'ก้องเกียรติ'ยก'เอเซียพลัส'สู่โฮลดิ้ง คอมปานี

'ก้องเกียรติ'ยก'เอเซียพลัส'สู่โฮลดิ้ง คอมปานี

"ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ยกชั้น"เอเซียพลัส"สู่โฮลดิ้ง คอมปานี

ภาพรวมธุรกิจหลักทรัพย์ ยังคงมีแนวโน้มที่แข่งขันรุนแรง แต่ เอเซียพลัส สามารถยืนหยัดและครองความเป็นผู้นำของธุรกิจได้อย่างยาวนาน โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง"ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ASP เป็นแกนนำ ซึ่งในยุคนี้เขามองว่าการแข่งขันของธุรกิจในปัจจุบันถือเป็นเรื่องปกติ เพราะตลอด 20 ปีผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหานี้มาโดยตลอด แต่การแข่งขันที่ดีในธุรกิจต้องหาสินค้าที่สร้างสรรค์ไม่ใช่การแข่งกันลดราคาค่าคอมมิชชั่น

"การแข่งขันที่ถูกต้องคือเอาสิ่งที่ดีมาให้กับลูกค้า เมื่อลดราคาที่สุดจะไม่มีเงินไปพัฒนาด้วยคุณภาพของคน บริษัทหลักทรัพย์ที่แข่งลดราคาจะอยู่ลำบาก แม้การแข่งขันด้านราคาปัจจุบันจะหนักหน่วง แต่เอเซีย พลัส ไม่ลงไปแข่งขัน ยังสามารถทำธุรกิจได้อย่างสบาย ลูกค้ามีหลายประเภท ไม่มีแค่ลูกค้าที่จะต้องการค่าคอมมิชชั่นถูกๆ เท่านั้น วันนี้มูลค่าการซื้อขายต่อวันสูงมาก เค้กก้อนนี้ยังใหญ่อยู่ แต่สักวันหนึ่งถ้าเค้กก้อนนี้ยุบลงไป จะได้เห็นว่าใครคือตัวจริงในธุรกิจ บล.เอเชียพลัสผ่านร้อนหนาวมาเยอะ แต่เอเชียพลัสไม่เคยขาดทุน"

ส่วนผู้เล่นหน้าใหม่ที่จะเข้าธุรกิจ ต้องคิดให้หนัก ทั้งการหาพนักงานมาจากไหน และจะทนเลือดไหลจากการขาดทุนมากขนาดไหน การแข่งขันของบริษัทหลักทรัพย์มีสูงมาก สะท้อนให้เห็นจาก ราคาปิดกำไรต่อหุ้นอยู่ในระดับต่ำมาก เพราะนักลงทุนไม่ให้ราคาหุ้นกับหุ้นบริษัทหลักทรัพย์มากนัก ปัจจุบันธุรกิจหลักทรัพย์อยู่ในช่วงขาขึ้น และยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง เพราะในต่างประเทศมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีตลอดทั้งปีอาจมีขึ้นลงบ้างตามปัจจัยเสี่ยง แต่การทำธุรกิจต้องระมัดระวัง

สำหรับ บล.เอเซีย พลัส ก็ปรับตัวล่วงหน้าไปก่อน โดยจะเลือกมองไปข้างหน้าพิจารณาว่า นวัตกรรมการเงินใน 20 ปี จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดูว่าสหรัฐไปทิศไหน ยุโรปไปทิศไหน ดูว่าสิ่งไหนเหมาะกับไทยแล้วจะเดินหน้าไปก่อน การเตรียมการต้องใช้เวลาหลายปี ทั้งการสร้างทีมงาน ให้ความรู้กับลูกค้า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในอดีต เอเซีย พลัส เริ่มด้านวาณิชธนกิจก่อนคนอื่น ริเริ่มทำบทวิเคราะห์ นำกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นรายแรกๆ แม้แต่การ ขายสินค้าอย่างตราสารหนี้ หุ้นกู้บริษัทจดทะเบียน แม้สินค้าเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ไม่มีผู้สนใจจะทำและเป็นสิ่งที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัท บล.เอเซียพลัสสามารถนำสิ่งที่เหมาะสมกับตลาดหุ้นไทยมาปรับใช้ให้เป็นบริการครบวงจร และสามารถทำให้ลูกค้าเข้าใจนวัตกรรมทางการเงิน

ระยะหลังจะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยเติบโตรวดเร็ว มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงมากเติบโตในระดับ 10% ต่อปี ในขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อในระบบเติบโตเพียง 9% ความสำคัญตลาดหุ้นไทยมากขึ้นทุกวัน ชัดเจนว่าตลาดหุ้นมีบทบาทในสังคมการขึ้นมากขึ้น

ปัจจุบัน บล.เอเซียพลัส มีสัดส่วนรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 54% การลงทุน 18% วาณิชธนกิจและการระดมทุนตราสารหนี้ตราสารทุน 15% และการบริหารจัดการสินทรัพย์ลูกค้า 12% สัดส่วนรายได้ปรับตัวดีขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อน จากการพึ่งพาเฉพาะรายได้นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์100% แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความเสี่ยงน้อยลง และสิ่งที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ในบทบาทของการเป็นวาณิชธนกร คือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ (ไอพีโอ) มีการทำสัญญาไปแล้วกว่า 15 แห่ง อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมจะเข้าระดมทุน ขณะที่ธุรกิจที่แข็งแรงอย่างการให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส มีบัญชีลูกค้ารวม 7 หมื่นบัญชีๆ ที่มีการซื้อขายต่อเนื่อง 1 ใน 4 ถือว่าไม่น้อย มีลูกค้ารายบุคคล 80 % และสถาบัน 20 % มีลูกค้ารายบุคคลรายใหญ่เทรดกับบริษัทพอสมควร

ที่ผ่านมาอาจถูกแย่งชิงลูกค้ารายใหญ่ไปบ้าง แต่ในที่สุดลูกค้าเหล่านั้น ก็จะกลับมาเพราะได้รับบริการที่ไม่เหมือนกับบริษัท แต่บล.เอเซียพลัส มีจุดแข็งด้านทีมวิจัยใหญ่ที่สุดในเมืองไทย บทวิจัยมากที่สุด มีความรู้ด้านบริษัทจดทะเบียนดูแลหุ้นมากกว่า90 % ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดบริการข้อมูลครบวงจร สามารถทำธุรกิจได้หมด อยากซื้อหรือขายหุ้นกู้ และมีความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการหากลูกค้าต้องการซื้อขายหุ้นหรือผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศมีไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ไหนที่ทำได้

สำหรับการบริหารทีมงานของเอเซียพลัสในฐานะผู้นำองค์กร มีหน้าที่สนับสนุนให้ทุกหน่วยงานเติบโต และให้ทำผลงานสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งการช่วยแนะนำลูกค้าให้ เสนอบริการใหม่ลูกค้า ผมทำหน้าที่เปรียบเสมือนโค้ช สอนให้ลูกน้องเดินไปด้วยการทำงานเป็นทีม ส่วนใหญ่ และการทำงานจะตั้งเป้าหมาย โดยมีรูปแบบการทำงานที่ยึดหลักอนุรักษนิยม

จุดเด่นของบริษัท คือความแข็งแกร่งพนักงาน ซึ่งส่วนมากมีประสบการณ์อยู่กับบริษัทมากกว่า 10 ปี และมีความเหนี่ยวแน่น พนักงานที่ทำงานในองค์กรจะรู้สึกสนุกกับการทำงาน ได้ความรู้ มีรูปแบบงานที่ท้าทาย ที่ผ่านมา พนักงานหลายคนอายุงานเกิน 20 ปี แม้บริษัทหลักทรัพย์จะเกิดใหม่ แย่งตัวบุคลากรกันอย่างหนัก แต่บล.เอเซียพลัสได้รับผลกระทบด้านการย้ายตัวน้อยมาก โดยปีที่ผ่านมา มียอดการเปลี่ยนงานประมาณ 8 % จากพนักงาน 700 คน มีพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยออกไปบ้าง แต่ไม่กระทบธุรกิจ

บล. เอเชีย พลัส ได้ปรับบทบาทจากการเป็นบล.ขึ้นมามีฐานะเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี เพื่อต้องการยกระดับและกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เพราะหากเป็นเพียงบริษัทหลักทรัพย์การเข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่น จะส่งผลต่อความเพียงพอของเงินกองทุนในระยะยาว ดังนั้น จึงเลือกเป็นบริษัทโฮลดิ้ง หากในอนาคตถ้าเจอธุรกิจที่น่าสนใจก็สามารถเข้าไปลงทุนได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภาพของบล.เอเซียพลัสใน 5 ปีข้างหน้าในฐานะผู้นำองค์กรมุ่งหวังว่า บริษัทจะมีความแข็งแรงในทุกๆ ด้านพร้อมกับบริการที่หลากหลาย