กางสาธารณะ ณ ริมน้ำ

แบบร่างริมน้ำยานนาวาในฝันที่เปลี่ยนผืนดินอันทรุดโทรมสู่ “พื้นที่สาธารณะ” โฉมใหม่ของคนเมือง

            ปฏิบัติการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นหลายจุด โดยเฉพาะตามย่านที่มีการกีดขวางทางเท้า แม้จะบอกว่า เป็นความหวังดีที่ออกมา “ทวงคืน” ความเป็นสาธารณะให้ประชาชน แต่ก็ทำให้ประชาชนอย่างผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต้องโยกย้ายที่ ผู้สัญจรต้องขาดแคลนโรงอาหารจนมีเสียงบ่นไล่หลัง

            หลายอย่างดูเหมือนจะยังไม่ลงตัว เพราะขาดการจัดการที่ดี เวลานี้การพัฒนาหลายพื้นที่โดย “ออกแบบ” ให้เกิดการใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดกับทุกฝ่ายจึงถูกยกขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญ

            อย่างพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ไม่ได้ถูกมองว่า เกิดการรุกล้ำที่สาธารณะจนต้องรีบออกมาเคลียร์เหมือนที่อื่น แต่สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ไม่ต่างกัน

            การขาดการจัดการแบบรอบด้านมานาน ทำให้พื้นที่ริมน้ำ ไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านริมน้ำ ผู้สัญจรไปมา หรือผู้ที่ทำธุรกิจย่านนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะทวงคืนพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาให้กลับมามีคุณค่าเหมือนก่อน

 

ริมน้ำที่หายไป

          จากการศึกษาพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งทางซ้ายและขวา บริเวณสะพานกรุงธน-สะพานกรุงเทพ โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) พบว่า พื้นที่ทั้งหมดมีความยาวรวมกันประมาณ 24 กิโลเมตร แต่มีพื้นสาธารณะที่ใครก็เข้าไปใช้ได้เพียง 3.5 กิโลเมตร หรือประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนพื้นที่กึ่งสาธารณะก็มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

            นอกจากนี้ คนริมน้ำในย่านสะพานปลา (บริเวณยานนาวา) จำนวน 1 ใน 5 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ กลับไม่รู้ว่ามีพื้นที่ริมน้ำอยู่ ทั้งที่ยืนอยู่ห่างจากแม่น้ำไป 200 เมตร เนื่องมาจากไม่ได้ใช้เป็นเวลานาน และอีกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ รู้ว่ามี แต่ก็แค่ครึ่งหนึ่งที่ออกไปใช้ประโยชน์ เพราะเข้าถึงยาก สกปรก และเปลี่ยว ซึ่งอาจเป็นคำตอบได้ดีว่า ทำไมย่านนี้ถึงไม่พัฒนาเท่าที่ควร

            “พื้นที่ริมน้ำสาธารณะของเราถือว่า น้อย ลักษณะริมน้ำของไทยไม่เหมือนกับที่ตะวันตกหรือญี่ปุ่นที่จะมีที่ promenade ริมน้ำ แต่ของเราเป็นที่ตั้งของบ้านเรือน ที่ของเราแบนและสูงกว่าระดับน้ำทะเลนิดเดียว ถ้าจะพัฒนาให้เป็นแบบนั้นเลยมันยาก” ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)อธิบาย

            ย่านริมน้ำเจ้าพระยาที่สำคัญ ก็หนีไม่พ้น ย่านยานนาวา ถนนเจริญกรุง ที่เป็นจุดที่เกิดการสัญจรแบบไม่ขาดสาย เพราะนอกจากหลายวัฒนธรรมที่เข้ามาจนละแวกนี้มีผู้คนนานาชาติผสมผสานกับวัฒนธรรมของกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ ตั้งแต่บ้านทวาย (บริเวณวัดยานนาวา) บ้านลาว (บริเวณวัดสุทธิวนาราม) ไปจนถึงแขกมลายูและยะวา อีกมุมหนึ่ง บริเวณนี้ก็เป็นพื้นที่คมนาคมที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายจุดเดียวของกรุงเทพฯ ใน “ระบบรถ-ราง-เรือ” ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสินและท่าเรือสาทร ซึ่งมีคนผ่านไปมาบริเวณนี้จำนวนถึง 30,000 คนต่อวัน ด้วยเหตุนี้ ย่านยานนาวาจึงถูกเลือกให้เกิดการเปลี่ยนเป็น “พื้นที่แห่งชีวิตเมือง”

            ผศ.ดร.นิรมล กล่าวต่อว่า ย่านยานนาวาที่อยู่ในเจ้าพระยาส่วนล่างเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ทั้งเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเศรษฐกิจสีลม-สาทร ย่านธุรกิจและโรงเรียน จึงเหมาะแก่การปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะ

            “ผู้คนสัญจรไปมาระหว่างวันมีจำนวนมากรวมไปถึงกลุ่มชุมชนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ผลที่ตามมาทำให้ชีวิตของคนเมืองมีบ้านช่องเล็กลงย่านที่อยู่อาศัยก็มีความหนาแน่นสูง แต่สัดส่วนพื้นที่โล่งต่อคนต่ำมาก ความต้องการที่จะมีพื้นที่ให้หายใจหายคอแบบสาธารณะที่มีคุณภาพย่อมมีความต้องการเพิ่มเติมขึ้นมา” ผศ.ดร.นิรมล กล่าวในเวทีรับฟังความคิดเห็น โครงการริมน้ำยานนาวา (Yannawa Riverfront)

 

ริมน้ำยานนาวาโฉมใหม่

          บนพื้นที่ 128 ไร่ จากบริเวณถนนเจริญกรุงฝั่งตะวันตก ตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานตากสินมาจนถึงบริเวณที่ตั้งโครงการชาเทรียมกำลังเกิดการร่วมมือกันแบบบูรณาการทั้งการออกแบบภูมิทัศน์ การออกแบบพื้นที่อเนกประสงค์ ให้เข้ากับระบบวิศวกรรมการกั้นน้ำ เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเมืองแบบที่ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ โดยเปิดโอกาสให้หลากหลายเสียงจากชาวบ้านที่มีพื้นที่ริมน้ำยานนาวาได้เข้ามามีบทบาทแสดงความเห็นถึงพื้นที่ในฝันของพวกเขา

            “พื้นที่โครงการที่จะทำมีความยาว 1.2 กิโลเมตร กว้าง 200-300 เมตร กว่าร้อยละ 85 มีเจ้าของที่ดินรายใหญ่เป็นภาครัฐและก็วัด จำนวน 6 เจ้า และก็รายย่อยอีกประมาณ 140 เจ้า แน่นอนเจ้าของที่ดินรายใหญ่เป็นภาครัฐนั้น แปลได้ว่าเรื่องของความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะและการตอบแทนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ จะสามารถหาจุดสมดุลได้” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

            ยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการ บริษัทฉมา จำกัด ผู้รับหน้าที่ออกแบบ เผยถึงบทบาทของทีมงานว่า งานนี้ไม่ได้ออกแบบเอง แต่เป็นการแปลความต้องการหรือความฝันที่อยากจะมีพื้นที่ริมน้ำร่วมกันออกมาเป็นภาพจริงมากกว่า

            “นอกจากพื้นที่ 1.2 กิโลเมตรแล้ว สิ่งสำคัญคือการเปิดการเชื่อมต่อจากบริเวณถนนเจริญกรุงเข้าไปในพื้นที่ริมน้ำจำนวน 5 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 คือบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานตากสิน จุดที่ 2 เป็นทางเดินเลียบคลองยานนาวา ผ่านเข้ามาบริเวณวัดยานนาวา จุดถัดมา บริเวณซอยเจริญกรุง 58 บริเวณพื้นที่องค์การสะพานปลา ถัดไป จุดที่ 4 ซอยเจริญกรุง 72 สุดท้ายคือทางเรียบคลองกรวย ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างโครงการฯ กับโรงแรมชาเทรียม”

            การออกแบบแต่ละพื้นที่จะเน้นการพัฒนาพื้นที่ให้มีความเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนในย่าน การสร้างจุดจอดรถประจำทางที่สามารถวนรถเข้ามาจอดในพื้นที่แทนที่จะจอดอยู่ด้านหน้าถนนเจริญกรุง รวมไปถึงจุดเปลี่ยนถ่ายวินมอเตอร์ไซค์ รถเมล์แดง และรถแท็กซี่ กิจกรรมสวนสาธารณะก็จะมีตั้งแต่กิจกรรมทางการกีฬา เช่น สนามฟุตซอล สนามบาส มีสนามเด็กเล่น ทางจักรยานที่สามารถขี่สวนกันได้ และทางเดินริมน้ำ

            ส่วนบริเวณวัดยานนาวาจะมีการสร้างพระอุโบสถและพระมหาเจดีย์หลังใหม่ โดยใช้บันไดค่อยๆ ถ่ายระดับลงไปที่บริเวณริมน้ำหน้าวัดให้สามารถรับเทศกาลลอยกระทงได้อย่างเต็มที่

