ไอซีทีรุกถก'บอร์ดดิจิทัล อีโคโนมี'กลางมี.ค.นี้

ไอซีทีรุกถก'บอร์ดดิจิทัล อีโคโนมี'กลางมี.ค.นี้

"พรชัย" ขอนายกฯ ตั้งบอร์ดชั่วคราวดิจิทัล อีโคโนมี เตรียมความพร้อมวางแผนงานเดินหน้ากระทรวงใหม่คาดเสร็จ พ.ค.นี้

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เป็นบอร์ดชั่วคราวเพื่อเตรียมความพร้อมการวางโครงสร้างแผนงานเพื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หากไม่ตั้งคณะกรรมการชั่วคราวจะเดินหน้าแผนงานไม่ได้ โดยคาดว่ากฎหมายน่าจะแล้วเสร็จเดือนพ.ค.นี้

"บอร์ดดีอีนั้นเดิมท่านนายกฯ ต้องการให้รอกฎหมายเสร็จก่อน ค่อยตั้งคณะกรรมการ แต่ดูแล้วถ้ารอคงช้า จึงตั้งบอร์ดชั่วคราว โดยจะประชุมนัดแรกกลางมี.ค.นี้"

บอร์ดดีอีจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีคณะกรรมการดีอีทั้งสิ้น 32 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำพ.ร.บ. ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และตัวแทนจากภาคเอกชน

ขณะที่ วานนี้ (25 ก.พ.) นายพรชัย ได้ประชุมร่วมกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อกำหนดแผนงาน ทิศทางบริหารงานดาวเทียมทุกดวงที่มีอยู่ในวงโคจรตามสิทธิ์ที่ไอซีทีได้รับจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เบื้องต้นคาดว่าแผนงานกิจการอวกาศทั้งหมดจะเสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่วาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เขา ระบุว่า แผนกิจการอวกาศแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.กำหนดทิศทางบริหารวงโคจรดาวเทียมที่ปัจจุบันมี 7 วงโคจร มีดาวเทียมให้บริการ 4 ดวง คือ ไทยคม 5 และ 6 ในตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ไทยคม 7 ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก และไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก มีทั้งใช้งานอยู่และหมดอายุแล้ว โดยคณะกรรมการจะพิจารณาว่ามีวิธีใดที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

2. แนวทางจัดการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ตามคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยพิพากษาให้เป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สรุปว่าจะทำอย่างไรกับดาวเทียมดังกล่าว และ 3.การทำดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อให้บริการความมั่นคงและบริการสาธารณะโดยให้คณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติไปศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างดาวเทียมภาครัฐ 1 ดวง เพื่อให้บริการความมั่นคงและสาธารณะ

ดังนั้น เดือนเม.ย.นี้ ไอซีทีจะเรียกบมจ.ไทยคมมาหารือเกี่ยวกับแผนการบริหารงานไอพีสตาร์ว่า จะให้ไอพีสตาร์อยู่ในสถานะอะไร ทั้งดาวเทียมสำรองไทยคม 3 ตามที่ไทยคมอ้าง หรือเป็นดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นมาเลย หากไอซีทีและไทยคมสรุปร่วมกันได้ อาจเจรจาเพื่อร่างสัญญาแนบท้ายขึ้นใหม่กำหนดอัตราการจ่ายค่าธรรมเนียมหากสรุปให้เป็นดาวเทียมดวงใหม่ แต่หากกำหนดร่วมกันให้เป็นดาวเทียมสำรองไทยคม 3 ก็จ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานต่อไป

อีกทั้ง ยังมีประเด็นเรื่องการให้ใบอนุญาตดาวเทียมไทยคม 7 เพราะปัจจุบันไทยคมถือใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมเพื่อการสื่อสารจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพียงอย่างเดียว แต่ตามจริงนั้นไทยคมต้องมีใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่จากไอซีที และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้แก่ไอซีทีด้วย