...”

ทั้งนี้ ในหนังสือ “ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล คณะราชทูตสยาม 27 มิถุนายน ค.ศ.1861” ได้ตีพิมพ์ภาพทองคำและเครื่องเพชรพรอยอันวิจิตร : เครื่องมงคลราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้อย่างละเอียด โดยมีภาพของพระมหามงกุฎ พระแสงทำจากญี่ปุ่น พระคนโฑ พระแสงกรรไกร 1 พระแสงกรรไกร 2 และ พาน รวมอยู่ด้วย แต่ภาพของพานนั้นทาง ผศ.ดร.ปรีดี กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุลักษณะได้ว่าเป็นชิ้นไหน เนื่องจากมีพานปรากฏอยู่หลายพาน ต้องรอข้อมูลจากทางฝรั่งเศสให้แน่ชัดกว่านี้