ผุดหลักสูตรแพทย์แผนไทย ติวเข้มหมอ

ผุดหลักสูตรแพทย์แผนไทย ติวเข้มหมอ

กรมแพทย์แผนไทยฯเปิดหลักสูตร “นวส.พท.” ติวเข้มหมอเพิ่มทักษะการแพทย์แผนไทย-การแพทย์ผสมผสาน

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯกำลังเปิดโครงการพัฒนานักวิชาการระดับสูงด้านการแพทย์แผนไทย(นวส.พท.) สำหรับแพทย์แบบมีส่วนร่วมรุ่นที่ 1 ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่ให้นำการแพทย์แผนไทยผสมผสานเข้ากับระบบบริการสุขภาพของประเทศ ซึ่งปัจจุบันสถานบริการของสธ.ให้บริการการแพทย์แผนไทยเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับการบริการทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ยังน้อยมาก สาเหตุสำคัญนอกจากการขาดแคลนบุคลากรที่ให้บริการด้านนี้โดยตรงแล้ว แพทย์ผู้ให้บริการหลักส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดทักษะ และประสบการณ์ในการบริการด้านการแพทย์แผนไทย และไม่ยอมรับที่จะให้บริการด้านนี้

“ในแต่ละปีสธ.จะมีแพทย์ผู้ให้บริการเกษียณอายุราชการจำนวนมาก ซึ่งเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ สธ.จึงเล็งเห็นว่าควรสนับสนุนและให้โอกาสแพทย์เหล่านั้น ในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยการจัดโครงการ นวส.พท.ขึ้น เพื่อให้แพทย์ที่เกษียณและแพทย์ทั่วไปที่มีความสนใจ ได้เตรียมความพร้อมที่จะนำความรู้และทักษะใหม่ๆไปประยุกต์ใช้ในการทำเวชปฏิบัติต่อไป ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อพัฒนาบุคลากรการแพทย์ให้มีความรู้และทักษะด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานให้บุคลากรแพทย์สามารถนำความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยไปประยุกต์ใช้ในการประกอบการทำเวชปฎิบัติการดูแลสุขภาพประชาชนได้ โดยจะเปิดรับสมัครแพทย์ผู้สนใจทั้งสิ้นจำนวน 40 คน และจะใช้ระยะเวลาในการอบรมทั้งสิ้น 30 วัน”นพ.ธวัชชัยกล่าว

นพ.ธวัชชัย กล่าวด้วยว่า จากการเข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณา ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ในการทำร่างหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2558 ชื่อร่างหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์และหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ 9 ประการ ได้แก่ 1.มีความรู้ความสามารถ และทักษะพื้นฐานทางวิชาชีพ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล 2.สามารถบูรณาการณ์ความรู้จากโมเลกุล ยีนส์สู่เซลล์ อวัยวะและร่างกายเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยและรักษาโรค 3.มีความรู้เชิงวิจัย 4.มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติต่อวิชาชีพและสังคม 5.คิดอย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์ มีการตัดสินใจทางคลินิกอย่างมีเหตุผล โดยใช้เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ และใช้ยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างเหมาะสม 6.มีเจตคติต่อระบบสุขภาพชุมชนที่หลากหลาย 7.มีการติดต่อสื่อสารที่ดีกับผู้ป่วยและครอบครัว 8. มีทักษะด้านภาษาอังกฤษดี และ9.มีศิลปะการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม

“ หลักสูตรระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต ควบคู่หลักสูตรระดับปริญญาตรีแพทยศาสตรบัณฑิต จะใช้ระยะเวลาในการเรียนทั้งสิ้น 7 ปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างหลักสูตรดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอการอนุมัติจากแพทยสภาเท่านั้น ก็สามารถประกาศรับสมัครนักศึกษาได้เลยภายในปี 2559-2560 นับว่าเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจ”นพ.ธวัชชัยกล่าว