ดัชนีผลิตอุตสาหกรรมม.ค.ทรุด ซัมซุง-แอลจีย้ายฐานฉุดยอดทีวี

ดัชนีผลิตอุตสาหกรรมม.ค.ทรุด ซัมซุง-แอลจีย้ายฐานฉุดยอดทีวี

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ม.ค. 58 ลดลง 1.3% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 คาดช่วงกลางปีปรับตัวเป็นบวกหลังรัฐโหมลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

 เผย “ซัมซุง-แอลจี” ย้ายฐานผลิตทีวีไปเพื่อนบ้าน ฉุดยอดผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าร่วง


นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ในเดือนม.ค.2558 ว่า เอ็มพีไอในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาลดลง 1.3% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 แต่ก็เป็นการติดลบที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ติดลบถึง 5.59% สะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม


อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนีเอ็มพีไอจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในแดนบวกในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะจะได้รับผลบวกจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และมีความชัดเจนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งหากรัฐบาลสามารถผลักดันงบกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว ที่จะยิ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้เร็วขึ้น


ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.2558 ขยายตัว 0.6% แต่ถ้าไม่รวมทองคำก็จะขยายตัว 0.2% ซึ่งถึงแม้ว่าจะขยายตัวไม่มาก แต่ก็สามารถฟื้นขึ้นมาอยู่ในแดนบวกได้ต่อเนื่องถึง 8 เดือน เนื่องจากอุตสาหกรรมหลายกลุ่มส่งออกดีขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าที่มีราคาส่งออกเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก มีการส่งออกหดตัว ขณะที่ การนำเข้าสินค้าทุนในเดือนม.ค. 2558 เพิ่มขึ้น 1.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และจะทำให้ยอดการส่งออกในอนาคตเพิ่มขึ้น


คาดใช้ยอดใช้กำลังผลิตปีนี้ 60 %
ส่วนการใช้กำลังการผลิตเดือน ม.ค.อยู่ที่ 60.87% เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.2557 ที่อยู่ในระดับ 59.77% โดยในปี 2558 คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ในระดับ 60% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 59-60% อย่างไรก็ตามหากการใช้กำลังการผลิตยังไม่ถึง 70% ก็จะส่งผลให้ในปีนี้ภาคเอกชนยังไม่ลงทุนขยายกำลังการผลิต แต่ในส่วนของการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชันอันเนื่องมาจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ขอเข้ามาในปี 2556-2557 ทำให้คาดว่ายอดการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไปจะขยายตัวดีขึ้น


“แม้ว่าการใช้กำลังการผลิตในเดือนม.ค.จะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขย้อนหลังในปีที่ผ่านมาก็ปรับตัวดีขึ้น จึงมองว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตในขณะนี้ ยังไม่มีนัยที่น่าเป็นห่วง และมั่นใจว่าภาคการผลิตของไทยในปีนี้จะขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา” นายอุดม กล่าว


ยอดขายรถยนต์ภายในวูบ 12 %
นายอุดม กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมสาขาสำคัญในเดือนม.ค.2558 จะพบว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ มีจำนวน 166,400 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.3% ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีจำนวน 59,721 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.83% และยอดการส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 92,440 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.09% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดการส่งออกรถยนต์ไปยังยุโรป ขยายตัวสูงกว่า 66% จะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) และตลาดอเมริกาเหนือโตถึง 95% มาจากการขยายตัวของยอดซื้อรถยนต์อีโคคาร์ที่เพิ่มสูงมาก เนื่องจากรถอีโคคาร์ของไทยเป็นโมเดลใหม่ทำให้จูงใจผู้ซื้อได้มากกว่าสินค้าคู่แข่ง
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา การผลิตปรับตัวลดลง 6.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับตัวลดลง 5.26% มาจากยอดขายของฮาร์ดิสก์ไดรฟ์ลดลงถึง 9% ทำให้ฉุดในกลุ่มนี้ลดลงทั้งหมด


ซัมซุง-แอลจีย้ายฐานฉุดยอดผลิตทีวีลด
ส่วนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 14.03% เนื่องจากยอดการผลิตสินค้าโทรทัศน์ลดลงมาก เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง และแอลจี ได้ย้ายสายการผลิตโทรทัศน์ไปยังประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้แรงงานในการประกอบสูง ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีความได้เปรียบมากกว่า ส่วนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทักษะฝีมือแรงงานยังคงรักษาฐานการผลิตไว้ได้


“สินค้าที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่พึ่งพาแรงงานในการประกอบเป็นจำนวนมาก จึงไม่เหมาะที่จะอยู่ในประเทศไทย แต่ทั้งนี้ก็จะมีอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงย้ายเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น เห็นได้จากยอดการขอบีโอไอ ในปี 2556-2557 ในกลุ่มนี้มีจำนวนสูงมาก และคาดว่าจะทยอยเข้ามาตั้งโรงงานได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อัตราการผลิต และส่งออกค่อยๆปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงจะได้รับเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาอีกมากปรับฐานไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แทนการผลิตสินค้าที่พึ่งพาแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาตรการใหม่ของบีโอไอ ก็จะเร่งกระบวนการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เร็วขึ้นภายใน 3 ปี จะเห็นสินค้าชนิดใหม่ๆจากเดิมที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี” นายอุดม กล่าว


เหล็ก-สิ่งทอ-อาหารแนวโน้มดี
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยเดือนม.ค. 2558 มีปริมาณ 1.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.61 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.93% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนก่อสร้างของเอกชน ได้แก่ โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ได้เริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่วนของการลงทุนก่อสร้างโครงการของภาครัฐยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะเกิดประมาณปลายปี 2558


อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนม.ค.2558 ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นจากฐานการผลิตที่ต่ำในเดือนม.ค.ของปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ากลุ่มเส้นใยสิ่งทอ จะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 1.95% จากคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียน โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม


อุตสาหกรรมอาหาร ในเดือนม.ค.2558 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.4% เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ และน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลง 6.8% แต่ยังมีแนวโน้มดีจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า