กำลังซื้อรากหญ้า-ศก.ไม่ฟื้น ไทยเบฟรับฉุด'ยอดขาย'

กำลังซื้อรากหญ้า-ศก.ไม่ฟื้น ไทยเบฟรับฉุด'ยอดขาย'

"ไทยเบฟ" ระบุยอดขายเชิงปริมาณติดลบเกือบยกแผง เหตุเศรษฐกิจ-กำลังซื้อรากหญ้าไม่ฟื้น ลุยเดินหน้าขยายตลาดต่างแดน

ส่ง"โออิชิ" ตั้งบริษัทย่อยบุกเวียดนาม พร้อมแจงผลประกอบการปี 57 รายได้ 1.62 แสนล้าน โต 4 % ทำกำไรกว่า 2.14 หมื่นล้าน โต 12.8 % เหล้าขาวนำโด่งทั้งกำไรและยอดขาย


บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของไทย ในเครือทีซีซี ของ"เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2557 ต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า มีรายได้รวมอยู่ที่ 162,040 ล้านบาท เติบโต 4% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 155,771 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 21,433 ล้านบาท เติบโต 12.8% จากปีก่อนหน้า ที่มีกำไรสุทธิ 19,002 ล้านบาท


นายวิเชฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า ผลประกอบการไทยเบฟปี 2557 ถือว่ายังเติบโต ท่ามกลางปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่
"รายได้โต 4% ถือว่าน่าพอใจ แม้จะไม่ใช่ตัวเลขเติบโตที่มากนัก เพราะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อรากหญ้าในปีที่ผ่านมา ที่ยังไม่มีการใช้จ่ายเท่าที่ควร"


ประกอบกับธุรกิจของไทยเบฟ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ เช่น เสริมสุข ต้องพึ่งพิงช่องทางจำหน่ายที่เป็นร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ มากกว่า 2 แสนจุดทั่วประเทศ


นายวิเชฐ กล่าวว่า การเติบโตดังกล่าว คาดจะไม่ส่งผลกระทบต่อวิชั่น 2020 ของไทยเบฟ เนื่องจากไทยเบฟได้วางยุทธ์ศาสตร์ในการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น บริหารความเสี่ยงจากตลาดในประเทศ


“ยอดขายเติบโตได้ขนาดนี้ ถือว่าค่อนข้างดี เพราะปีที่แล้วเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และกำลังซื้อรากหญ้าก็ยังไม่ฟื้น เกษตรกรมีรายได้ลดลง เพราะไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ส่วนภาพรวมปีนี้จะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจว่าจะมีทิศทางอย่างไร”


ภาคธุรกิจยังมีความหวังว่า รัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเงินดังกล่าวถือมือประชาชนฐานรากหรือรากหญ้า


"เจริญ"ขายเหล้าขาวปีละ "แสนล."
ทั้งนี้ สำหรับยอดขาย หากแบ่งออกเป็นแต่ละกลุ่มสินค้า "ตามมูลค่า" พบว่า "สุราขาว" มียอดขายสูงสุด 104,592 ล้านบาท เติบโต 4.7% จากปีก่อนหน้า ที่มียอดขาย 99,916 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 20,307 ล้านบาท เติบโต 6.4% จากปีก่อนหน้า ที่มีกำไรสุทธิ 19,092 ล้านบาท


"เบียร์" มียอดขาย 35,193 ล้านบาท เติบโต 6.9% จากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 32,935 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 396 ล้านบาท เติบโต 188.6% โดยรายงานแจ้งว่ายอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้น มาจากราคาสินค้า และการปรับขึ้นของภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


"นอนแอลกอฮอล์" ยอดขายลด
ขณะที่ยอดขายสินค้าเครื่องดื่ม "นอนแอลกอฮอล์" อยู่ที่ 15,775 ล้านบาท ลดลง 7.3% จากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 17,018 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 0.3% ที่ 1,469 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าขาดทุน 1,464 ล้านบาท


