ไฮเน็คนำทัพไมเนอร์บุกโลก ดันอนันตราสู่โกลบอลแบรนด์

ไฮเน็คนำทัพไมเนอร์บุกโลก ดันอนันตราสู่โกลบอลแบรนด์

(รายงาน) “ไมเนอร์มองการเติบโตทั่วโลก เวลานี้ถือว่าเหมาะที่จะลงทุนในยุโรป เพราะเงินยูโรอ่อนค่า ทำให้ซื้อสินทรัพย์ได้ราคาถูกลง”

ในบรรดานักลงทุน และบริษัทรับบริหารโรงแรมจากไทยในปัจจุบัน “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” นับว่าผงาดขึ้นมาเป็น “เบอร์หนึ่ง” หากเทียบจากจำนวนโรงแรมในเครือ ที่มีอยู่ถึง 119 แห่งเมื่อสิ้นสุดปี 2557 ผ่านไป 2 เดือนแรกของปี 2558 จำนวนโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็น 126 โรงแรม และยังวาดแผนว่า ภายในปี 2562 จะมีโรงแรมในเครือกว่า 190 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ


“วิลเลียม อี. ไฮเน็ค” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดใจถึงแผนธุรกิจกับสื่อ โดยระบุว่า ภายใต้แผนดังกล่าว ไมเนอร์ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ทั้งในและต่างประเทศ เท่ากันที่ 50:50 โดยแนวโน้มการเติบโตเป็นไปได้ด้วยดี ปัจจุบันบริษัทยังขยายธุรกิจโรงแรมสู่ภูมิภาคใหม่ๆ ต่อเนื่อง ตามแผนการก้าวขึ้นเป็นบริษัทโรงแรม “ระดับโลก” ที่สามารถแข่งขันทัดเทียมกับเชนใหญ่อย่าง สตาร์วูด, ฮิลตัน ฯลฯ


ล่าสุด เข้ายึดหัวหาดไปตั้งสำนักงานในโปรตุเกส และ บราซิล ก้าวแรกของการรุกธุรกิจโรงแรมในยุโรปและสหรัฐ โดยเข้าไปลงทุนซื้อกิจการโรงแรมทิโวลี มูลค่า 6,600 ล้านบาท ถือเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง 4 แห่งในโปรตุเกส และ 2 แห่งในบราซิล รวมกว่า 1,600 ห้อง ทำให้ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมในเครือไมเนอร์สยายปีกครอบคลุมทั้งในเอเชียแปซิฟิค ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และสหรัฐ
รวมการลงทุนทั้งหมดกว่า 22 ประเทศ กว่า 16,000 ห้อง


โดยกลยุทธ์การสร้างองค์กรสู่ความแข็งแกร่ง “ไฮเน็ค” ย้ำว่า จะให้ความสำคัญกับบทบาทการเป็นทั้ง “นักลงทุน” ทั้งในแบบเป็นเจ้าของกิจการเองทั้งหมด, การเข้าร่วมทุน และบทบาทการ “รับบริหารจัดการ” จากความเชื่อมั่นว่า การเติบโตด้วยการลงทุนเอง จะทำให้ประสบความสำเร็จ “ได้ดีกว่า” การมุ่งรับบริหารเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า “นักลงทุนต้องการอะไร”


“เรามองการเติบโตไปทั่วโลก โดยปีนี้หลังจากที่ซื้อกิจการโรงแรมในโปรตุเกส อาจจะเห็นการขยับขยายไปยังยุโรปมากขึ้น เพราะช่วงเวลานี้ถือเป็นจังหวะเหมาะสมในการลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะค่าเงินยูโรที่อ่อนตัวลงจากปัญหาเศรษฐกิจของเขา ทำให้ซื้อสินทรัพย์ได้ในราคาที่ถูกลง ขณะที่ภาวะท่องเที่ยวในยุโรปไม่ได้ซบเซา ในทางตรงกันข้ามคนยุโรปจะใช้จ่ายเพื่อเดินทางในภูมิภาคสูงขึ้น ขณะเดียวกันนักเดินทางจากสหรัฐ ก็จะแห่เข้ามาในยุโรป เพราะดอลลาร์แข็งค่า ทำให้ได้เปรียบเรื่องการใช้จ่ายเมื่อมายุโรป”


ทั้งนี้ ในการรายงานผลประกอบการล่าสุด ไมเนอร์คาดการณ์ว่าปีนี้ จะมีสัดส่วนโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองทั้งหมด 5,056 ห้อง เพิ่มขึ้นถึง 84% ส่วนโรงแรมที่เข้าไปร่วมทุนมีทั้งสิ้น 2,484 ห้อง เติบโต 95% ส่วนโรงแรมที่รับบริหารมีทั้งสิ้น 4,153 ห้อง เติบโต 20% และโรงแรมภายใต้แบรนด์โอคส์ ซึ่งเป็นเครือข่ายในออสเตรเลีย มีจำนวน 6,855 ห้อง ขยายตัว 10%


ดังนั้น จึงเตรียมงบสำรองสำหรับการขยายกิจการเพิ่มเติมเป็นเงินราว 2.6 หมื่นล้านบาท เพื่อ “ต่อยอด” แผนการขึ้นเป็นบริษัทด้านธุรกิจโรงแรมระดับโลก โดยเชื่อว่า


หลังจากการปิดดีลโรงแรมทิโลวีล่าสุดในยุโรปและสหรัฐ ปีนี้จะเห็นการลงทุนและรับบริหารใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการผลักดันแบรนด์ “อนันตรา” ซึ่งไมเนอร์เป็นเจ้าของและปลุกปั้นมากว่า 15 ปีให้ผงาดสู่การเป็น “โกลบอลแบรนด์” ทัดเทียมกับโรงแรมชั้นนำระดับ 5 ดาวระดับโลก


ล่าสุดได้ปรับโรงแรม โฟร์ซีซันส์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีอายุมากว่า 32 ปีมาสวมแบรนด์ อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ พร้อมกับทุ่มงบประมาณปรับโฉมห้องพักและร้านอาหารราว 620 ล้านบาท ซึ่งทยอยดำเนินการในปีนี้ แต่จะไม่ปิดกิจการให้กระทบกระเทือนฐานลูกค้าเดิม


ไฮเน็ค ยังกล่าวถึงการรีแบรนด์ครั้งนี้ว่า ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากหมดสัญญากับโฟร์ซีซันส์ ขณะที่การสั่งสมประสบการณ์บริหารของอนันตรา ถือว่ามีศักยภาพมากพอที่จะเข้ามา “รับช่วงต่อ” จากปัจจุบันแบรนด์อนันตรามีอยู่ 34 แห่งในกว่า 10 ประเทศ


โดยจะเป็น “แบรนด์เรือธง” นำการเติบโตสูงสุดให้กับไมเนอร์ในระยะยาว


“ไฮเน็ค” ยังเผยว่า ไมเนอร์ตั้งเป้าเบื้องต้นไว้ว่า ในอีก 3 ปี จะมีโอกาสนำแบรนด์อนันตราขยายได้อีก “ไม่ต่ำกว่า” 50 แห่งทั่วโลก


ส่วนแผนการรีแบรนด์โรงแรมอื่นๆ ในเครือ เขายืนยันว่ายังไม่มีแผน ไม่ว่าจะเป็นอีก 3 โรงแรมที่ยังอยู่ในโฟร์ซีซันส์ หรือกระทั่งโรงแรมอื่นที่ใช้เชนอื่นๆ บริหารอยู่ อาทิ แมริออท เซนต์รีจิส เรดิสัน เพราะยังคงต้องการ “รักษาสมดุล” ระหว่างการใช้แบรนด์ตัวเองและแบรนด์ของบริษัทอื่น โดยหากจะปรับเปลี่ยนในอนาคต จะต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละทำเล


“เรามั่นใจในการนำแบรนด์ของตัวเองเข้าไปจับตลาด โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเป็นอนันตรา เชื่อว่าจะไม่กระทบกระเทือนต่อประสบการณ์ของลูกค้าที่เข้าพัก เพราะทุกแห่งจะยังคงให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่ขณะเดียวกันจะพยายามสร้างผลตอบแทนในเชิงธุรกิจที่ดีขึ้น เช่น การรีแบรนด์โรงแรมเชดี เชียงใหม่ มาอยู่ภายใต้อนันตรา ก็เห็นการปรับตัวในเชิงยอดขายที่ดีขึ้น"


แม้จะมีแผนเชิงรุกในต่างประเทศ ไฮเน็ค ย้ำว่า จะไม่หยุดการลงทุนโรงแรมในไทย เพราะยังมีอีกหลายทำเลที่มีศักยภาพเติบโต โดยเฉพาะหากมองประวัติศาสตร์ประเทศที่ผ่านมาซึ่งเขาได้สัมผัสมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งบริษัทมานานกว่า 40 ปี แม้จะมีเหตุการณ์การเมืองที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องเป็นระลอก แต่ธุรกิจท่องเที่ยวก็สามารถฟื้นตัวกลับมา และครองความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวได้เสมอ


เช่น วิกฤติการเมืองเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง แต่ในขณะนี้ เหตุการณ์คลี่คลาย นักท่องเที่ยวตลาดหลักกลับมาทั้งหมด แต่อาจจะอ่อนตัวไปบ้างสำหรับตลาดรัสเซีย-ยุโรปที่เงินอ่อนค่า จึงอาจประเมินได้ว่า แนวโน้มธุรกิจในไทยปีนี้น่าจะเติบโตกว่าปีก่อน


ทั้งนี้ นอกเหนือจากธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันไมเนอร์ ยังมีอีก 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น โดยธุรกิจร้านอาหาร มีร้านอาหารกว่า 1,500 สาขา ใน 19 ประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้า เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง ฯลฯ


ส่วนธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นจากต่างประเทศ มีแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นและเครื่องสำอาง ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ แก๊ป เอสปรี บอสสินี่ เป็นต้น และธุรกิจรับจ้างผลิตสินค้า ซึ่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคตามสัญญาว่าจ้างผลิต โดยมีโรงงานเป็นของตัวเอง