'ก.ม.จัดระเบียบม็อบ'ฉลุย ล็อกพื้นที่ห้ามชุมนุม-กำหนดโทษ

'ก.ม.จัดระเบียบม็อบ'ฉลุย ล็อกพื้นที่ห้ามชุมนุม-กำหนดโทษ

(รายงาน) "เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังไม่ทำตามกฎหมายอย่างเดียว เพราะเจ้าหน้าที่ต้องอดทน" วิษณุ เครืองาม

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ....ในวาระแรก โดยมีสาระสำคัญ คือ การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ฯหรือสถานที่พำนักของพระราชคันตุกะ จะกระทำมิได้


นอกจากนี้การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้ในการชุมนุมสาธารณะในพื้นที่นั้น โดยให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในการประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบสถานที่ดังกล่าวได้


ส่วนผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา และสถานที่ด้วย


ในกรณีที่ผู้ชุมนุมกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะร้องขอต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งเลิกการชุมนุม และในระหว่างการรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น หากมีการฝ่าฝืนให้ประกาศพื้นที่นั้นเป็นพื้นควบคุมและให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด


สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนได้กำหนดโทษไว้ 9 กรณี ซึ่งมีทั้งจำและปรับ โดยมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ว่า เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน โดยสอดคล้องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น


ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สนช. อภิปรายสนับสนุนว่า เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลพยายามทำกฎหมายขึ้น หลังจากที่มีปัญหาเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่มีข้อสังเกต คือ คำนิยามในมาตรา 4 ที่สาธารณะ ให้รวมทางหลวงและทางสาธารณะไว้ด้วย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเคยมีร่างพ.ร.บ.ทางหลวงเสนอเข้ารัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2549 การที่ให้ประชาชนต้องขออนุญาตเพื่อชุมนุมบนทางหลวง เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงไม่แน่ใจว่าแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไว้เมื่อปี 2549 จะมีผลกระทบต่อกฎหมายฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน


ส่วนคนที่ทำหน้าที่ควบคุมการชุมนุม โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดระยะรัศมีการชุมนุมไม่เกิน 50 เมตร รอบสถานที่สำคัญทั้งรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำได้บางกรณี ดังนั้นการชุมนุมหน้ารัฐสภาจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่หรือการชุมนุมเล็กๆ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่มากเกินไปหรือไม่ นอกจากนี้เรื่องอำนาจของศาลในการดูแลเรื่องการชุมนุม ไม่ควรให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แต่ควรเป็นอำนาจของศาลปกครอง


"ร่างพ.ร.บ.นี้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ใช้ดุลยพินิจต้องยึดหลักการเรื่องการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เพราะถือเป็นสิทธิของประชาชน หากไม่ยึดหลักการนี้การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย" นายสมคิด ระบุ


นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล สนช.กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการชุมนุมแต่ละครั้ง ผู้ชุมนุมต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 72 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมอำนวยความสะดวกในการจัดการจราจรในพื้นที่โดยรอบ และแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ไม่ใช่แจ้งล่วงหน้าแค่ 24 ชั่วโมงตามที่พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนด นอกจากนี้การชุมนุมต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเช่น สถานศึกษา มิเช่นนั้นผู้ชุมนุมอาจใช้ช่องว่างอ้างชื่อสถานศึกษามาชุมนุมได้ รวมถึงต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนในกฎหมายว่า สถานการณ์เช่นใดที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าสลายการชุมนุมได้


จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสรุปว่า การจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยึดหลัก 4 ข้อเพื่อคุ้มครองผู้ชุมนุมให้มีความมั่นใจในการชุมนุมคือ


1.กฎหมายนี้ไม่ได้ระบุว่า การชุมนุมต้องไปขออนุญาตการชุมนุม แต่ให้ไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า จะมีการชุมนุม เพื่อบอกให้รู้ว่าจะชุมนุมในวันใดถึงวันใด เพื่อเตรียมการรับมือและอำนวยความสะดวก
2.กฎหมายนี้ส่งเสริมให้มีการจัดสถานที่ชุมนุม โดยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นทั้งในกทม.และต่างจังหวัด เมื่อไปชุมนุมตามสถานที่จัดไว้ ก็ไม่ต้องแจ้งว่าจะชุมนุม 3.กฎหมายนี้ให้หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพว่า เจ้าหน้าที่จะไปสลายการชุมนุมไม่ได้ แม้จะเป็นการชุมนุมที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำได้เพียงเข้าไปเตือนเท่านั้น การจะสลายการชุมนุมได้ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลอนุญาต


4.กฎหมายนี้ไม่ใช่เครื่องมือวิเศษสุด เพราะมีคนถามว่า เมื่อมีกฎหมายนี้การชุมนุมยังมีหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าการชุมนุมยังมีอยู่ และอาจมากขึ้น แต่การชุมนุมจะมีระเบียบมากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ทราบแล้วว่า จะต้องจัดการอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังไม่ทำตามกฎหมายอย่างเดียว เพราะเจ้าหน้าที่ต้องอดทน และผ่านการอบรมการควบคุมฝูงชนมาแล้ว รวมถึงมีการจัดทำแผนและมาตรการควบคุมการชุมนุม โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นผู้จัดทำ เพื่อส่งให้ครม.เห็นชอบ เพื่อเป็นคู่มือใช้ในการควบคุมฝูงชน นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ใช้กับการชุมนุมที่เรียกร้องเรื่องแรงงานของบริษัทต่างๆ การชุมนุมที่เกี่ยวกับศาสนา และการชุมนุมภายในสถานศึกษา


"ข้อสังเกตและข้อห่วงใยของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบทลงโทษที่สนช.ยังเห็นว่า มีความลักลั่นกันอยู่ หรือในเรื่องของการกำหนดขอบเขตการชุมนุมในพื้นรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ที่ร่างพ.ร.บ.กำหนดให้ชุมนุมในรัศมีการชุมนุมไม่เกิน 50 เมตร สามารถที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้"


จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการในวาระ 1 ด้วยคะแนน 182 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 โดยให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 22 คน เพื่อดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน