'สุริยะใส'เชื่อร่างรธน.ใหม่ดีกว่าปี40และ50

'สุริยะใส'เชื่อร่างรธน.ใหม่ดีกว่าปี40และ50

"สุริยะใส"แนะกมธ.ยกร่างฯ ปิดช่องโหว่ เร่งแจงจุดเด่นรธน. หวั่นพวกอารมณ์ค้างจากปมรัฐประหารบิดเบือน ชี้ร่างฯรธน.ดีกว่าปี40และ50

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ตนเห็นว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เริ่มลงรายละเอียดเป็นรายมาตรานั้น ต้องจำแนกออกเป็น 3 กระแส โดยกระแสแรกเป็นพวกที่ไม่พร้อมและไม่ยอมปฏิรูป ยังชาชินกับกติกาและรูปแบบเดิมๆ กระแสที่สองจะเป็นพวกอารมณ์ค้างจากรัฐประหารคือทำอะไรก็จะผิดหมดหาช่องโหว่จุดอ่อนมาบางจุดมาโจมตีทั้งร่างฯ กระแสที่สามจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งพยายามผลักดันประเด็นของกลุ่มให้มีที่ยืนในรัฐธรรมนูญผสมกับกลุ่มวิชาการ

ซึ่งกรรมาธิการยกร่างควรเน้นการชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล หลีกเลี่ยงการตอบโต้ โดยเฉพาะกลุ่มต้านรัฐประหารและกลุ่มเสียประโยชน์ ที่พยายามขายจินตนาการเอาวิกฤติมาอ้างและมาขู่ตลอดเวลานั้น พวกนี้คงลืมไปว่าวิกฤติการเมืองที่ผ่านมาไม่เคยเกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากพฤติกรรมของนักการเมืองและพยายามเอารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง

"ย้อนไปดูการรัฐประหาร 3 ครั้งหลังปี 2535 2549 และ 2557 ล้วนแล้วแต่เกิดจากพฤติกรรมที่ฉ้อฉล คอร์รัปชั่นและการไม่เคารพรัฐธรรมนูญของนักการเมืองทั้งนั้น ที่สำคัญการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปนั้นไม่เคยริเริ่มจากนักการเมืองเลยสักครั้ง เริ่มต้นจากประชาชนทุกครั้งไป ฉะนั้นบรรดานักการเมืองก็ควรฟังให้มากๆ ด้วยเช่นกัน" นายสุริยะใส กล่าว

นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า คิดว่าถ้าดูภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คร่าวๆแล้ว ยอมรับว่าช่องทางและสิทธิของภาคประชาชนสูงกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 และ 2550 ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคพลเมืองมากขึ้น มีกลไกใหม่ๆ รองรับมากขึ้นส่วนร่วมของประชาชนที่เคยจำกัดอยู่แค่กับฝ่ายบริหาร จะขยายไปสู่ส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ และกระบวนการถ่วงดุลตรวจสอบ รวมทั้งการมีสภาพลเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่นซึ่งเคยเรียกร้องกันตอนปี2540 และ2550

แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯควรทำตารางเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างเผยแพร่ต่อสังคมโดยเร็ว ส่วนประเด็นที่เป็นช่องโหว่ กรรมาธิการก็ต้องเปิดใจรับฟัง โดยเฉพาะประเด็นนายกฯคนนอกนั้น อยากให้กรรมาธิการยกร่างฯทบทวนและควรระบุเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษกรณีนายกฯคนนอกมากกว่านี้ไม่ใช่เปิดกว้างจนเปิดช่องให้คนบางกลุ่มเอาไปขยายความโจมตีหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้