กมธ.ยกร่างรธน.เผยรธน.ใหม่มี315ม.

กมธ.ยกร่างรธน.เผยรธน.ใหม่มี315ม.

กมธ.ยกร่างรธน.เผยรธน.ใหม่มี 315 ม. มีส.ส.ใน 6 เดือน-ส.ว. 8 เดือน แจงข้อเสนอแม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค 2 ปีแขวนไว้รอพิจารณา 6 มี.ค.

เมื่อเวลา 15.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างฯ บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประมาณ 10 กว่ามาตรา โดยก่อนที่ตนจะมาแถลงข่าวนั้นที่ประชุมพิจารณาผ่านไปแล้วประมาณ 9 มาตรา ทั้งนี้บทเฉพาะกาลนั้นจะเริ่มตั้งแต่มาตรา 304 ซึ่งจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญจะมีทั้งสิ้นประมาณ 315 มาตรา โดยมาตรา 304 นั้นจะเป็นการรับรองสถานภาพของคณะองคมนตรี มาตรา 305 เป็นการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ของสนช. ซึ่งจะเป็นเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 293 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่มาตรา 306 ที่ให้สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯ สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเลือกตั้งถัดไปครั้งแรก และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปีนับแต่พ้นตำแหน่งนั้น ที่ประชุมจะมีการพิจารณากันในวันที่ 6 มี.ค.

  

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า มาตรา 307 จะเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ที่สำคัญ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 295 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 308 จะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกและบัญญัติให้มีกระบวนการให้ได้มาซึ่งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นครั้งแรกขึ้น มาตรา 309 จะเป็นการรับรองครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 298 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 310 จะเป็นการรองรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการป.ป.ช. และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับมาตรา 299 300 และ 301 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 และมาตรา 311 ที่จะเป็นการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ขณะนี้เหลือที่ยังค้างพิจารณาอีก 2-3 มาตรา และประเด็นที่รอการพิจารณาอีก 2-3 ประเด็น ซึ่งจะนำมาประชุมในวันที่ 6 มี.ค.เป็นการภายใน

  

“เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะเร่งส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้กับสนช. โดยสนช.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับร่างจากกรรมาธิการยกร่างฯ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาภายใน 30 วันว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องดำเนินการเลือกตั้งส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 180 วันจึงจะมีส.ส.ชุดใหม่ ขณะที่ส.ว.ชุดใหม่จะใช้เวลาประมาณ 240 วัน อย่างไรก็ตาม หากสนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทันกำหนด ให้ถือเสมือนว่าสนช.ได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว”โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว

  

ผู้สื่อข่าวถามว่า การระบุว่าจะได้ส.ส.ชุดใหม่ภายใน 180 วันหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้นั้น มีการคำนวณถึงเวลาการทำประชามติไว้ด้วยหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ได้คำนวณว่าต้องทำประชามติหรือไม่ แต่คิดจากวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 6 มี.ค.กรรมาธิการยกร่างฯ จะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ อาทิ มาตรา 306 ที่กำหนดให้สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี2557 สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้ามกรรมาธิการยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี 

   

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอของนายเจษฏ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างฯ ที่เสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีนั้น จะนำไปหารือในที่ประชุมวันพรุ่งนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในการประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเลย รวมทั้งจะพูดคุยถึงเรื่องการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วด้วย อาทิ กรรมาธิการยกร่างฯ ที่จะต้องอยู่เพื่อผลักดันกลไกการปฏิรูปประเทศ สนช.ที่โดยหลักการแล้วควรจะอยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐสภาชุดใหม่เข้ามา และครม.ที่ต้องอยู่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่