สั่งลดขั้นตอน'เบิก-จ่าย'งบ ดันเศรษฐกิจครึ่งหลัง

สั่งลดขั้นตอน'เบิก-จ่าย'งบ ดันเศรษฐกิจครึ่งหลัง

"ประยุทธ์" สร้างความมั่นใจนักลงทุน ดันธุรกิจไทยสู่ความ"มั่งคั่ง-ยั่งยืน" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง สั่งลดขั้นตอนเร่งเบิกจ่ายเร็วขึ้น

เดินตามโรดแมป 5 ปี "ปรีดิยาธร" พอใจเบิกจ่ายกระเตื้อง ตั้งเป้าเดือนมี.ค.เบิกจ่ายเพิ่มเตรียมรายงาน"ครม."สัปดาห์หน้า


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ธุรกิจไทยสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนด้วยมาตรฐานสากล" ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวานนี้ (26 ก.พ.) โดยกล่าวย้ำว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้อัดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 หมื่นล้านบาท ในการซ่อมแซมถนนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น


ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ เพื่อทำให้การเบิกจ่ายเร็วขึ้น โดยปรับปรุงการเบิกจ่ายจากเดิมที่มีถึง 6 ขั้นตอน โดยลดขั้นตอนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเข้มงวดกับการตรวจสอบปัญหาการคอร์รัปชัน โดยจะเผยแพร่กำหนดการประมูลโครงการต่างๆ ขึ้นในเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบความคืบหน้า และความโปร่งใสได้


ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 20 % ส่วนไตรมาส 2 คาดจะเบิกจ่ายได้อีก ประมาณ 30%


"การซบเซาของเศรษฐกิจไทย ช่วงที่ผ่านมา มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยกระตุ้น การเบิกจ่ายต่างๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังให้ฟื้นตัวได้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


ส่วนการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของต่างประเทศ ยังมีทิศทางที่ดี เห็นได้จากจำนวนเที่ยวบินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะสร้างความมั่นใจ โดยตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือ หากนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเงินกองทุนที่มีอยู่ 200 ล้านบาท เข้าไปเยียวยาทันที


วางแผน 5 ปีเน้นความมั่งคั่ง-ยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการพัฒนาประเทศไทย รัฐบาลได้วางแผนการพัฒนาในช่วง 5 ปี ข้างหน้าให้เน้นความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต้องมีการปฏิรูปภาคส่วนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นของต่างประเทศ


อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับผู้นำในหลายประเทศ พบว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย มีการทำสนธิสัญญาการค้ากับหลายประเทศ แต่ไม่ได้ทำตามสนธิสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้


"เมื่อผมรับทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงต้องเร่งแก้ไข โดยผมได้หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเร่งทำตามสนธิสัญญาต่างๆ ส่งผลให้หลายประเทศให้การตอบรับที่ดี และได้รับคำชมว่าเป็นรัฐบาลเดียว ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการทำตามพันธสัญญา"


ส่วนประเทศที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไทยช่วงที่ผ่านมา ประเทศเหล่านั้น ยังคงสั่งซื้อสินค้าจากไทยตามปกติ ขณะเดียวกันภาคเอกชนของประเทศดังกล่าว ยังเข้าหารือ เพื่อหาแนวทางมาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดมุ่งหมายของตนต้องการให้ไทยเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียน


ไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องต่อรอง
ขณะเดียวกัน การทำสนธิสัญญา หรือข้อตกลงทางการค้าหลังจากนี้ ไทยต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องเงื่อนไขการต่อรองมากขึ้น ที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ประเทศไหนต้องการสิทธิประโยชน์อะไรก็พร้อมจะให้ทั้งหมด ในขณะที่ไทยไม่ได้ประโยชน์อะไร


หลังจากนี้หากมีประเทศไหน จะเข้ามาหารือต้องถามว่า จะให้ประโยชน์ไทยในเรื่องใดบ้าง ที่ผ่านมาการเจรจาในลักษณะนี้ ได้รับผลการตอบรับที่ดี นอกจากนี้การถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ เอฟทีเอ ประเทศไทยต้องปรับกลยุทธ์มากขึ้น โดยใช้วิธีการไทยแลนด์พลัสวัน ประเทศไทยจับคู่กับประเทศเมียนม่า โดยใช้วิธีการให้ไทยเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศใกล้เคียง เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วนในไทยอาจใช้เป็นสำนักงาน หรือเป็นที่เจรจาการค้า


เน้นจัดสรรแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่านอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญ กับภาคธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ เข้าถึงแหล่งทุนได้ยากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้ เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


นอกจากนี้ ไทยต้องจัดสรรแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลได้จัดการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ พบว่า มีผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนแล้วมากกว่า 1.5 ล้านราย ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางให้แรงงานต่างด้าว สามารถเคลื่อนย้ายเปลี่ยนภูมิลำเนาในการทำงานได้ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีอยู่


สำหรับการลงทุน รัฐบาลยังเดินหน้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกับลาว และรถไฟจากภาคตะวันออกไปยังภาคตะวันตก ที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น การพัฒนาระบบทางรถไฟทางคู่ ต้องมีต่อไปแน่นอน โดยเฉพาะรางแบบ 1 เมตร แต่ต้องพัฒนาให้แข็งแรง บรรทุกสินค้าได้น้ำหนักมากขึ้น


สั่งหารือเอกชนลงทุนรถไฟเร็วสูงพัทยา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ามีเอกชนไทยให้ความสนใจเข้าลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงไปยังพัทยา เป็นในลักษณะการลงทุนแบบพีพีพี อาจมีการกู้เงินจากต่างประเทศบางส่วน ตนจึงสั่งให้กระทรวงคมนาคม เข้าไปหารือกับกลุ่มเอกชนดังกล่าว


ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำ ยังเดินหน้าเช่นเดิม แต่การอนุมัติการจัดทำโครงการต่างๆ จะไม่ทำในลักษณะโมดูล ที่อนุมัติโครงการไปให้ภาคเอกชนหรือต่างประเทศดำเนินการกันเอง เพราะยังมีรายละเอียดในหลายส่วน เช่น การย้ายประชาชนในพื้นที่ออกนอกพื้นที่ ต้องใช้ความระมัดระวัง


สำหรับความเข้มแข็งของตลาดทุนไทย ปัจจุบันมีทิศทางที่ดี มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงกว่าจีดีพี มูลค่าการซื้อขายต่อวันสูงที่สุดในอาเซียน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ขณะเดียวกันด้านการพัฒนาคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาค่อนข้างมากและหลายคนมองว่าเกิดจากการไม่มีหลักเกณฑ์ควบคุมที่จริงจัง แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าหลักเกณฑ์การกำกับดูแลมีอยู่จำนวนมาก แต่ไม่มีการบังคับใช้จริง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ ดัชนีหุ้นที่ดิ่งตัวลงกว่า 20 จุด แต่ระหว่างปาฐกถาปรากฏว่า ดัชนีหุ้นไทยกลับกระเตื้องขึ้น สามารถปรับตัวขึ้นมาอยู่ในแดนบวก ก่อนปิดที่ระดับ 1593.55 จุด เพิ่มขึ้น 4.22 จุด


"ปรีดิยาธร"เผยเบิกจ่ายน่าพอใจ
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณว่า การเบิกจ่ายงบขณะนี้ น่าพอใจโดยข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา เบิกจ่ายได้ 1,006,115 ล้านบาท หรือคิดเป็น 47.3% โดยเป้าเดือน มี.ค.เบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำอยู่ที่ 60% ส่วนรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายแล้ว 73,782 ล้านบาท คิดเป็น 16.4% โดยเป้าเดือนมี.ค. จะเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 30%


