'ฎีกา'สู้คดี-ศาลต้องอนุญาต พลิกโฉมระบบยุติธรรมไทย

'ฎีกา'สู้คดี-ศาลต้องอนุญาต พลิกโฉมระบบยุติธรรมไทย

"คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีใด หากพบว่ามีข้อบกพร่อง คดีนั้นฎีกาได้แน่นอน" ศรีอัมพร ศาลิคุปต์

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา สนช.ได้เห็นชอบรับหลักการในวาระแรก ร่างกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่ง คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับการยื่น “ฎีกาคดี” ต่อศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันการยื่นฎีกาสู้คดีของประชาชนที่มีคดีนั้น เป็น "สิทธิ" ซึ่งเมื่อเป็น “สิทธิ” ก็มีการมองว่าทำให้ประชาชนสามารถฎีกาคดีได้ง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนผู้มีคดีต้องได้มีโอกาสต่อสู้คดีของตนเองได้อย่างเต็มที่


แต่ระบบต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาเสียก่อนจึงจะฎีกาได้ ทำให้ถูกมองว่าเป็นการตัดสิทธิของประชาชนในการต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุดที่ประชาชนหวังเป็นที่พึ่งที่จะได้รับความเป็นธรรม


ทั้งนี้หลังจาก สนช.ได้ผ่านวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา และหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถผ่านวาระ 2 และ 3 ระบบที่ต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาจะมีผลบังคับใช้ทันที


โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคดีแพ่งที่จะสามารถฎีกาได้ไว้ จำนวน 6 ข้อ ได้แก่ 1.ปัญหาเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ 2.เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา 3.คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน 4.เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น 5.เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย และ 6.ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา


ทั้งนี้ทางศาลฎีกาจะมีองค์คณะขึ้นมาเพื่อพิจารณา “ฎีกา” ในคดีต่างๆที่ยื่นเข้ามาว่า“ฎีกา” ในคดีใดเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลฎีกาจะอนุญาตให้ฎีกาได้หรือไม่ หากเห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะฎีกาได้ ศาลฎีกาก็จะมีคำสั่งว่า ไม่อนุญาตให้ฎีกา พร้อมระบุถึงเหตุผล แต่ถ้าเห็นว่าคดีนั้นเข้าหลักเกณฑ์ที่จะฎีกาได้ ศาลฎีกาก็จะรับไว้พิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป


สำหรับเหตุผลที่ทางศาลยุติธรรมต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ิ ก็เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณคดีที่ค้างสะสมอยู่ที่ศาลฎีกาจำนวนมากนับหมื่นคดี การที่เปลี่ยนระบบเป็นว่า ต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาเสียก่อนจึงจะฎีกาได้ เชื่อว่าจะทำให้จำนวนคดีในศาลฎีกาลดลงและคดีรวดเร็วขึ้น


นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อาจเป็นการเข้าใจผิดของระบบข่าวสารที่ว่า ศาลต้องการลดจำนวนคดี จึงเปลี่ยนจากระบบสิทธิในการฎีกามาเป็นระบบขออนุญาต เพราะที่จริงแล้วที่ศาลเปลี่ยนมาใช้ระบบขออนุญาตฎีกานั้น เพราะต้องการให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คดีที่จะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกาได้ ทุนทรัพย์ในคดีที่พิพาทกันจะต้องเกิน 200,000 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ที่ใช้ระบบอนุญาตให้ฎีกา ทุกคดีฎีกาได้หมด ไม่ว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทจะจำนวนเท่าใด คดีเล็กๆน้อยๆ คดีที่คนมีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ เช่น บ้านที่อยู่ในชุมชนแออัด หลังละ 40,000-50,000 บาท ถูกฟ้องขับไล่ อย่างนี้ก็ฎีกาคดีได้


"ปัจจุบันมีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาจำนวน 15,000-20,000 คดีต่อปี ผมเชื่อว่าหากใช้ระบบขออนุญาตฎีกา จะมีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกามากขึ้นถึงเท่าตัวอาจถึง 30,000 คดี โดยระบบใหม่ที่จะนำมาใช้นี้ จะมีองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 18 คน ทำหน้าที่พิจารณาว่าคดีใดจะอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ฎีกาได้หรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่ผิวเผิน แต่ดููลงลึกไปในรายละเอียดของคดีเหมือนกับพิพากษาคดีเลย ดูทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น, คำพิพากษาศาลอุทธรณ์


โดยเฉพาะคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีใด หากพบว่ามีข้อบกพร่อง คดีนั้นฎีกาได้แน่นอน และในบางคดีแม้ว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษาถูกต้องแล้วก็อนุญาตให้ฎีกาได้ ถ้าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนั้นได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกามาก่อน การจะอนุญาตให้ฎีกาได้หรือไม่ได้ จะมีเหตุผลอธิบายเหมือนคำพิพากษา


การใช้ระบบใหม่นี้จะทำให้คดีเร็วขึ้น เพราะว่าคดีหนึ่งที่ศาลฎีการับไว้พิจารณา กว่าจะมีคำพิพากษาออกมาได้ ตกเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่เมื่อมีระบบอนุญาตให้ฎีกา ในคดีที่ไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็จะมีคำสั่งไม่รับฎีกาออกมาได้ ซึ่งจะทำให้คดีในส่วนนี้เสร็จรวดเร็วขึ้น แต่ก็มีคดีใหม่ที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาอีก ซึ่งจะมีมากกว่าเดิม เมื่อนำมาหักกลบลบกัน ก็ยังไม่แน่ว่าจะทำให้จำนวนคดีที่ศาลฎีกาลดลงหรือไม่ ต้องรอดูเมื่อถึงวันปฏิบัติจริงต่อไป "


นายศรีอัมพร อธิบายต่อว่า ข้อดีอีกอันหนึ่งของระบบใหม่ คือ องค์คณะผู้พิพากษาที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ฎีกาได้หรือไม่นั้น มีจำนวนมากถึง 18 คน โดยในจำนวนนี้ มีประธานแผนกคดี 1 คนทำหน้าที่ เป็นหัวหน้าคุมคดี นอกนั้นยังมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหลายคณะด้วย นั่นเท่ากับว่า คดีหนึ่งได้รับการตรวจสอบจากคนถึง 18 คน ซึ่งมากกว่าปัจจุบันซึ่งผู้พิพากษาองค์คณะมีเพียง 3 คน นอกจากนั้นในกรณีที่อนุญาตให้ฎีกาได้ ก็จะส่งสำนวนคดีไปให้องค์คณะ 3 คน พิจารณาอีกที


"ไม่ใช่เรื่องไปตัดสิทธิในการฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาไม่ได้ขี้เกียจทำงาน ความยุติธรรมที่ประชาชนพึงได้รับเราให้บริการเต็มที่ ระบบใหม่เพียงแต่ทนายความเขียนมาสั้นๆ ในฎีกาให้เห็นว่า คดีที่ขอฎีกานั้นมีความสำคัญอย่างไรถึงจะต้องฎีกาหรือมีประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร แค่นี้ก็พอแล้ว แต่หลักมันอย่างที่ผมบอกไปแล้ว หากองค์คณะของศาลฎีกาตรวจพบว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มีข้อบกพร่อง ฎีกาได้ทุกคดีแน่นอน ไม่ต้องเป็นห่วง”


ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ยังกล่าวถึงมาตรฐานในการทำคดีของศาลอุทธรณ์ว่า ที่ผ่านมาคดีที่มีการฎีกามาสู่ศาลฎีกา กว่า 70% พบว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถูกต้องแล้ว แสดงว่าศาลอุทธรณ์มีความแม่นยำในการตัดสินคดี เนื่องจากผู้พิพากษากว่าจะขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ อย่างน้อยต้องเป็นผู้พิพากษาที่ทำคดีมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี จึงมีประสบการณ์ในการทำคดีเป็นอย่างดี


"ระบบอนุญาตให้ฎีกาจะใช้ในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในอนาคตจะนำระบบนี้มาใช้ในคดีอาญาด้วย ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่อไป"

......................................

ห่วง"ดุลยพินิจ"ขององค์คณะศาลฎีกา


นายเจษฎา อนุจารี ผอ.สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ มองว่า การใช้ระบบอนุญาตในการฎีกาคดีนั้น เพราะต้องการให้คดีรวดเร็ว และให้คดีขึ้นสู่ศาลฎีกาน้อยลง ปัจจุบันแม้ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ให้ใช้ระบบอนุญาตฎีกา ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ระยะหลังๆ ศาลฎีกาก็มักมีคำพิพากษาว่า การฎีกาในคดีนั้นคดีนี้ ไม่มีสาระสำคัญในการพิจารณาพิพากษา และไม่รับฎีกาไว้พิจารณา


"การใช้ระบบต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาจึงจะฎีกาได้นั้น ผมเป็นห่วงในเรื่องมาตรฐานของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ที่ผ่านมาศาลฎีกาตัดสินคดีไม่ตรงกับศาลอุทธรณ์ก็เยอะแยะ อีกทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเหมือนกับคำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและวิจารณ์เชิงวิชาการได้"


นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังมีถึง 9 ภาค ซึ่งไม่เหมือนกับศาลฎีกาที่มีเพียงศาลเดียว ซึ่งที่ผ่านมามีจำนวนไม่น้อยที่ศาลอุทธรณ์แต่ละภาค ตัดสินคดีลักษณะเดียวกัน ผลออกมาแตกต่างกัน ดังนั้นจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของคำพิพากษาที่ต่อไปถือว่าเป็นที่สุดได้ และหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ตั้งแต่โบราณกาล พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้รับฎีกาจากประชาชนโดยตรง ต่อมาพระมหากษัตริย์ได้มีการตั้งศาลฎีกาขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่รับฎีกาจากประชาชนแทนพระองค์ การมาใช้ระบบขออนุญาตฎีกา จึงเป็นการตัดสิทธิของประชาชนในการฎีกา
ทนายความผู้นี้ ยังเห็นว่า ความล่าช้าของคดีเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันการรวบรัดคดีก็ไม่ยุติธรรมเหมือนกัน ช้าแล้วยังไม่เป็นธรรมหรือรวดเร็วแล้วไม่เป็นธรรมยิ่งแย่ แต่ถ้าช้าเพื่อแสวงหาความยุติธรรม คนยอมรับได้


อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงในการใช้ "ดุลยพินิจ" ขององค์คณะที่ศาลฎีกาตั้งขึ้นว่าจะให้คดีใดฎีกาได้หรือไม่ให้ฎีกา ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่เป็นเรื่องของ “สิทธิ” ของคู่ความในการฎีกาคดี ซึ่งเมื่อเป็น“สิทธิ”หากเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ก็ฎีกาได้ทุกคดี

.......

6เงื่อนไขในการฎีกา

1.คดีเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ 2.คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขัดกับบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกา
3.คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อก.ม. ที่ศาลฎีกาไม่เคยมีคำพิพากษามาก่อน 4.คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาของศาลอื่น 5.เป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย  และ6.ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดประธานศาลฎีกา