เจบิคเตือนรักษาสมดุล 'อาเซียน+3'

เจบิคเตือนรักษาสมดุล 'อาเซียน+3'

เจบิค เตือนอาเซียนรักษาสมดุลอาเซียน+3 "ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้" แนะแบงก์อาเซียนสยายปีกเคลื่อนทุนนอกบ้าน จี้รัฐหนุนเพิ่มนโยบายเสริมแกร่งเอสเอ็ม

หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นร่วมจัดงานสัมมนานานาชาติ Opportunities in a New Era of Enhanced ASEAN/Japan Partnership โดยมีนักวิชาการ และผู้บริหารจากไทยและต่างประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นถึงโอกาสด้านความร่วมมือและการลงทุนของญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนยุคหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) วานนี้ (27 ก.พ.)


นายฮิโรชิ วาตานาเบะ ประธานและผู้บริหารสูงสุดธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิค) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียน มี 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ชัดเจน ภายใต้ความท้าทายหลัก คือ การกำหนดความร่วมมือและการบูรณาการที่เหมาะสมทั้งกับญี่ปุ่นเอง รวมถึง จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างอยู่ในกลุ่มอาเซียน+3 เช่นเดียวกัน


โดยเฉพาะจีนที่มีการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจน เนื่องจากมีองค์ประกอบทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาตัวเองได้ด้วยฐานประชากรกว่า 1,300 ล้านคนและทรัพยากรมหาศาล เทคโนโลยีที่มีการสร้างตลาดขึ้นมาแข่งขันกับเกาหลีใต้ได้ใกล้เคียงกัน


ดังนั้นประเด็นที่ต้องพิจารณาเรื่องแรก คือ การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ และอาจรวมถึงกลุ่มสมาชิกในกรอบอาเซียน+6 คือ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต้องวางโจทย์ให้ชัดเจนว่าจะนำมาบูรณาการร่วมให้อาเซียนได้ประโยชน์สูงสุดในด้านการผลิตได้อย่างไร โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับจีน และระมัดระวังสร้างสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ให้สมดุลกันด้วย


ขณะเดียวกัน การเคลื่อนย้ายเงินทุนภาคเอกชนในภูมิภาคเป็นอีกประเด็นที่สามารถขยายตัวได้ เนื่องจากภาคการลงทุนของอาเซียนยังคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นอยู่ในแง่อนุรักษนิยม กล่าวคือเงินทุนส่วนใหญ่ยังหมุนเวียนกับธุรกิจในประเทศมากกว่า


ทั้งนี้อาเซียนมีศักยภาพในการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปต่างประเทศได้เช่นกัน โดยเฉพาะธนาคารในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย แต่อาจยังไม่มั่นใจที่จะสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการไปลงทุนต่างประเทศ หรือมีนโยบายที่ระมัดระวังมากเกินไป ทางออกคือ สามารถให้ธนาคารที่มีบทบาทประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ เจบิค หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เป็นตัวกลางในการสร้างความมั่นใจให้ได้


ด้านข้อเสนอว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมืออาเซียนและคู่ค้านั้น จะมองในระดับความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน (PPP) เหมือนเดิมไม่เพียงพอ แต่ต้องขยายเป็นกรอบ PPPP โดยแบ่งเป็น หน่วยงานระดับรัฐ 2 หน่วย คือ รัฐบาลหรือราชการของประเทศนั้นๆ และที่เพิ่มมาคือ องค์กรระดับนานาชาติ อาทิ ธนาคารโลก, เอดีบี, เจบิค ที่จะต้องมีบทบาทในเชิงช่วยประสานให้รัฐบาลกับภาคเอกชน


นายวาตานาเบะ กล่าวว่า บทบาทของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาพื้นฐานภูมิภาคนี้ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ การขนส่งมวลชน การเพิ่มขีดความสามารถทางเกษตรกรรม การปฏิรูปพลังงาน ตลอดจนการช่วยเหลือในเรื่องการศึกษา


ด้านนายฟุกุนาริ คิมูระ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สถาบันการวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) กล่าวว่า การพัฒนาในอาเซียนและญี่ปุ่น มีองค์ประกอบที่ต้องพัฒนาอีกด้านคือ ธุรกิจระดับเอสเอ็มอี ที่ทั้ง 2 ประเทศมีเหมือนกันคือ มีกลุ่มนี้เป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ การสร้างเครือข่ายให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพมีโอกาสขยายไปต่างประเทศมากขึ้น เช่น เอสเอ็มอีไทย
ทั้งนี้ การเชื่อมโยงถือเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างและพัฒนาเออีซี โดยนอกจากจะต้องเชื่อมทั้งหน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษาต่างๆแล้ว การเชื่อมโยงด้านนวัตกรรม ก็สำคัญ


ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากเป้าหมายที่ไทยตั้งรายได้ท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้านบาทในปีนี้ หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญคือการสร้างสมดุลกลุ่มเป้าหมาย ไม่พึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป ดังนั้นในขณะที่ตลาดจีนกำลังเติบโตในด้านการส่งออกนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าแตะระดับ 500 ล้านคน แต่บทเรียนจากการหดตัวของตลาดรัสเซียมากกว่า 60% ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไทยจะให้ความสำคัญกับการสร้างฐานตลาดหลากหลาย โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีศักยภาพ ทั้งจากระยะการเดินทางที่สะดวก และมีประชากรมากกว่า 620 ล้านคน