เกาะติด 'วิกฤติยูโรโซน'

 เกาะติด 'วิกฤติยูโรโซน'

เกาะติด "วิกฤติยูโรโซน" คาดกระทบเศรษฐกิจโลกไม่ต่ำกว่า6เดือน

รายการ The Spy ล้วงหุ้นเด็ด ทางสถานีโทรทัศน์ NOW26 ตอน "วิกฤติยูโรโซน" จับตาสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) และกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร กับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวถึงวิกฤติค่าเงินในสหภาพยุโรปว่า วิกฤติยูโรโซนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เริ่มต้นจากสามประเทศที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า PIG คือ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และกรีซ กำลังจะล้มละลาย เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ประสบภาวะฟองสบู่แตก ส่งผลให้ประเทศที่อยู่ในกลุ่มยูโรโซนด้วยกันต้องให้ความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกให้การติดตามอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องของกรีซ โดยในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคซีรีซา หัวหน้าพรรค คือ นายอเล็กซิส ซีปราส (ปัจจุบันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกรีซหลังชนะเลือกตั้ง) ได้เน้นนโยบายขยายการใช้จ่ายเพื่อจะให้มีการจ้างงานมากขึ้น พร้อมให้ความช่วยเหลือคนยากจน ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

และนโยบายที่สำคัญอีกหนึ่งประการ คือ ต้องการที่จะขอเบี้ยวหนี้บางส่วน มีนโยบายที่จะปลดแอกตัวเองจากการควบคุมของทรอยก้า (คณะกรรมการร่วมผู้ตรวจสอบวินัยการคลังของยุโรป) และปฏิเสธการยอมรับเงื่อนไขของทรอยก้า

นโยบายดังกล่าวนี้มีความขัดแย้งกับทรอยก้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของกรีซ และขัดแย้งกับประเทศเจ้าหนี้ในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งมีเยอรมนีเป็นหัวหอก

"แนวนโยบายของทรอยก้าที่ตั้งเงื่อนไขกับประเทศที่มาขอความช่วยเหลือนอกจากกรีซแล้ว ก็มีไอร์แลนด์ โปรตุเกส รวมทั้งสเปนและอิตาลี โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ ข้อแรก คือ จะต้องลดค่าใช้จ่าย ลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 3% ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) จะต้องเคารพต่อเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการชำระหนี้ และห้ามมีการเบี้ยวหนี้โดยเด็ดขาด อีกทั้งจะต้องมีวินัยทางการคลัง"

"จะเห็นได้ว่าท่าทีของรัฐบาลกรีซกับทรอยก้าในช่วงแรกนั้นไม่มีทางประสานกันได้เลย เพราะมีลักษณะตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพรรคซีรีซา เมื่อได้รับการเลือกตั้งจริงแล้วก็มีท่าทีอ่อนลงไปในระดับหนึ่ง" นายสมชาย ระบุ

หวังปลดแอกทรอยก้า

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวต่อว่า สิ่งที่กรีซต้องการเดินหน้ามากที่สุดในขณะนี้ คือ ปลดแอกตัวเองจากทรอยก้า แล้วหาแหล่งเงินทุนที่มีเงื่อนไขต่ำและดอกเบี้ยต่ำมาแทนหนี้ที่เกิดจากทรอยก้า กรีซจะไม่ยอมรับการกำกับดูแลจากทรอยก้า กรีซต้องการเจรจาในระยะสั้น หาเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น

อีกทั้งต้องการที่จะยืดอายุหนี้ของทรอยก้า จำนวน 172,000 ล้านยูโร ซึ่งถึงกำหนดในวันที่ 28 ก.พ.ออกไปอีก 6 เดือน โดยในช่วงเวลา 6 เดือนดังกล่าว กรีซจะพยายามหาแหล่งเงินใหม่ซึ่งถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และในระหว่างนี้กรีซคงต้องเสริมสภาพคล่องชั่วคราว โดยการออกตั๋วเงินคลังจำนวน 8,000 ล้านยูโร และต้องการเรียกให้อีซีบี (ธนาคารกลางยุโรป) คืนกำไรจำนวน 1.9 พันล้านยูโรจากการซื้อพันธบัตรของกรีซในช่วงวิกฤติ 2012-2013

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกรีซก็ได้จ้างงานเพิ่ม โดยให้ข้าราชการที่ถูกให้ออกไปก่อนหน้านี้กลับมาทำงานใหม่ ให้สวัสดิการกับคนจนและผู้รับบำนาญ ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ กรีซให้คำตอบว่าที่ทำเช่นนี้จะไม่กระทบกับงบประมาณหรือการคลัง เพราะค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งจะได้จากการเก็บภาษีคนรวย เอาเงินจากพวกหนีภาษี ตลอดจนกำไรจากกรณีที่อีซีบีซื้อพันธบัตรกรีซเอาไว้

เชื่อกรีซตกลงเจ้าหนี้ได้

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.พ.ทั้ง 2 ฝ่ายได้หาทางประนีประนอมกัน กล่าวคือ ทรอยก้าจะยืดหนี้ไปอีก 6 เดือน เพื่อใช้ 6 เดือนนั้นเจรจาหาทางออก เพราะฉะนั้นจุดพิจารณาว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะระเบิดหรือไม่ ก็คือ จะมีการยืดหนี้ต่ออายุให้กรีซหลังวันที่ 28 ก.พ.หรือไม่ และแม้จะต่ออายุให้กรีซก็ตาม กรีซกับทรอยก้าคงยังต้องเจรจาหาทางประนีประนอม โดยกรีซจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ด้วยการออกพันธบัตรจากตลาดการเงินซึ่งดอกเบี้ยต่ำกว่าที่กู้จากทรอยก้า ส่วนจะสำเร็จหรือไม่คงจะต้องดูต่อไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรีซจะทำอะไรไม่ได้เลยถ้าทรอยก้าไม่เห็นชอบ เพราะพันธบัตรของกรีซมีมูลค่าเหมือน Junk Bond

"กรีซกับสหภาพยุโรปยังเป็นปัจจัยปัญหาของเศรษฐกิจโลก และจะสร้างความตื่นเต้นในรูปความผันผวนของตลาดหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดโภคภัณฑ์ อย่างน้อยอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ผมไม่เชื่อว่ากรีซจะถูกบังคับให้ออกจากเงินสกุลยูโรในเวลาอันสั้น ส่วนในระยะกลางต้องมาดูผลการเจรจาผ่อนปรนยืดอายุหนี้หลัง 28 ก.พ.นี้" นายสมชาย ระบุ

ชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ว่า น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด โดยคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3.5% เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งเก่าและงบใหม่ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยรัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ให้เอกชนลงทุนตาม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนด้วย

ขณะที่ภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ยังขยายตัวในระดับต่ำ คาดว่าโต 2-3% ไม่ถึง 4% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายเอาไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยุโรปขยายตัวต่ำ โดยต้องจับตาไปที่กรีซว่ายังอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไปหรือไม่ เพราะหากกรีซออกจากกลุ่มยูโรโซน จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงประเทศอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย เนื่องจากอาจจะปะทุขึ้นมาอีกรอบ และกระทบต่อสถานการณ์การค้าโลกได้

คาดเงินบาทแกว่ง 32.75-33.25

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามตอนนี้ คือ ผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจจีนโตต่ำสุดในรอบ 20-30 ปี เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย หากเศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่าเป้าหมาย จะกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยอย่างแน่นอน

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ คือ กำหนดเป้าหมายตลาดส่งออกแต่ละประเทศให้ชัดเจน และต้องรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตลาดเก่าไว้ ขณะที่ภาคเอกชนจะต้องปรับโครงสร้างการผลิต เน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้

ทั้งนี้ มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้การเคลื่อนไหวของเงินบาทจะเป็น 2 ทิศทางมีทั้งเงินทุนไหลเข้าและไหลออก โดยกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 32.75-33.25 บาทต่อดอลลาร์