โครงสร้าง'สมัชชาคุณธรรม' ดึงภาคปชช.ตรวจสอบนักการเมือง

โครงสร้าง'สมัชชาคุณธรรม' ดึงภาคปชช.ตรวจสอบนักการเมือง

(รายงาน) โครงสร้าง "สมัชชาคุณธรรม" ดึงภาคปชช.ตรวจสอบนักการเมือง

การตั้ง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ขึ้นในสังคมการเมืองไทย ถือเป็นประเด็นใหม่ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เขียนบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 เพื่อมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.ที่ทำผิดจริยธรรมร้ายแรง


ขณะเดียวกันในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันนี้ (2 มี.ค.) นอกจากที่ประชุมจะรับทราบรายงานความคืบหน้าของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีวาระการพิจารณารายงานพิจารณาศึกษา เรื่อง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ พิจารณาเสร็จแล้วอีกด้วย
สำหรับสาระสำคัญของรายงานฉบับดังกล่าว เป็นการนำกรอบแนวคิดและหลักการสำคัญของรายงานฉบับแรกเรื่องแนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่เคยรายงานต่อสปช.มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และเพิ่มเติมรายละเอียดตามข้อเสนอแนะ ข้อสังเกต และข้อห่วงใยของสมาชิกสปช.ที่ได้เสนอมา


ทั้งนี้ในรายงานยังระบุว่า แนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลมี 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)


2.ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติพ.ศ.2550 และให้ศูนย์คุณธรรมจัดตั้งตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 มาเป็นองค์กรตามพ.ร.บ.นี้


3.แนวทางสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามกฎหมายขึ้นมาในจังหวะหนึ่งเสียก่อนโดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินกระบวนการรณรงค์ทางสังคม เพื่อฟื้นฟูคุณธรรมจริยธรรม และธรรมภิบาลอย่างกว้างขวางก่อนที่บ้านเมืองจะกลับคืนสูู่สภาวะการเมืองปกติ และต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว หากเห็นว่า สมควรให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญจึงยกฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่อไป


สำหรับขั้นตอนในการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้นมี 3 ขั้นตอนคือ
1.ให้มีพ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. และจัดตั้่งองค์กรขึ้นตามพ.ร.บ.ดังกล่าวชื่อว่า "สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ"


2.ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติพ.ศ.2550 และให้ศูนย์คุณธรรมจัดตั้งตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) พ.ศ.2554


3.กำหนดแหล่งที่มาของทุน รายได้ และทรัพย์สิน สำหรับการดำเนินกิจการตามพ.ร.บ.ประกอบด้วย 1.เงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากศูนย์ 2.เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐจัดสรรให้รายปี 3.เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นทั้งจากต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ หรือเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ 4.รายได้จากการดำเนินงาน และ 5.ดอกผลของเงินหรือสินทรัพย์ตาม(1)-(4)


ขณะที่ในส่วนของโครงสร้างและองค์ประกอบของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้นประกอบด้วย 5 กลไกได้แก่
1.คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวน 5 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลที่เป็นแบบอย่างและได้รับความเชื่อถือว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรม เป็นผูู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเหมาะสม เป็นผู้มีผลงานและจริยวัตรที่ประจักษ์ยึดมั่นทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นที่ยอมรับ


"คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีวาระในการปฏิบัติตามภารกิจ 6 ปี ไม่จำกัดวาระการปฏิบัติหน้าที่"
2.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรรวมของผู้ประกอบพันธกิจด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลประกอบด้วยสมาชิกประจำที่สรรหามาจากกลุ่มผู้แทนเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภาคประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 55 คน


สมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีคุณสมบัติตามคุณลักษณะที่สำคัญ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้สมาชิกต้องมาจากหลากหลายวงการและวิชาชีพ เป็นผู้ทรงปัญญา ได้รับการยกย่องนับถือหรือได้รับรางวัลด้านคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งไม่มีประวัติด่างพร้อยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน


3.ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรม(Forum) เป็นเวทีที่การประชุมใหญ่ของเครือข่ายบุคคลและองค์กรด้านส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลรวมทั้งประกาศเจตนารมณ์การดำเนินการร่วมกันเพื่อสร้างความตื่นตัวของพลเมือง


4.คณะกรรมการบริหารสำนักงาน(Board) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เกิน 11 คน ซึ่งคณะมนตรีฯ เป็นผู้คัดเลือกแต่งตั้ง ให้ทำหน้าที่อำนวยการและดูแลการปฏิบัติการของสำนักงานคุณธรรม


และ 5.สำนักงานคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะมนตรี และสมาชิกสมัชชาคุณธรรมฯ ตามอำนาจหน้าที่ให้เกิดประสิทธิผล รวมทั้งจัดทำข้อมูลข้อเท็จจริงและการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แก่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ


"ทั้งนี้ให้สมัชชาคุณธรรมมีอำนาจในการสอบทานการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคล และธรรมาภิบาลขององค์กรต่างๆ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย"