เกาะประเด็นร้อนร่างรธน.ใหม่ 'ปชต.แบบสรรหา'ส่อทำกติกาล่ม

เกาะประเด็นร้อนร่างรธน.ใหม่ 'ปชต.แบบสรรหา'ส่อทำกติกาล่ม

(รายงาน) เกาะประเด็นร้อนร่าง รธน. ใหม่ "ประชาธิปไตยแบบสรรหา" ส่อทำกติกาล่ม

การพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) แท้จริงดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่หลังปีใหม่ เพื่อเร่งยกร่างให้เสร็จทั้งฉบับเป็น "ดราฟต์แรก" ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาช่วงหลังสงกรานต์


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นอ่อนไหวอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ร้อนแรงเท่าสัปดาห์นี้
เพราะสัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์เป็นการพิจารณาเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันทางการเมือง อันเป็นหัวใจหลักของการเข้าสู่อำนาจการเมือง และเป็นประเด็นหลักของการปฏิรูปประเทศด้วย


แต่มติของ กมธ.ยกร่างฯ ในหลายประเด็นก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนบางฝ่ายประเมินว่าเป็นเรื่องยากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านกระบวนการไปจนถึงขั้นบังคับใช้อย่างสะดวกโยธิน

"สภาสูงทางอ้อม"โดนถล่มยับ

ประเด็นแรก คือ ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กำหนดให้ ส.ว.มีไม่เกิน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจากบุคคลดังนี้
1.ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เลือกกันเองให้ได้ไม่เกิน 10 คน
2.ผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร ข้าราชการฝ่ายทหารซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ พนักงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าองค์กรดังกล่าว เลือกกันเองประเภทละไม่เกิน 10 คน แต่ต้องไม่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น


3.ผู้แทนองค์กรวิชาชีพหรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งเลือกกันเองตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ ไม่เกิน 10 คน
4.ผู้ซึ่งมาจากการเลือกกันเองขององค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น ไม่เกิน 50 คน
และ 5.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่เกิน 100 คน


โดยวาระของ ส.ว.มีกำหนดคราวละ 6 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันสองวาระมิได้
จากรูปแบบการเลือกตั้งทางอ้อมดังกล่าว ทำให้สื่อบางแขนงตีข่าวว่าเป็น "ส.ว.ลากตั้ง" ขณะที่อดีต ส.ว.และบรรดาพรรคการเมืองโจมตีว่าแย่ยิ่งกว่า "สภาผัวเมีย" (ข้อวิจารณ์ ส.ว.เลือกตั้งในอดีต) และจะก่อปัญหาการเมืองในอนาคต


อย่างไรก็ดี ข้อวิจารณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นอย่างมาก โดยยืนยันว่าที่มาของ ส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่การ "ลากตั้ง" แต่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง

นายกฯคนนอก-สอบประวัติเข้ม

ประเด็นที่ 2 เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กำหนดให้นายกฯ มีจำนวน 1 คน และรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายกฯจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระไม่ได้
นอกจากนั้น ยังกำหนดให้นายกฯไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือหากได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ก็ต้องลาออกหากได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ทั้งนี้เช่นเดียวกับรัฐมนตรี


ประเด็นที่มาของนายกฯ ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็น "นายกฯลากตั้ง" ทำนองเดียวกับ ส.ว. แต่ กมธ.ยกร่างฯ เชื่อว่าในสภาวะปกติ สภาจะเลือกนายกฯมาจาก ส.ส. เว้นแต่ในสถานการณ์ไม่ปกติ อาจนำคนนอกมาดำรงตำแหน่งได้ ถือเป็นความยืดหยุ่น หาทางออกเมื่อเกิดวิกฤติการเมือง


ร่างรัฐธรรมนูญในหมวดนี้ยังกำหนดว่า ก่อนที่นายกฯจะนำรายชื่อรัฐมนตรีขึ้นกราบบังคมทูลฯ นายกฯจะต้องนำรายชื่อ ครม.ส่งให้ประธานวุฒิสภา และจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบประวัติ และเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่นายกฯเสนอรายชื่อให้ประธานวุฒิสภา


ร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับสภา จึงกำหนดให้นายกฯและรัฐมนตรีมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดยถือให้ถือเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่นใด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นเหตุนำไปสู่การถอดถอนได้

ส.ส.เขต250+สัดส่วนผสม200

ประเด็นที่ 3 คือ ระบบการเลือกตั้ง และโฉมหน้าสภาทั้งสอง เริ่มจากสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 450 คน แต่ไม่เกิน 470 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 250 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จำนวน 200 คน (จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดให้มี ส.ส.จำนวน 500 คน มาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน และจากบัญชีรายชื่อ 125 คน)
สาเหตุที่จำนวน ส.ส.ไม่แน่นอน และมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ ก็เพราะระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่ต้องนำคะแนนนิยมที่แท้จริงของประชาชนผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนมาคำนวณ จึงอาจทำให้ได้จำนวน ส.ส.เกินกว่า 450 คน แต่จะไม่เกินเพดาน 20 คน


นอกจากนั้น ได้ปรับเกณฑ์ ส.ส.ที่ประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร ให้สามารถเปิดประชุมสภานัดแรกได้ จากเดิมใช้เกณฑ์ 95% เปลี่ยนเป็น 85%

นายกฯแพ้ซักฟอกต้องยุบสภา

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ถูกตั้งคำถามถึงหลักการและความเหมาะสม อาทิ
O กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มเติม คือ ต้องแสดงสำเนาแบบรายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปีให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตรวจสอบ เว้นแต่เป็นผู้ไม่มีรายได้ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนว่ามีการจ่ายภาษี


O ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเสียงโหวตโน หรือไม่ประสงค์ลงคะแนน
O การสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. หากนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจแล้ว (เสียงไม่ไว้วางใจมากกว่าไว้วางใจ) ให้สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบตามไปด้วย


O เมื่อนายกรัฐมนตรีจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ให้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล วุฒิสภาจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อก่อน แล้วรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อแจ้งให้นายกฯทราบ แต่จะมีมติเห็นชอบหรือไม่มิได้

จับตา"กติกาใหม่"ล้ม

สิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้ คือ กระแสต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะกว้างขวางบานปลายไปแค่ไหน เพราะล่าสุดเริ่มมีกระแสข่าวแพร่สะพัดในทำนองเขียนรัฐธรรมนูญไม่ให้ผ่านการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อหวังผลล้มกระดาน ตั้งต้นกันใหม่ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ต่อเวลาในอำนาจต่อไป


ขณะที่ฝ่ายพรรคการเมืองก็ถูกดึงเข้าสู่วังวนการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย
แต่หากรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณา ก็มี "สูตร 2+4" ออกมาคล้ายโยนหินถามทาง หมายถึง คสช.อยู่ในอำนาจ 2 ปีนับจากยึดอำนาจ (พ.ค.2557) โดยจะมีการจัดเลือกตั้งใหม่ราวต้นปีหรือไตรมาสที่ 2 ของปี 59 หลังเลือกตั้งจะได้รัฐบาลผสมที่ไม่เข้มแข็งนัก และจะมี "นายกฯคนกลาง" จากคนใน คสช.ที่อาจแปลงไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ขับเคลื่อนการเมืองภายใต้กำกับของโรดแมพ คสช.ไปอีก 4 ปี

..............

ปลดล็อกเงื่อนไขม็อบการเมือง

อีก 2 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวกับนักการเมืองและพรรคการเมืองโดยตรง แต่ก็มีกระแสต้านไม่น้อยเหมือนกัน คือ การกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่แค่กำกับ ดูแล และตรวจสอบการเลือกตั้ง แต่หน้าที่จัดการเลือกตั้ง มอบให้เป็นหน้าที่ของ "กจต." หรือ คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีองค์ประกอบจากข้าราชการระดับสูง


ขณะเดียวกันก็ให้ควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าด้วยกัน ทั้งๆ ที่แต่ละองค์กรมีที่มา อำนาจหน้าที่ และเครือข่ายต่างกัน โดยเฉพาะ กสม.มีเครือข่ายทั่วโลก มีการประชุม กสม.ในเวทีสากล สมาชิกเป็นร้อยประเทศ


อย่างไรก็ดี ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็มีบทบัญญัติที่พยายามปลดล็อกปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่ "ม็อบยึดประเทศ" ซึ่งในห้วง 1 ทศวรรษมานี้ ประเทศไทยโดนไปแล้วหลายครั้ง


เช่น มาตรา 119 ว่าด้วยการกำหนดวันเลือกตั้งเมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ภายใน 45 วัน และวันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งนำความจากมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาพิจารณา ได้มีการเพิ่มเติมประเด็นในกรณีที่การเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ให้ กกต.เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งในหน่วยที่ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งในวันเดียวกันได้


โดยมีเหตุผล คือ เป็นการแก้ไขกรณีที่เคยเกิดขึ้นช่วงการเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ.57 ที่มีการชุมนุมปิดล้อมสถานที่ที่ใช้สมัครรับเลือกตั้ง จนทำให้การลงคะแนนบางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการ และเมื่อมีการจัดให้มีการลงคะแนนภายหลังถูกศาลตีความว่าไม่สามารถทำได้เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร