อสส.สั่งตรวจคำสั่งถอนฟ้อง'พระธัมมชโย'ยักยอกเงินปี49

อสส.สั่งตรวจคำสั่งถอนฟ้อง'พระธัมมชโย'ยักยอกเงินปี49

รองโฆษกอัยการสูงสุดลั่นพร้อมตรวจสอบคำสั่งถอนฟ้อง"พระธัมมชโย" เบียดบังทรัพย์ปี 2549 สั่งเรียกสำนวนมาดูสัปดาห์หน้า

วานนี้ (28 ก.พ.) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ระหว่างการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับสื่อมวลชน ที่ จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงกรณีพระพุทธะอิสระ ผู้ก่อตั้งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบคำสั่งที่นายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด มีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนโดยทุจริตเมื่อปี 2549 ว่า ต้องไปดูรายละเอียดในสำนวนคดีดังกล่าวก่อนว่า อัยการสูงสุดในขณะนั้น ให้ความเห็นในการถอนฟ้องไว้อย่างไร

เขากล่าวว่า โดยหลักการของสำนักงานอัยการสูงสุดมีกฎระเบียบบังคับว่า การสั่งคดีหรือถอนฟ้องคดีใดๆ ต้องลงลายลักษณ์อักษรไว้เป็นเหตุผล เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 2 มี.ค. จะนำสำนวนดังกล่าวมาดูอีกครั้ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป

เมื่อถามว่า พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนที่มีความเห็นต่างกับนายพชร อดีตอัยการสูงสุดในการถอนฟ้องยังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่ นายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัจจุบันอัยการท่านนั้นยังปฏิบัติหน้าที่เป็นอัยการอาวุโสอยู่

เมื่ออัยการสูงสุดขณะนั้น มีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีไปก่อนที่จะมีคำพิพากษาแล้ว จะสามารถรื้อฟื้นคดีมาพิจารณาได้อีกหรือไม่ นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดในสำนวนคดีก่อนว่าขณะนั้นมีการสั่งฟ้องข้อหาอะไรบ้าง และความผิดนั้นมีอายุความเท่าใด โดยเมื่อฟ้องคดีไปเเล้วถอนฟ้องจะนับอายุความเริ่มตรงไหน ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายประกอบให้ชัดเจนอีกครั้ง
เห็นด้วยแก้กฎหมายสงฆ์

นายปราโมทย์ นาครทรรพ ประธานที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส มูลนิธิ 100 พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวรานุสรณ์ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ กล่าวบรรยายในการประชุมสัมมนาวิชาการทางพระพุทธศาสนา หัวข้อ รัฐบาลควรจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างไรในยุคเออีซี ในหัวข้อเรื่อง ทำไมต้องปฏิรูปคณะสงฆ์ และพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มีปัญหาในโครงสร้าง องค์ประกอบ และพฤติกรรม โดยหากโครงสร้างเอาอำนาจอาณาจักรไปให้มากเกินจะเกิดปัญหา ทั้งเรื่องการเรียน สายการบังคับบัญชา ถามว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ควรแก้ไหม ตอบได้ว่าควรแก้ แต่จะแก้อย่างไรตนตอบไม่ได้ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือกัน
เตรียมแจ้งความคนหมิ่นคณะสงฆ์

ด้าน นายเสถียร วิพรมหา รักษาการนายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า กำลังเตรียมรวบรวมข้อมูลทุกชนิดของผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายดูหมิ่นคณะสงฆ์ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อแจ้งความดำเนินคดี เพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2535 มาตรา 44 ทวิ ที่ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา44 ตรี ที่ระบุว่า ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่น อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือความแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยื่น4ข้อเรียกร้องยุบกก.ปฏิรูปศาสนา

เครือข่ายพระธรรมทูตไทย กลุ่มชาวพุทธในยุโรป และสหราชอาณาจักร ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีไทย สั่งยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสั่งให้ยุติการข่มขู่คุกคามสถาบันพระศาสนา และมส.โดยทันที

โดย 1.ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฟังพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศ และมีคำสั่งยุบคณะกรรมการของสปช. ชุดดังกล่าวโดยทันที

2.ขอเรียกร้องให้ข้าราชการที่นับถือพระพุทธศาสนาจงอย่าให้ความร่วมมือในการรับเรื่องไร้สาระ 3.ขอเรียกร้องให้พระภิกษุสามเณรในประเทศไทยทุกรูปได้ออกมาช่วยกันปกป้องภัยที่จะเข้ามาคุกคามพระศาสนาในครั้งนี้โดยทันที

4.เครือข่ายพระธรรมทูตไทยในยุโรป พร้อมยกระดับการเคลื่อนไหวเข้มข้นขึ้นทุกรูปแบบทันที เช่น ร่างหนังสือยื่นองค์กรศาสนา วัฒนธรรม และประมุขของกลุ่มประเทศในอียู หากเหตุการณ์หมิ่นเหม่ที่จะเกิดภัยร้ายต่อพระพุทธศาสนา เพื่อรักษามรดกของบรรพบุรุษไทย โดยยืนยันคัดค้านกรรมการปฏิรูปฯศาสนา ชุดสปช.ให้ถึงที่สุด

ในขณะเดียวกัน สถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย 2 แห่ง ประกอบด้วย Government Of Uttrakhand Minority Commission และ International Buddha Education Institute แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ผ่านทางพระธรรมทูตที่ปฏิบัติศาสนกิจในอินเดีย-เนปาล ถึงนายกรัฐมนตรีไทย ประธาน สปช.ด้วย

"พุทธะอิสระ"จี้มส.เป็นที่พึ่งธรรมวินัย

วันเดียวกัน แฟนเพจ เฟซบุ๊ค ที่ใช้ชื่อ หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) โพสต์ข้อความ ลงชื่อว่า "พุทธะอิสระ" เรื่อง "ไม่รู้ หรือแกล้งไม่รู้ หรือจะทำมึน ตีเนียน ช่วยพวก" ใจข้อความว่า หยิบยกเอาพระลิขิตและมติมหาเถรปี 2542 มาให้ดูว่าพฤติกรรมของมหาเถร ใครว่าเลือกปฏิบัติ ละเว้นไม่ปฏิบัติอย่างไร สังคมจะได้หูตาสว่างว่า พุทธบริษัทไทยสมควรปล่อยให้มหาเถรรวบอำนาจ ทั้งปกครอง บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ เอาไว้แต่เพียงองค์กรเดียว เช่นนี้ต่อไปพุทธศาสนาจะเหลืออะไร

มส.หรือมหาเถรสมาคมพยายามจะบอกให้ชาวพุทธทั้งประเทศได้รู้ว่า ไม่สามารถจะดำเนินการใดๆ ในคดีของธัมมชโย ได้ยุติลงแล้ว และไม่สามารถจะรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้

มส.พยายามตอกย้ำให้คนไทยเชื่ออย่างที่ มส.เชื่อ โดยคนไทยผู้มีหัวใจหวงแหนพระธรรมวินัย มิได้เชื่ออย่างที่ มส.เชื่อ โดยคนไทยพุทธทุกคนเชื่อว่า พระลิขิตเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงกล่าวโทษธัมมชโยเป็นปาราชิกแล้ว เหตุเพราะยักยอกทรัพย์ของวัด

แม้ทรัพย์นั้นจะส่งคืน แต่คนไทยยังสงสัยว่า ธัมมชโยเป็นปาราชิก และ มส.จะดำเนินการอย่างไร ทุกครั้งที่ มส.ออกมาพูด ออกมาแถลง มส.ไม่เคยพูดในประเด็นธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกเลย หรือ มส.จะละเลย ไม่รู้จักธรรม

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของโพสต์ ระบุว่า พุทธะอิสระขอบอกเลยว่า ไม่ยอมรับการปกครองของพวกอลัชชีที่อยู่ได้ทุกวันนี้ เหยียบยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง อยู่ได้ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยขององค์พระบรมศาสดา มิได้อยู่ได้เพราะการปกครองของ มส. เพราะ มส.ไม่สามารถทำตัวเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ตามหลักพระธรรมวินัย
ฉะนั้น หาก มส.และเจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น ยังทำตัวเฉไฉ ไร้ความละอาย ไม่ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย อย่ามาบังอาจแสดงอำนาจ หากจะแสดง ก็คงเป็นอำนาจถ่อยที่อ้างกฎหมาย ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลที่ถูกขับไล่ไป

