ราคาสินค้าเกษตรขยับขึ้น แต่อยู่ระดับต่ำยาวถึงปีหน้า

ราคาสินค้าเกษตรขยับขึ้น แต่อยู่ระดับต่ำยาวถึงปีหน้า

(รายงาน) ราคาสินค้าเกษตรขยับขึ้น แต่อยู่ระดับต่ำยาวถึงปีหน้า

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานราคาสินค้าเกษตรสำคัญของไทยในเดือนม.ค. 2558 และแนวโน้มทั้งปี แม้ว่าราคาขยับขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่คาดว่ายังทรงตัวในระดับต่ำต่อไปถึงปีหน้า 

ราคาสินค้าเกษตรเดือนม.ค. 2558

ราคาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญของไทยยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ได้แก่ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศเช่นเดียวกับราคายางพาราเพิ่มขึ้นจากผลของโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง (BufferFunds) ของภาครัฐ 

ขณะเดียวกันที่ราคาผลปาล์มทะลายและราคาน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงตามฤดูกาลและราคากุ้งขาวเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลงจากการชะลอการเลี้ยงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา 

สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลงได้แก่ ราคามันสำปะหลังที่ปรับตัวลดลงจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาอ้อยที่ลดลงตามคุณภาพอ้อยจากปัญหาภัยแล้งในปีก่อน และมีทิศทางเดียวกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ

ราคาสินค้าเกษตรหลักและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ได้แก่ (1) ราคายางพาราในตลาดล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.3% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น (2) ราคาน้ำมันปาล์มดิบอ้างอิงในตลาดมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 4.7% จากผลผลิตน้ำมันปาล์มที่ลดลงมากโดยเฉพาะผลผลิตจากมาเลเซียที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเดือนธ.ค. 2557 (3) ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดล่วงหน้านิวยอร์กปรับเพิ่มขึ้น 1.2% จากมาตรการระยะสั้นในการกระตุ้นการผลิตเอทานอลมากกว่าผลิตน้ำตาลของบราซิลโดยการเก็บภาษีน้ำมันเชื อเพลิงเพิ่มขึ้น

ผลผลิตในประเทศส่วนใหญ่ลดลงจากเดือนก่อน ตามผลผลิตของข้าวเปลือกนาปีและนาปรัง ที่ออกสู่ตลาดลดลงตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่ยางพาราเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูยางผลัดใบซึ่งค่อนข้างมาเร็วกว่าปีก่อน 

สำหรับปาล์มน้ำมันเกิดจากสภาพอากาศแห้งแล้งกระทบต่อปริมาณผลผลิต เช่นเดียวกับผลผลิตกุ้งขาวลดลงตามการเพาะเลี้ยงที่ลดลงในช่วงปลายปีในขณะที่หัวมันสำปะหลัง และอ้อยยังคงออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล

ความต้องการจากตลาดต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากความต้องการข้าวไทยที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาส่งออกอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เช่นเดียวกับความต้องการยางพาราและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดจีน ในขณะที่ความต้องการน้ำมันปาล์มลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มของไทยสูงกว่าราคาในตลาดโลก เช่นเดียวกับความต้องการกุ้งขาวลดลงโดยเฉพาะในตลาดหลักสหรัฐอเมริกาเนื่องจากสต็อกอยู่ในระดับสูง 

ส่วนความต้องการน้ำตาล คาดว่าลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลและสต็อกน้ำตาลโลกอยู่ในระดับสูง

แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรไทยปี 2558

ข้าวเปลือก

รายงาน EIU เดือนม.ค. 2558 คาดว่าราคาข้าวเปลือกภายในประเทศจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ตามปริมาณการค้าข้าวโลกที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน สำหรับผลผลิตภายในประเทศคาดว่าลดลงตามปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังปีการผลิต 2557/58 จากการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการปลูกข้าว เนื่องจากน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางการจะทยอยระบายข้าวในสต็อกที่มีอยู่มากซึ่งถือเป็นแรงกดดันสำคัญต่อราคาข้าวไทย

ยาง

ในระยะสั้น คาดว่าราคายางจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันจากการซื้อยางของภาครัฐ ประกอบกับจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูยางผลัดใบ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับแนวโน้มราคายางปี 2558 คาดว่าจะสูงกว่าปี 2557 โดยอยู่ในช่วง 60 - 70 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากมาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง และความร่วมมือของภาคเอกชนและผู้ผลิตยางรายใหญ่ 3 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จะส่งผลต่อราคายางชัดเจนขึ้นประกอบกับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น 

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลง และผลผลิตยางโลกที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากปี 2557

ปาล์มน้ำมัน

ราคาปาล์มน้ำมันในช่วงต้นปีจะเร่งตัวข้ำน เนื่องจากผลกระทบจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งมาตั้งแต่กลางปี 2557 ประกอบกับความต้องการใช้ในประเทศมีต่อเนื่อง ทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มลดลง ราคาจะขยับลงในไตรมาสที่ 2 จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีปริมาณมากขึ้นโดยคาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะใกล้เคียงกับปีก่อนอยู่ในช่วง 4.5-5.0 บาทต่อกิโลกรัม จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน

มันสำปะหลัง

ราคามีทิศทางที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2557 แม้ว่าผลผลิตรวมจะเพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและการเพิ่มพื้นที่เก็บเกี่ยวในหลายจังหวัด รวมถึงมีการพัฒนาและขยายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น 

แต่หลายฝ่ายต่างก็คาดว่าความต้องการใช้ทั้งภายในและส่งออกต่างประเทศจะมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 40.1 ล้านตัน โดยสัดส่วนการใช้มันสำปะหลังภายในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น35% ทั้งในหมวดอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ที่มีปริมาณการใช้เพิ่มสูงขึ้นวันละกว่า 3.0 ล้านลิตร หลังจากมีมาตรการยกเลิกการใช้เบนซิน 91 ทำให้สัดส่วนการส่งออกลดลงจาก 70% เหลือ 65% เช่นเดียวกับความต้องการของต่างประเทศที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน บวกกับภัยแล้งในประเทศที่หลายหน่วยงานกังวลว่าอาจจะส่งผลรุนแรงและการแพร่ระบาดของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรครากหรือหัวมันเน่า รวมถึงความผันผวนของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่จะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยด้านบวกให้กับราคามันสำปะหลัง

น้ำตาล

จากการประเมินล่าสุดของ Economist Intelligence Unit (EIU) ราคาน้ำตาลโลกปี 2558 เฉลี่ยที่ 16.98 เซนต์ต่อปอนด์ ใกล้เคียงปี 2557 ที่เฉลี่ย 17.01 เซนต์ต่อปอนด์ เป็นผลจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง 

ปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำตาลในปี 2558 ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากนัก ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ค่อนข้างผันผวนส่งผลต่อราคาขายเอทานอล ทำให้ผู้ผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยหันมาผลิตน้ำตาลมากขึ้น (2) ค่าเงินดอลลาร์ผันผวน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินของประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลที่อ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อความสามารถในการส่งออก (3) องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization:ISO) คาดว่าสต็อกน้ำตาลโลกปี 2557/58 ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ราคาน้ำตาลโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำต่อไป

กุ้งขาว

ปี 2558 ราคากุ้งขาวไทยขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม คาดว่าอยู่ในช่วง 180-200 บาทต่อกิโลกรัมตามผลผลิตที่คาดว่าจะปรับดีขึ้น หลังจากเกษตรกรมีแนวทางแก้ไขปัญหาโรคตายด่วนทำให้กุ้ง มีอัตรารอดเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันผลผลิตจากประเทศผู้ผลิตอื่นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากประเด็นการค้ามนุษย์ที่สหรัฐอเมริกาลดอันดับไทยเป็น Tier 3 และการถูกตัดสิทธิ์ GSP ในสหภาพยุโรป