            ใกล้ๆ กัน ในส่วนของอู่ต่อเรือกรุงเทพฯ จะมีส่วนที่เก็บไว้เพื่อใช้ในแง่ของการซ่อมบำรุงเรือ และอีกส่วนอาจจะแปลงเป็นอาคารหรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เกี่ยวกับอู่ต่อเรือหรือระบบนิเวศชายน้ำ

            “ขณะเดียวกัน เราก็ลดความคับคั่งของการที่คนจะมาอยู่บริเวณนั้นโดยไม่ให้มีที่นั่ง เพื่อให้คนสัญจรไปได้โดยเร็ว มีกระบะต้นไม้เพื่อให้ร่มเงากับคนเดินผ่านไปมา และช่วยพรางสายตาไม่ให้มองเห็นเข้าไปข้างในบ้านของผู้ที่อยู่ริมน้ำ ในภาพรวมเราไม่ได้ทำแค่ทางเดินริมน้ำแต่เราทำพื้นที่สาธารณะริมน้ำเพื่อการนันทนาการ เพื่อการเรียนรู้และการรักษาระบบนิเวศของเมืองให้ยั่งยืนและเป็นที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกคนในสังคม” ยศพล ผู้รับหน้าที่ออกแบบอธิบาย

            ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเริ่มสร้างในเดือนตุลาคมปี 2559 และมีการยืนยันว่า ชาวบ้านไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกทุบทิ้ง เพราะจะไม่มีการเวนคืนที่ดินแน่นอน

            สุดศิริ วงศ์ศรีเวช ชาวบ้านที่อยู่ใกล้บริเวณโรงแรม ยินดีมากที่มีโครงการฯ นี้ เพราะจะทำให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน

            “บ้านเราอยู่ใกล้โรงเรียน แรกๆ เขาก็ให้เดิน มีมุมเลี้ยงปลา เราก็ไปซื้อขนมมาเลี้ยง แต่ตอนหลังเขาไล่ บอกว่าคุณไม่ใช่ลูกค้าโรงแรม ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ริมแม่น้ำแท้ๆ แต่ไม่สามารถเข้ามาชมบรรยากาศที่ดีหรือว่าเช้าตื่นขึ้นมาวิ่งออกกำลังกายก็ไม่ได้ ถ้ามีแบบนี้ คือทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ต้องอุตส่าห์ไปถึงสวนลุมฯ ก็เดินมาได้ ไม่ต้องเสียค่ารถค่าน้ำมัน ประมาณ 200 เมตรก็ถึงแล้ว”

 

สร้างและเชื่อมต่อ “ระบบ”

          การดำเนินโครงการฯ ได้เริ่มจากนำเจ้าของที่ดินทั้งรายใหญ่รายย่อยมานั่งคุยเพื่อแชร์ “แผนพัฒนา” ร่วมกัน และได้ความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ประมาณ 60 คน เช่น น้องๆ ที่อยู่ในโรงเรียนโดยรอบ กลุ่มมัคคุเทศก์ตัวจิ๋ว เครือข่ายคนพิการ ร่วมด้วย ซึ่ง ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในทีมงานยอมรับว่า การผลักดันให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเป็นเรื่อง “เหนื่อย” แต่ก็จะทำให้ “ยั่งยืน” ได้ โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องคำนึงถึงเรื่องการบริหารจัดการ

            “ไม่ใช่ว่าเปิดมาสวยวันแรก ตัดริบบิ้นหลังจากนั้นแล้วยังไงต่อ ใครดูแลบริหารจัดการ ความสะอาด ความปลอดภัยต่างๆ และต้องมีความสอดคล้องกิจกรรมการใช้ที่ดิน ทั้งเจ้าของดินที่เองด้วยและก็ในระดับสเกลของผังเมือง ต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องได้มาตรฐานสากล คำนึงถึงสาธารณะประโยชน์และสภาพแวดล้อม เข้าถึงสะดวก ที่สุดแล้ว คือ ส่งเสริมภูมิทัศน์ของริมแม่น้ำ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของการออกแบบ”

            อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่สาธารณะที่จะเกิดใหม่นี้ แม้ กทม.จะเป็นคนจัดการเรื่องการดูแลความสะอาด หรือความสงบแล้ว แต่อีกส่วนก็ต้องมาจากระบบการช่วยเหลือกันของคนที่มาใช้บริการและตัวชุมชนเอง จุดนี้กลายเป็นความกังวลใจเล็กๆ ของ ปทิตตา อรณิชนันท์ ชาวบ้านที่อยู่บริเวณยานนาวา

            “ก่อนที่จะมาฟังก็ห่วงไปหมด ไม่อยากให้มีโครงการฯ นี้ รู้สึกว่าตัวเองจะเสียประโยชน์ เพราะทำให้ความสงบ หรือความเป็นส่วนตัวหายไป สภาพแวดล้อมก็แย่ขึ้น แต่พอได้มาฟังแล้วก็เห็นด้วยที่จะมี แต่ยังห่วงเรื่องความสะอาด กลัวขยะจะมาบดบังทัศนียภาพ แม้ว่าจะมีรัฐคอยดูแลก็ตาม ขึ้นชื่อว่าคนไทยเป็นยังไงก็รู้กันอยู่ กินตรงไหนทิ้งตรงนั้น ต้องรอดูกันต่อไป” ชาวบ้านย่านยานนาวาบอก

            อีกด้านหนึ่ง นอกจากการบริหารจัดการพื้นที่แล้ว ยรรยง บุญหลง นักวิจัยด้าน Urban Planning มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เห็นว่า พื้นที่ใหม่ตรงนี้ถ้ามีการสร้างระบบที่เชื่อมให้เกิดการคมนาคมแบบคำนวณเวลาที่แน่นอนได้ ก็จะเกิดการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย

            “บริเวณริมน้ำยานนาวา จะมีการขนส่งทางน้ำมาเกี่ยวข้อง มีจุดตัดของบีทีเอสกับน้ำ ในอนาคตอาจจะทำบีอาร์ทีได้ด้วย เพราะมันจะวางสถานีตรงไหนก็ได้ คล้ายๆ ระบบขนส่งราง แต่ถูกกว่าเยอะ แค่เอารถเมล์มาวางกรวย แต่เครือข่ายต้องใหญ่ ต้องเชื่อมการเดินทางเข้าด้วยกัน แล้วที่ยานนาวาเป็นเครือข่ายที่มีทั้งการขนส่งคน การขนส่งของ ถ้ามีเวลาที่เวลาแน่นอนมันก็ช่วยธุรกิจได้ ช่วยเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศได้”

            การเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เพอร์เฟ็คแบบที่ญี่ปุ่นที่สามารถเปลี่ยนเส้นทางการคมนาคมได้ทันที แต่ยรรยงมองว่า เป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจในระดับที่เล็กลงมาด้วย

            “การเป็นจุดตัดที่ใหญ่ มันจะทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะอยู่ด้วย จากเรือมาขึ้นราง แล้วมันก็ไม่ได้ถึงขนาดที่ว่า ลงปั๊บแล้วขึ้นต่อได้เลย อาจจะต้องเดินประมาณร้อย สองร้อยเมตร ตอนเดินมันอาจจะค้าขายของได้ มันก็ทำให้เกิดเศรษฐกิจ กระจายรายได้ได้” ยรรยงอธิบาย และบอกว่า หากมีการจัดการอย่างเป็นระบบ การค้าขายที่เกิดขึ้นก็ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาหาบเร่แผงลอย

            ด้าน ผศ.ดร.นิรมล เสริมว่า จากการทำเวิร์คช็อปถึงภาพอนาคตกรุงเทพในเขตชั้นใน มีหลายคนวาดภาพไว้ว่า วันข้างหน้าอยากจะมีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยอาจสร้างแรงจูงใจให้เอกชนบริจาคที่ดินเพิ่มขึ้น เปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วนที่ไม่ใช้ประโยชน์หรือเปลี่ยนพื้นที่รกร้างที่เห็นโดยทั่วไปให้มีชีวิตชีวาขึ้น

            “ถ้าทำพื้นที่ริมน้ำยานนาวาสำเร็จ  ภาพพื้นที่สาธารณะก็จะปรากฏในสายตาของคนกรุงเทพฯ” ผศ.ดร.นิรมลบอก

            พื้นที่ริมน้ำยานนาวาในฝันจะกลายเป็นจริง ภายในปี 2560 นี้ ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่แค่ที่นี่ที่เดียว เพราะแนวคิดการออกแบบเมืองที่ใช้พื้นที่สาธารณะกำลังขยายมากขึ้น

            ถึงเวลานั้น เราคงไม่ได้ยินข่าวไล่ที่เคลียร์ทางเพราะการจัดการไม่ดีแล้วก็ได้