ชี้กฎหมายขัดพระธรรมวินัย

ดร.นพ.มโน เลาหวณิช อดีตพระวัดธรรมกาย และอดีตกรรมการบริหารอาวุโส มูลนิธิวัดธรรมกาย กล่าวในรายการ Business Talk ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW ช่อง 26 ซึ่งจะออกอากาศในวันที่ 2 มี.ค.2558 ตอนหนึ่งว่า พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในพระพุทธศาสนา
เขากล่าวว่า เนื้อหาสาระในกฎหมายขัดกับพระธรรมวินัย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเวลาคนไปบวชเขาขานนาคถามว่า เป็นข้าราชการหรือไม่ ถ้ายังทำภารกิจอยู่ไม่บวชให้ แต่ พ.ร.บ.นี้บอกพระเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ดร.นพ.มโน กล่าวด้วยว่า ส่วนด้านความสัมพันธ์ในเชิงภิกษุต่อภิกษุก็เปลี่ยนไป คำว่าสงฆ์แปลว่าหมู่คณะองค์รวมหายไป สงฆ์ปัจจุบันเป็นตัวบุคคลที่สามารถสั่งการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีกฎหมายตรวจสอบ เปิดกล่องบริจาคเมื่อไรก็เป็นเรื่องของท่าน เงินจะเข้าวัดเข้าย่ามก็เรื่องของท่าน อำนาจสิทธิขาด ไม่ได้เป็นไปในรูปแบบพี่น้อง พ่อกับลูก ความสัมพันธ์กลายเป็นแบบเจ้ากับไพร่ ความเป็นสงฆ์จึงหายไปด้วย ตรงนี้เราควรรื้อฟื้นขึ้นให้เกิดสำนึกของความเป็นหมู่คณะ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

"ปัจจุบันพิธีสังฆกรรมต่างๆ เป็นแค่สักแต่ว่าพิธีกรรม สาระแก่นสารไม่มี การบวชเป็นแค่พิธีกรรม พระวินัยกำหนดให้พรรษา 10 ถึงจะเป็นอุปัชฌาย์ คือ ต้นแบบ เป็นแนวทาง ของไทยก็แปลผิดไปว่าเป็นผู้เพ่งโทษ" ดร.นพ.มโน กล่าว

เขากล่าวต่อว่า คณะสงฆ์ต้องมีการจัดองค์กรแต่จำเป็นหรือไม่ต้องขึ้นกับเจ้าอาวาสรูปเดียว เป็นองค์คณะก็ได้ พระไตรปิฎกก็กำหนดให้มีส่วนร่วมโดยบริษัท 4 สิกขาบท และข้อสำคัญมากคือไม่จับเงิน แต่ปล่อยกันมานานจนพระบางรูปเอาไปลงทุน ไม่มีข้อห้าม จะเปิดบัญชีได้ ซื้อหุ้นได้ เงินกลายเป็นเงื่อนไขใหญ่ จะเอาศพไปบำเพ็ญกุศลก็ต้องมีค่าเปิดศาลา เพราะฉะนั้นทุกอย่างใช้เงินหมด ค่านั่งสวด ค่าอุปัชฌาย์

"พระธรรมวินัยชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็ขาดจากความเป็นพระเลย ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจซับซ้อนมากมาย แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ชัดเจนว่า เงินคืออสรพิษ แต่ตอนนี้กลับยิ่งนิยมอสรพิษ" ดร.นพ.มโน กล่าว

เชื่อระบบศักดินาทำคุณภาพพระตกต่ำ

ดร.นพ.มโน กล่าวอีกว่า อีกสาเหตุที่คุณภาพพระเลยต่ำลงเพราะเป็นระบบศักดินามาครอบตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะช่วงนั้นรัชกาลที่ 5 ปริวิตกว่าต่างชาติจะเข้ามายึดจึงคิดว่าจะคุมอำนาจอย่างไรก็ต้องคุมพระด้วย จึงนำโครงสร้างศักดินามาครอบ พระกระจุกตัวในแนวดิ่ง ไม่กระจายออกไปภาคอื่นๆ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ ตั้งแต่ พ.ศ.2445 จนถึงปัจจุบันอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก และแต่ละรูปก็สวมหมวกหลายใบ อายุ 70-80 ปี ทำหลายหน้าที่ เซ็นงานต่างๆ หลายขั้นตอน