ส่องเทรนด์ธุรกิจสื่อยุค'คอนเทนท์'ปั้นเงิน

ส่องเทรนด์ธุรกิจสื่อยุค'คอนเทนท์'ปั้นเงิน

ความสำเร็จของ FremantleMedia หนึ่งในผู้ประกอบกิจการคอนเทนท์ระดับโลก เจ้าของลิขสิทธิ์ฟอร์แมทชื่อดัง Got Talent

รายการ “ทาเลนท์โชว์” ที่สามารถจำหน่ายไลเซ่นส์ได้ทั่วโลก ด้วยพลังของ"คอนเทนท์" ดังกล่าว จึงมีคำพูดของ Simon Cowell กล่าวว่า "เพียงแค่หนึ่งไอเดียในแต่ละปี ที่สามารถทำไลเซ่น ฟอร์แมทได้เช่นเดียวกับ Got talent จะเลี้ยงบริษัทไปอีก 20 ปี"  วันนี้จึงยืนยันได้ว่า Content is the new currency

            นพกร ทองมั่น กรรมการผู้จัดการ บริษัทคอนเทนท์ แล็บ จำกัด ธุรกิจโปรดักชั่น เฮ้าท์ ในครือเจเอสแอล โกลบอล มีเดีย กล่าวว่าจากประสบการณ์ในธุรกิจโฆษณาและคอนเทนท์ 20ปี พบว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ 2 ธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่พบว่า"โฆษณาและคอนเทนท์" เริ่มมาบรรจบกันด้วยรูปแบบ Branded Content

          โดยโฆษณาเริ่มมีบทบาทลดลง และ"คอนเทนท์" จะมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้นงบประมาณด้านการสื่อสารทั่วโลกจึงไปในทิศทางเดียวกัน คือ โฆษณาผ่านสื่อต่างๆลดลง ทั้งที่เม็ดเงินโฆษณาขยายตัวทุกปี  มาจากรูปแบบการใช้งบประมาณเปลี่ยนไปจากการซื้อสปอตโฆษณาผ่านสื่อ และกระจายไปสู่วิธีการอื่นๆแทน โดยเฉพาะ Branded Content เป็นยุคที่โฆษณาแบบเดิมๆ เริ่มสิ้นมนต์ขลัง  แต่มีเดีย เอเยนซี ยังต้องมีหน้าที่วางกลยุทธ์ใช้เงินเพื่อสื่อสารแบรนด์ต่อไป จึงหันมาพัฒนากลยุทธ์รูปแบบใหม่ๆ ด้วยการ "ฟอร์แมท คอนเทนท์" ร่วมกับสถานีทีวี

            ยุคแรกของการสร้างสรรค์เนื้อหารายการรูปแบบ Branded Contentในไทย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือความร่วมมือของ "กรุ๊ป เอ็ม" และ "ยูนิลีเวอร์" ในการซื้อลิขสิทธิ์ "ก็อต ทาเลนท์" จาก FremantleMedia มาผลิตเป็น "ไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์" ปีนี้ถือเป็นซีซั่นที่5 จากนั้นเริ่มมีการเจรจาซื้อฟอร์แมท รายการต่างประเทศ มาผลิตป้อนสถานีทีวีต่อเนื่อง เช่น Keep Your Light Shining Thailand , Junior Bake Off Thailand , Junior Master Chef , Hole in the wall , Take Me Out Thailand เป็นต้น ทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวในยุคทีวีดิจิทัล

 

ยุคคอนเทนท์คือ'เงินตรา'

          ความสำเร็จของ "ฟอร์แมท คอนเทนท์" ต่างประเทศในยุคนี้  ยืนยันได้ถึงพลังของคอนเทนท์ว่าได้ก้าวสู่ยุค Content is the new currency

            นพกร กล่าวว่าความสามารถด้านการสร้างสรรค์ของคนไทยโดดเด่นในหลายด้าน ที่ชัดเจนคือ งานโฆษณาที่กวาดรางวัลในเวทีระดับโลก ขณะที่งานด้าน "คอนเทนท์" เป็นศาสตร์ที่ต้องมีโนว์ฮาวหลายด้าน เพื่อสร้างสรรค์ให้สำเร็จ ดังนั้นการพัฒนาฟอร์แมท คอนเทนท์ เพื่อสร้างโอกาสกอบโกยเม็ดเงินในตลาดโลก จะต้องตอบโจทย์ "อินไซต์" ของคนทั่วโลกว่าสนใจเนื้อหาประเภทใด ที่สำคัญต้องทำคอนเทนท์ให้เป็นสากล (Universal)

            จากประสบการณ์การร่วมพัฒนาฟอร์แมท The symptom "เกมหมอ ยอดนักสืบ" ในปี 2554 กับกรุ๊ปเอ็ม ปัจจุบันสามารถขายลิขสิทธิ์ได้หลายประเทศ  เป็นรูปแบบรายการ Meditainment (Medical+Entertainment) รายการแรก ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคน ที่ไม่ต้องการ "เจ็บ ป่วย"  แต่ไม่อยากเสพสาระหนักๆเช่นกัน The symptom จึงนำเสนอด้วยประเด็นที่ดูสนุก สอดแทรกการเรียนรู้ เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยไปพร้อมกัน

            ภายใต้การทำงานในนาม "คอนเทนท์ แล็บ" ในเครือเจเอสแอล ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาฟอร์แมท คอนเทนท์  Martial Warrior เรียลลิตี้โชว์ค้นหาดาราหนังแอ็คชั่นครั้งแรกในเอเชียด้วยเป้าหมายขายลิขสิทธิ์ทั่วโลก ไม่ใช่เพียงการจำหน่ายรายการสำเร็จรูปเท่านั้น เพราะการต่อสัญญาลิขสิทธิ์เพื่อผลิตรายการทุกปี หมายถึงการมีแหล่งรายได้ที่กลับมายังบริษัทโดยไม่มีต้นทุน  ปัจจุบันสามารถขายลิขสิทธิ์มาเชียล วอร์ริเออร์ ให้กับบริษัท Dien Quan Media&Entertainment  ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้เล่นรายสำคัญในตลาดคอนเทนท์และธุรกิจบันเทิงติดท็อปไฟว์ในเวียดนาม เป็นบริษัทสื่อบันเทิงที่เติบโตเร็วแห่งหนึ่งในอาเซียน

            เป้าหมายของคอนเทนท์ แล็บและเจเอสแอล คือการขยายตลาดลิขสิทธิ์ฟอร์แมททั่วอาเซียนในสเต็ปแรก จากนั้นก้าวสู่เอเชียและตลาดโลก  ตอกย้ำสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจฟอร์แมท ไลเซ่นซิ่ง ในยุคว่า "คอนเทนท์คือเงินตรา" 

 

เปิดสูตรปั้นฟอร์แมทบุกโลก

          ประสบการณ์ 20 ปีในธุรกิจโฆษณาและการผลิตรายการทีวี  "โนว์ฮาว" เป็นสิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้เพิ่มเติม หากต้องการสร้างฟอร์มแมท คอนเทนท์ ขายทั่วโลก

            นพกร กล่าวว่าที่ผ่านมาคนไทยไม่สร้างคอนเทนท์ที่เป็น "ฟอร์แมท" แต่ผลิตรายการจากจุดที่เรียกว่า Entertainment value ด้วยเป้าหมายเรทติ้งผู้ชม จึงเริ่มการใช้ "กิมมิค" ที่ถูกใจผู้ชม ด้วยการนำ "มุข" หรือประเด็นที่คนไทยสนใจมาขยายเวลานำเสนอให้ยาวขึ้น ในรูปแบบ "ทอล์กโชว์" เป็นหลัก อีกทั้งรูปแบบงานสร้างสรรค์ (Creativity)รายการ ไม่สอดรับกับรสนิยมคนดูในประเทศอื่นๆ หรือไม่เข้าใจคอนเทนท์ที่นำเสนอ ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนท์เพื่อขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศของไทยยังไม่มากพอ

            ขณะที่ปรัชญาการสร้างฟอร์แมท คอนเทนท์ ของบริษัทกำหนดให้ Entertainment value เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องมี แต่!!จุดเริ่มต้นต้องสร้างคอนเทนท์บนพื้นฐาน "โอกาสทางธุรกิจ" ตอบโจทย์ "กลุ่มเป้าหมาย" หรือฐานผู้ชมวงกว้าง เพื่อทำให้ "สปอนเซอร์"ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และ "สถานีทีวี" ได้ทั้งฐานผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณา "คอนเทนท์ แล็บ" จึงวางตำแหน่งเป็น Commercial&Strategic โปรดักชั่น เฮ้าส์

            หลังจากส่งฟอร์แมท มาเชียล วอร์ริเออร์ ขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศรายการแรก ปีนี้คอนเทนท์ แล็บ ได้พัฒนาอีก 2 ฟอร์มแมทใหม่ คือ  The Hospital  หรือชื่อไทย "เกิด แก่ เจ็บ ฮา" รูปแบบซิทคอมเซ็กเม้นต์ใหม่  White Sitcom เพื่อทำให้ผู้ชมรู้เท่าทันและการปกป้องโรค เพื่อทำให้มีชีวิตยืนยาวและมีความสุข ซึ่งสร้างโครงเรื่องที่มองว่าสามารถขายพล็อตได้ทั่วโลก  

            The Hospital  เริ่มต้นจากมองโอกาสทางธุรกิจว่า "ทุกๆ 1 วินาที จะมีคนทั่วโลก อายุครบ 50 ปี 2 คน ทำให้ทั่วโลกกำลังก้าวสู่สังคม "สูงอายุ" มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อัตราการเกิดต่ำกว่า ดังนั้นจึงเป็นคอนเทนท์ที่ตอบโจทย์ "เจ้าของสถานีทีวี"  ที่จะมีฐานผู้ชมจำนวนมาก มีโอกาสทำเรทติ้งสูง  ขณะที่สปอนเซอร์ มีโอกาสสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง

            อีกฟอร์แมทคือ Dog Talent  หรือชื่อไทย "ด๊อก ทะเล้น"  คิดจากโอกาสทางธุรกิจ ที่เห็นว่าในประเทศไทยมีสัตว์เลี้ยงอยู่กว่า  9.5 ล้านตัว หากประเมินว่า 50% เป็นสุนัข นั่นเท่ากับว่ามีจำนวน 4.5 ล้านตัว หรือ หรือจำนวนครัวเรือนไทย 4.5 ล้านครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัข ดังนั้นการทำคอนเทนท์เกี่ยวกับสุนัขในไทยจึงมีฐานผู้ชมทันที 20 ล้านคน หรือ 1ใน3 ของประชากรประเทศ 

            ทั้ง The Hospital และ Dog Talent  เป็นอีก 2 ฟอร์แมท คอนเทนท์ ที่จะส่งออกไปขายลิขสิทธิ์ทั่วโลก

 

ธุรกิจยุค'ความร่วมมือ'

          ในโลกการค้าเสรี "ความร่วมมือ" ทางธุรกิจเกิดได้ในทุกซีกโลกได้ทุกเวลา

            นพกร กล่าวว่าหากวิเคราะห์จุดแข็งของประเทศไทย เรามี DNA ด้าน Creativity เด่นชัด ขณะที่โครงสร้างอุตสาหกรรมทีวี อาจยังให้ความนิยมกับคอนเทนท์ประเภทใดประเภทหนึ่ง ช่องทางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จึงอาจมีข้อจำกัด  ทิศทางการดำเนินธุรกิจของคอนเทนท์แล็บ จึงมุ่งไปที่ Business Collaboration เปิดกว้างความร่วมมือกับทุกพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

            หลังจากจับมือเป็นพันธมิตรกับ Dien Quan Media&Entertainment เวียดนาม จากจุดเริ่มต้นเป็นลูกค้าซื้อลิขสิทธิ์ฟอร์แมท มาร์เชียล วอร์ริเออร์ แต่สเต็ปต่อไปมีโอกาสขยายความร่วมมือด้วยการพัฒนา "ฟอร์แมท คอนเทนท์" โดยทั้งไทยและเวียดนามจะถือลิขสิทธิ์ร่วมกัน จากนั้นส่งออกทำตลาดโลก เพื่อแชร์ผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต เนื่องจากพันธมิตรเวียดนาม มีศักยภาพในการเป็น  Production base ขณะที่ไทยพร้อมเป็น Creative hub

            จากวิชั่นของเจเอสแอล ที่ต้องการก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ ทิศทางของคอนเทนท์ แล็บจึงกำหนดให้รายได้จากการบริหารธุรกิจในปี 2558-2559 สัดส่วน 70% มาจากต่างประเทศ และปี 2560 ขยับเป็น 90% โดยให้น้ำหนักกับการขายลิขสิทธิ์ฟอร์แมท ที่ถือว่าเป็นธุรกิจ "เสี่ยงน้อย" มีผลตอบแทน"สูง" และในทุกๆ ปี จะต้องสร้างสรรค์ฟอร์แมท คอนเทนท์ใหม่ 3 รายการ

            แนวทางดังกล่าวสอดรับกับตลาดโลก ที่วันนี้ "คอนเทนท์" ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ "เงินตรา" เท่านั้น แต่!! เป็นยุค Content is the new monetization หรือก้าวสู่การเป็นระบบทางการเงินของโลก

            ในยุคนี้คนที่มีไอเดียสร้างคอนเทนท์ หากได้รับความนิยมและมีฐานผู้ชมจำนวนมาก สามารถสร้าง "ระบบทางการเงิน"ขึ้นได้มาได้ทันที เหมือนดังที่ Simon Cowell  พูดว่าไอเดียเพียงหนึ่งไอเดียต่อปี สามารถสร้างรายได้เลี้ยงบริษัทไป 20ปี  นั่นคือการเกิดระบบทางการเงินจากคอนเทนท์ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นเทรนด์ธุรกิจคอนเทนท์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้