จี้แก้กม.กสทช.คงองค์กรอิสระ

 จี้แก้กม.กสทช.คงองค์กรอิสระ

จี้แก้กม.กสทช.คงองค์กรอิสระ "สุภิญญา" ย้ำใช้แผนแม่บทเดิม ยึดกรอบเวลาเรียกคืนคลื่นความถี่

วานนี้ (26 ก.พ.) คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จัดเสวนา “อนาคต กสทช.ในยุคปฏิรูปสื่อ” หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ รวมทั้งการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... (ร่างพ.ร.บ.กสทช.) เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา

นายเทพชัย หย่อง ประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป และนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีภาคประชาสังคม องค์กรวิชาชีพ และภาคประชาชน ร่วมกันคัดค้านและเสนอความเห็นให้ปรับปรุงร่างกฎหมายดิจิทัล ที่เกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งหน่วยงานที่จัดร่างกฎหมายดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยระบุว่าได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์ ซีเคียวริตี้

ขณะที่การแก้กฎหมาย กสทช. ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ซึ่งหลักการแก้ไขกฎหมาย กสทช. มีประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเริ่มต้นไว้ในปี 2540 ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการจัดตั้ง “องค์กรอิสระ” มาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่กิจการโทรคมนาคม วิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งการกำกับดูแล

“ร่างแก้ไขกฎหมาย กสทช. ทำให้ความเป็นอิสระของกสทช.หมดไป ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะหากบทบาทหน้าที่ กสทช.เป็นเพียงกลไกหนึ่งของคณะกรรมการดิจิทัล จะไม่ต่างจากการเป็นเครื่องมือของภาครัฐ ที่จะเปิดช่องให้แสวงหาประโยชน์ได้” นายเทพชัย กล่าว

ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันเสนอกลไกการปรับเปลี่ยน กสทช. ในอนาคต ให้ยังคงทำหน้าที่องค์กรอิสระ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ กำกับดูแล ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ที่ภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบการทำงาน โดยคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จะรวบรวมความคิดเห็นแนวทางการแก้ไขร่างกฎหมาย กสทช. เพื่อเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อไป

คงแผนแม่บทคืนคลื่นความถี่ฯ

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมาย กสทช. ต้องการให้รักษาหลักการ “แผนแม่บทคลื่นความถี่” ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการรายเดิมต้องส่งคืนคลื่นฯ ในกิจการวิทยุ 5 ปี ,โทรทัศน์ 10 ปี และโทรคมนาคม 15 ปี ซึ่งถือเป็นการกำหนดวันสิ้นสุดการถือครองคลื่นฯของหน่วยงานภาครัฐ ที่เกิดจากกระบวนการปฏิรูปสื่อตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

“หากการแก้ไข กฎหมายกสทช. ไม่รักษาหลักเกณฑ์ แผนแม่บทฯดังกล่าวไว้ สุ่มเสี่ยงที่หน่วยงานรัฐ จะครอบครองคลื่นฯ ต่อไป”

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงอำนาจการจัดสรรคลื่นฯ ประเภทสาธารณะ ภายใต้คณะกรรมการดิจิทัล อาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรกิจการโทรทัศน์ระบบสาธารณะและชุมชน ซึ่งหากพิจารณาให้หน่วยงานรัฐได้รับคลื่นฯ โดยไม่กำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติ ให้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรทีวีดิจิทัล สาธารณะ ต้องดำเนินการเอง อาจเกิดกรณี “สัมปทานจำแลง” ขึ้นได้ โดยหน่วยงานรัฐ อาจดำเนินการในลักษณะว่าจ้างเอกชนให้มาร่วมผลิต ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ในปัจจุบัน ที่ต้องแข่งขันประมูลด้วยงบลงทุนสูง และทีวีดิจิทัล สาธารณะ อาจกลายมาเป็นคู่แข่งหารายได้กับทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ

ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบกิจการประเภทช่องทีวีดาวเทียม และช่องเคเบิลทีวี ในกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 2 ปี ระยะเวลาดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงในการประกอบกิจการอยู่แล้ว และอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการให้ใบอนุญาตในกิจการดังกล่าว ที่ กสทช.ดำเนินการไว้

ที่ผ่านมาการทำงานของ กสทช. มีทั้งเรื่องที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในทางที่ดี คือการเปลี่ยนรูปแบบจากระบบสัมปทานเป็นใบอนุญาตที่มีระยะเวลาการใช้คลื่นความถี่ชัดเจน และดึงคลื่นความถี่ฯ ในมือรัฐ มาจัดสรรใหม่ในรูปแบบการประมูล

ขณะเดียวกันการบริหารของ กสทช. มีเรื่องที่ต้องปรับปรุงเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้งบประมาณ ที่สังคมตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพด้านการใช้จ่ายงบ รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. ดังนั้นการแก้ไขกฎหมาย กสทช. จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน

สปช.ย้ำ กสทช.คงองค์กรอิสระ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สปช. พร้อมรับฟังข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปสื่อที่หลากหลาย ของกลุ่มต่างๆ ที่เป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อนำไปหารือกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สปช. ขณะนี้ กมธ.ปฏิรูปการสื่ออยู่ในขั้นตอนการศึกษาแนวทางและข้อเสนอต่างๆ เพื่อสรุปเป็นแนวทางด้านการปฏิรูปสื่อ

“สังคมมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการกฎหมายดิจิทัล และกฎหมาย กสทช. ว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนชน และสื่อมวลชน โดยเฉพาะ กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระ แม้ที่ผ่าน กสทช. จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องเป็นองค์กรอิสระต่อไป และดีกว่าการให้ กสทช.ไปขั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและฝ่ายการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อ และกระทบต่อเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลของประชาชนด้วย”