แนะรับมือภัยแล้ง ต้องระวัง'น้ำเค็มรุก'

แนะรับมือภัยแล้ง ต้องระวัง'น้ำเค็มรุก'

(รายงาน) แนะรับมือภัยแล้ง ต้องระวัง"น้ำเค็มรุก"

ในการรับมือกับ "ภัยแล้ง" ของรัฐบาลชี้นี้ กำลังเข้าสู่มาตรการระยะที่ 2 คือ โครงการสร้างรายได้และการพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะเร่งด่วนโดยจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศ เพื่อเกษตรกรรม


อย่างไรก็ดี ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนนั้นยังสร้างปัญหาให้กับอีกหลายพื้นที่ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเล ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐมบางส่วนกำลังประสบปัญหา "น้ำทะเลหนุน" ผ่านทางแม่น้ำเข้ามา สาเหตุมาจากไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงมายังตอนล่างเพื่อผลักดันน้ำทะเล


นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตรองประธานคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บอกว่า ที่ผ่านมาการระบายน้ำลงไปตามแม่น้ำก็น้อยลง น้ำเค็มก็ดันขึ้นมาสูง ซึ่งเป็นกับทุกแม่น้ำ อันนี้เป็นภัยธรรมชาติกับแม่น้ำรอบอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และเพชรบุรี


เขาอธิบายว่า ปัญหาน้ำเค็ม ความเค็มจะเข้าไปอยู่ในเนื้อดิน และพื้นที่ตอนในเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญของวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของคนพื้นที่นี้ เพราะสวนผลไม้ในพื้นที่ลุ่มท้ายน้ำ เช่น สมุทรสาคร นครปฐม เป็นพื้นที่ที่มีน้ำกร่อย ทำให้ผลไม้รสชาติดี แต่ถ้าน้ำเค็มเข้าไปขังอยู่เป็นเวลานาน ผลไม้ก็เสียหาย เช่น เขตติดต่อราชบุรี กับ แม่กลอง เป็นแหล่งสวนผักใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นผลผลิตในรอยต่อที่อ่อนไหวง่ายในย่านดำเนินสะดวก


จุดที่เขากังวลนั้น คือ จุดปลายคลองที่แยกจากแม่น้ำไกลออกไปจากแม่น้ำ เพราะด้วยระยะทางที่ไกล รวมทั้งแรงของน้ำ เมื่อเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำเช่นนี้ เวลากรมชลประทานปล่อยน้ำก็จะปล่อยลงแม่น้ำสายหลัก คลองสาขาอยู่ซ้ายขวา ตลอดแม่น้ำ เวลาน้ำเค็มขึ้นจะดันจากด้านล่างขึ้นมา ท้ายน้ำจึงเป็นเรื่องผลักกันไปมา
"เมื่อเกิดวิกฤติแล้งครั้งนี้ เราจะพบการแก้ปัญหา เพราะขณะนี้ ประเทศไทยกำลังใช้น้ำต้นทุนของปี 2557 อยู่ ถ้าปีนี้ฝนดีก็ดีไป แต่ถ้าแล้งซ้ำก็จะได้บทเรียน"


เขาบอกว่า รัฐบาลสั่งให้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลองงดการทำนาปรังไปก่อน ส่วนผลกระทบที่ได้รับก็คือ "การประปาท้องถิ่น" เพราะมีการสูบน้ำไปใช้โดยตรง ในช่วงนี้ต้องมีการป้องกันในลุ่มแม่น้ำแม่กลองว่าอย่าให้มีน้ำเสีย เพราะน้ำที่จะใช้ในการดันน้ำเค็มมีน้อยกว่าทุกปี ต้องประหยัด


เขาบอกอีกว่า ตอนนี้ลุ่มบางปะกงน้ำเค็มรุกไป 40 กว่ากิโลเมตรแล้ว ภาพรวมของแม่น้ำในปัจจุบันก็มีความตื้นเขิน เพราะไม่ได้ใช้แม่น้ำในการสัญจร ต้องการสื่อสารกับราชการเพื่อดูความเป็นไปได้ในการผลักดันน้ำเค็ม แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะน้ำมีจำกัด ไม่สามารถกระจายน้ำไปได้ทั่วถึง จึงต้องช่วยกันให้ข้อมูลในการเตรียมพร้อม เพราะน้ำเค็มจะสูงกว่าน้ำจืด และมีการขึ้นลงอย่างรวดเร็ว


"ที่จริงขณะนี้ยังไม่ถือว่าสาหัส แต่กันไว้ก่อนดีกว่า เพราะเคยมีบทเรียน และบางพื้นที่สั่งการให้ไปสำรวจพื้นที่ที่มีปัญหา แต่สั่งการช่วงบ่ายแล้วให้มารายงานผลตอนเช้าวันถัดไปทำให้รายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง"
สำหรับความสำคัญของการเกษตรของพื้นที่ในอิทธิพลน้ำกร่อย-น้ำเค็ม นายสุรจิต อธิบายว่า ในพื้นที่ท้ายน้ำเป็นการทำการเกษตรกันตามระบบน้ำ ในพื้นที่ตอนในก็ปลูกพืชที่อยู่ได้ทั้ง 2 น้ำ เช่น มะพร้าว อย่างพื้นที่รอบนอก ก็เป็นบ่อเกลือ นากุ้ง ซึ่งเป็นตัวอย่างการจัดการปัญหา


ส่วนตอนบนที่ติดราชบุรีก็เป็นสวนผลไม้ ซึ่งเป็นพืชที่น้ำจืด ความอ่อนไหวก็จะมีมากกว่า เพราะฉะนั้นในช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่จะจัดการเก็บข้อมูลเพื่อส่งไปให้ฝ่ายบริหารจัดการน้ำ


นายสุรจิต แนะว่า ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยในเรื่องทีมตรวจสอบ เพราะเครื่องตรวจวัดมีราคาแพง ชาวบ้านใช้วีธีการสังเกตจากธรรมชาติ แต่ยังต้องการผลที่แม่นยำเพื่อส่งไปที่เขื่อน


สำหรับแนวคิดที่หลายฝ่ายกำลังรออยู่ว่า เมื่อไรจะเกิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน นายสุรจิต เห็นว่า ทุกวันนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบยังให้ความสำคัญไม่พอ ถ้าให้ความสำคัญจริงๆ ต้องมีคณะกรรมการที่เทียบเท่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออย่างน้อยต้องไปฝังตัวอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และจะต้องเป็นหน่วยงานเหนือกระทรวง


ส่วนการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำนั้น นายสุรจิต เสนอว่า มีข้อเสนอการจัดสรรน้ำจากภาคประชาชนแล้ว โดยที่การจัดสรรทรัพยากรน้ำแต่เดิมนั้น มีเพียง 4 ประเภท คือ 1.น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 2.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 3.เพื่อการเกษตร และ4.เพื่อกิจกรรมอื่นๆ จึงมีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การจัดการบริหารน้ำจากภาคประชาชน โดยปรับปรุงให้มีการจัดการน้ำเพิ่มอีก 2 ประเภท คือ น้ำเพื่อเกษตรปศุสัตว์รายใหญ่ และน้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ทุกชนิด


ทั้ง 2 ประเภทนี้ต้องขออนุญาตก่อน และจะต้องทำรายงานประกอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องไม่ใช่แค่การตรวจสอบอย่างที่ผ่านมา แต่ต้องเข้มข้นและมากกว่าระดับการตรวจสอบและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งหมด