ฮือฮา!ลูกไฟปริศนาตกจากท้องฟ้า

ฮือฮา!ลูกไฟปริศนาตกจากท้องฟ้า

ประชาชนแตกตื่นปรากฏการณ์ประหลาด ลูกไฟปริศนาพุ่งตกจากท้องฟ้า โลกออนไลน์แชร์สนั่น "อ.เจษฎา" เผยที่แท้คือแสงวาบจากดาวเทียม

กลายเป็นที่ฮือฮาสะพัดโลกโซเชี่ยลในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงของคืนวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา สำหรับปรากฎการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นบนน่านฟ้าประเทศไทยหลายพื้นที่ โดยเฉพาะคนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่พบเห็นลูกไฟพุ่งตกลงมาจากท้องฟ้าด้วยความเร็วสูง พร้อมทั้งมีแสงจากไฟ ทั้งแบบริบหรี่และลุกโชนตามความเร็วลม ก่อนจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที วูบดับหายไปกับความเงียบและมืดมิดของท้องฟ้า แต่ปรากฎการณ์นี้ มีผู้ที่ถ่ายลูกไฟนี้ไว้ได้โดยบังเอิญหลายจุด จึงคาดว่าน่าจะเป็นลูกไฟลูกเดียวกัน สร้างความแปลกใจและเคลือบแคลงใจให้กับบรรดาเครือข่ายออนไลน์เป็นอย่างมาก ทั้งวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาว่าแท้จริงมันคืออะไรกันแน่ โดยส่วนใหญ่ยังสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นดาวเทียมที่ทำมุมกระทบแสงอาทิตย์ ขณะที่บางรายเชื่อว่า เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ตั้งใจเกิดให้เห็นเพื่อเป็นลางบอกเหตุบางอย่าง ซึ่งคงต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญออกมายืนยันอีกครั้ง

ต่อมาในเช้าวันนี้ (3 มี.ค.) นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ตอบข้อสงสัยดังกล่าวว่า "แสงสว่างบนฟ้า 2 ทุ่มเมิ่อคืน ไม่ใช่ดาวตก ไม่ใช่ยูเอฟโอ แต่เป็นแสงวาบจากดาวเทียมครับ"

นายเจษฎา อธิบายต่อว่า แสงวาบนี้จริงๆ เรียกว่า "อิริเดียมแฟลร์" (Iridium flare) เป็นแสงของดวงอาทิตย์ที่สะท้อน "วาบ" จากดาวเทียมสื่อสารของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ "อิริเดียม" ซึ่งโคจรอยู่รอบโลก 66 ดวง เมื่อคืนเป็นของดวงที่ 30 ซึ่งสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเมื่อไหร่ "อิริเดียมแฟลร์" มักจะเห็นเป็นแสงกะพริบ เคลื่อนที่เป็นเส้นตรง และค่อยๆ สว่างขึ้น แล้ววูบดับไปในเวลาเพียง 2-3 วินาที "อิริเดียมแฟลร์" อาจมีความสว่างมากพอๆ กับความสว่างของดวงจันทร์ครึ่งดวงเลยทีเดียว ขณะที่มันก็มักจะเปลี่ยนแปลงความสว่างได้อย่างรวดเร็ว จากที่มองไม่เห็นกลายเป็นสว่างมากในไม่กี่วินาที อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้จะมีให้เห็นอีกแค่ 10-20 ปีเพราะดาวเทียมพวกนี้จะหมดอายุการใช้งาน

ขณะที่เฟซบุ๊กของสมาคมดาราศาสตร์ไทย อธิบายรายละเอียดว่า "จันทร์, 2 มีนาคม เวลาหัวค่ำ ผู้สังเกตในกรุงเทพฯ มีโอกาสเห็นการสว่างวาบของดาวเทียมอิริเดียม ซึ่งเกิดจากสายอากาศทำมุมสะท้อนแสงอาทิตย์ ดาวเทียมอิริเดียมมีหลายดวง ครั้งนี้เกิดจากดาวเทียมอิริเดียม 30 สว่างที่สุดในเวลาประมาณ 19:53 น. บนท้องฟ้าทิศใต้ มุมเงย 36° (ปรากฏการณ์นี้เห็นได้เฉพาะที่ การสังเกตในสถานที่อื่นนอกจากกรุงเทพฯ ค้นได้จาก www.heavens-above.com)"

***หมายเหตุภาพ เป็นส่วนหนึ่งจากคลิปวีดีโอของสมาชิกเว็บไชต์ Pantip หมายเลข 893830