ขณะที่งบประมาณที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีงบเบิกจ่ายไปได้ 110,211 ล้านบาท หรือ 31.9% โดยภายในเดือน มี.ค.จะเบิกจ่ายให้ได้ 45% ส่วนงบกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ทำสัญญาเบิกจ่ายแล้ว 3,574 ล้านบาท คิดเป็น 15% โดยเดือน มี.ค.จะเบิกจ่ายให้ได้ 28.3%


"ภาพรวมเบิกจ่ายก้าวหน้า โดยการนำเงินจ่ายเข้าระบบเศรษฐกิจทั้งงบประมาณประจำ และงบประมาณในการลงทุนทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา บางส่วนมีเรื่องติดขัด เช่นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการตั้งราคากลางใหม่ แต่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ และการลงไปเร่งรัดระดับพื้นที่ โดยความคืบหน้าเบิกจ่าย จะรายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบในวันที่ 3 มี.ค.นี้"


ภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ ต้องจับตาดูทุกปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากเบิกจ่าย การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก การที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% การส่งออกต้องไม่ติดลบ เพราะที่ส่งออกติดลบไปฉุดการลงทุนในประเทศ เพราะปริมาณสินค้าคงคลัง สต็อกสินค้าที่จะผลิต หรือนำเข้าสินค้าจะลดลง
ส่งออกยังอ่อนแอเหตุตลาดโลกชะลอ


ขณะนี้ภาคการส่งออก ยังอ่อนแออยู่จากภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น หลังจากได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว เพราะทราบดีถึงภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลักของไทยทั้งยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยถึง 70%


"ขอดูการส่งออกอีกเดือน ถ้าส่งออกติดลบติดต่อกันใจ จะไม่ค่อยดี เพราะไปฉุดเศรษฐกิจตัวอื่นด้วย แม้เบิกจ่ายจะดีขึ้น แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวอยู่ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้เพียง 6% จากเดิมขยายตัวได้ 8% จึงส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ต้องดูแลการใช้จ่ายในประเทศให้ดีนโยบาย อะไรที่ไปลดการใช้จ่ายในประเทศ ต้องคิดแล้วคิดอีก" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าเรื่องนโยบายการเงิน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้โดยตรงทันที เพราะการลงทุนภาคเอกชน ต้องมั่นใจการขายสินค้าและการทำกำไร การลงทุนจะเกิดขึ้นได้ เพราะการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งการบริโภคดีขึ้น หากเทียบการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้น


ชี้บาทอ่อนไม่ส่งผลต่อส่งออก
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน ขณะนี้นโยบายทางการเงินแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทำให้ค่าเงินอ่อน และแข็งแตกต่างกันไป ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก เพราะหลายประเทศมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อที่ชะลอตัว การแก้ปัญหาโดยการไปกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน จึงต้องระวังผลกระทบอื่นๆ เช่น ค่าเงินที่อ่อนทำให้ราคาน้ำเข้าน้ำมันแพงขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งต้องระมัดระวังส่วนนี้ด้วย ต้องมองภาพรวมทั้งหมด
"อย่าเข้าใจผิดว่า นโยบายการเงินเป็นสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตอนนี้เรื่องดอกเบี้ยผมปล่อยให้เขาคิดกันเอง เพราะเขาไม่ได้คิดคนเดียวเป็นรูปของคณะกรรมการที่จะตัดสินใจ ส่วนการลดดอกเบี้ย ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายมากนัก แต่มีผลดีถ้ากระตุ้นการลงทุน แต่อีกหนึ่งคนจะเป็นหนี้มากขึ้น ซึ่งแบบนั้นไม่ดีแน่ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่การลงทุนที่เพิ่มขึ้น มาจากการบริโภคที่มากขึ้น การส่งออกที่มากขึ้น ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพราะเอกชนต้องลงทุนเพิ่มทั้งในสินค้าคงคลังและเครื่องจักร"