ทั้งนี้ผลขาดทุน เกิดจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งการตัดค่าเสื่อมต่างๆ


ส่วนสินค้ากลุ่มอาหาร (โออิชิ) มียอดขาย 6,602 ล้านบาท เติบโต 10.5% กำไรสุทธิอยู่ที่ 74 ล้านบาท ลดลง 58% จากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 176 ล้านบาท โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้น มาจากการขยายสาขาของร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น ส่วนกำไรที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากการตัดค่าเสื่อม


ปริมาณขาดทรุดสะท้อนกำลังซื้อ
ในส่วนของยอดขาย "ตามปริมาณ" พบว่าค่อนข้างลดลง โดยสุราขาวมียอดขาย 559 ล้านลิตร ลดลง 0.3% จากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 561 ล้านลิตร, เบียร์ 571 ล้านลิตร ลดลง 2.4% จากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 585 ล้านลิตร


ชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ มียอดขาย 275 ล้านลิตร ลดลง 1.5% โซดา มียอดขาย 26 ล้านลิตร ลดลง 0.7% มีเพียงเสริมสุขยอดขายเพิ่มขึ้น 14.5% เป็น 1,005 ล้านลิตร จากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 879 ล้านลิตร และน้ำดื่ม เติบโต 11.4% อยู่ที่เป็น 206 ล้านลิตร จากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 184 ล้านลิตร
รายได้ธุรกิจต่างประเทศโต 24%


ส่วนรายได้จากธุรกิจต่างประเทศ เติบโต 24% เมื่อแบ่งการเติบโตของสินค้าแต่ละกลุ่ม พบว่าเบียร์ภายใต้แบรนด์ “ช้าง” เติบโตทุกตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน ส่วนตลาดยุโรปเติบโต 40% เนื่องจากฐานยังต่ำ ขณะที่สหรัฐฯเติบโตลดลงเล็กน้อย


ด้านยอดขายสก็อตวิสกี้ โดยเฉพาะแบรนด์หลักๆ เติบโตขึ้นในอัตรา 2 หลัก โดยตลาดเอเชียมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น ส่วนยอดขายสุราขาวในจีน ภายใต้บริษัท ยูนนาน อวี้หลินฉวน ลิเคอร์ จำกัด (YLQ) ยอดขายลดลง 5% จากการบริโภคที่ลดลง ขณะที่สุราขาวไทย ยังมีสัดส่วนการจำหน่ายในต่างประเทศค่อนข้างน้อย แต่อนาคตอยู่ระหว่างมองหาโอกาสการเติบโตในตลาดอาเซียนมากขึ้น


ทั้งนี้ จากผลประกอบการดังกล่าว ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ไทยเบฟตั้งไว้จากแผนการขับเคลื่อนธุรกิจของไทยเบฟในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2558-2563) หรือ “วิชั่น 2020” ที่จะต้องมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 12-15% ต่อปี เพื่อผลักดันให้ยอดขายเติบโต 2 เท่า หรือแตะ 3 แสนล้านบาท


เน้นเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ
โดยวิชั่นดังกล่าว ไทยเบฟจะให้ความสำคัญกับธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วนราว 25% และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 75% และสร้างรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 24%


นอกจากนี้ ไทยเบฟยังวางแผนใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนต่อเนื่องสอดคล้องกับแผนปี 2020
ล่าสุด ได้ส่งบริษัทในเครืออย่าง บมจ. โออิชิ กรุ๊ป ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ด้วยการจดทะเบียนตั้งบริษัทย่อยในเวียดนาม ภายใต้ทุนจดทะเบียน 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ รองรับการขยายธุรกิจในเวียดนาม แผนดังกล่าวจะมุ่งผลักดันน้ำอัดลมแบรนด์ “เอส” ให้ก้าวเป็นหนึ่งในแบรนด์หลัก (core brands) ของตลาดน้ำดำในตลาดอาเซียน