'คลัง'ปรับลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง กูรูหนุนกันคนเลี่ยง

'คลัง'ปรับลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง กูรูหนุนกันคนเลี่ยง

"ปลัดคลัง" เผย ปรับเพดานภาษี"ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างใหม่" โดยที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเก็บไม่เกิน 0.25% ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 0.5%

เชิงพาณิชย์ไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าเก็บไม่เกิน 0.5% เพิ่ม 1 เท่าทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% และยกเว้นที่ดินเพื่ออยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ด้านนักวิชาการหนุน เหตุสัดส่วนรายได้รัฐบนฐานทรัพย์สินต่ำ ชี้ควรออกแบบจัดเก็บให้ชัดเจน ปิดช่องโหว่คนเลี่ยงภาษี


นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยระหว่างวงเสวนาเรื่องกฎหมายภาษีทรัพย์สิน : การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ จัดโดยโครงการนิติเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า กระทรวงการคลังได้ปรับปรุงอัตราเพดานจัดเก็บภาษี ในร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ โดยที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จัดเก็บไม่เกิน 0.25% จากเดิมกำหนดไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน


ส่วนที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย จัดเก็บไม่เกิน 0.5% จากเดิมไม่เกิน 1% ของราคาประเมิน ส่วนที่ดินอื่นๆ เช่น ที่ดินเชิงพาณิชย์ จัดเก็บไม่เกิน 2% จากเดิมไม่เกิน 4% ของราคาประเมิน สำหรับที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า จะจัดเก็บไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน และจะเพิ่มอีก 1 เท่าในทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 2%


"อัตราภาษีดังกล่าว เป็นการปรับปรุงล่าสุด หลังจากได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หากเรากำหนดเพดานไว้สูง แต่จัดเก็บจริงในอัตราต่ำ ก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ทำให้ผู้เสียภาษีตื่นตระหนก ทำให้เราปรับปรุงเพดานนี้ลงมา อัตรานี้เป็นอัตราตุ๊กตาที่จะเตรียมเสนอต่อรัฐบาล"นายรังสรรค์ กล่าว
ยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยไม่เกิน1ล้าน


สำหรับเกณฑ์การยกเว้นนั้น นายรังสรรค์ กล่าวว่า หลักการจัดเก็บภาษี เพื่อสร้างความเป็นธรรมและสร้างรายได้ให้รัฐบาล โดยไม่ยกเว้นให้มาก แต่คำนึงถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก เบื้องต้น ยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 3 ล้านบาท ต้องเสียา 50% ของอัตราที่กำหนด ส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท เสียเต็ม 100%


นอกจากนี้ ยังกำหนดการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับสถานที่ราชการ วัด สาธารณะสมบัติ ที่ดินยูเอ็น สถานทูต สภากาชาดไทย ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้หาประโยชน์ สุสาน และที่ดินเอกชนที่ใช้ในราชการ โดยการยกเว้นนี้จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา


วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บทำให้เกิดการเรียกรับประโยชน์ ขณะที่ การจัดเก็บภาษีตามร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะจัดเก็บตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ซึ่งขณะนี้ กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการประเมิน คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี


การจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงภาษีบำรุงท้องที่ มีสัดส่วนน้อย หรือ 8-9% ของรายได้ท้องถิ่น รวมที่รัฐจัดสรรไปให้ โดยปี 2556 ท้องถิ่นมีรายได้รวม 5.7 แสนล้านบาท ปี 2557 ท้องถิ่นมีรายได้ 6.2 แสนล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เองเพียง 8-9%


รัฐมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีต่ำ
ด้าน นายลวรรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี 18-19% ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนรายได้ 35% ต่อจีดีพี และต่ำกว่า 10 ประเทศในอาเซียนที่มีสัดส่วนรายได้เฉลี่ย 21% ต่อจีดีพี ขณะที่โครงสร้างรายได้รัฐอยู่บนฐานภาษี 3 รายการหลัก ได้แก่ 1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล 2. ภาษีสรรพสามิต และ 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่การจัดเก็บรายได้บนฐานทรัพย์สินปัจจุบันมีสัดส่วนที่ต่ำ หรืออยู่ที่ 1% ของรายได้รวม การนำแนวทางการจัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินในร่างกฎหมายภาษีที่ดิน จึงสำคัญต่อการสร้างรายได้ให้กับรัฐอีกทางหนึ่ง


ในร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะกำหนดรายละเอียดชัดเจน เกี่ยวกับการจัดเก็บ เช่น ประเภทของสิ่งปลูกสร้างมีกี่แบบ เพื่อกำหนดค่าเสื่อมในการคำนวณภาษี โดยกรมธนารักษ์กำหนดประเภทสิ่งปลูกสร้างโดยละเอียด 69 แบบ และบอกถึงการหักค่าเสื่อมแต่ละประเภท เช่น ถ้าเป็นตึกแถว มีอัตราค่าเสื่อมตั้งแต่ปีที่ 1 ของการปลูกสร้าง แต่หลังจากปีที่ 43 จะหักค่าเสื่อมได้เต็มที่ไม่เกิน 76% หมายความว่า มูลค่าของตึกดังกล่าว นับจากปีที่ 43 เป็นต้นไป จะเหลือ 24%


ส่วนกรณีสิ่งปลูกสร้างครึ่งตึกครึ่งไม้ จะเริ่มหักค่าเสื่อมนับจากปีที่ 1 แต่หลังจากปีที่ 22 จะหักค่าเสื่อมที่ 85% หลังจากปีที่ 22 อาคารดังกล่าว จะมีมูลค่าเหลือ 15% ส่วนกรณีที่สิ่งปลูกสร้างเป็นไม้ทั้งหมด จะหักค่าเสื่อมตั้งแต่ปีที่ 1 แต่หลังจากปีที่ 19 จะหักค่าเสื่อมได้ 93% หมายความว่า มูลค่าสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว นับจากปีที่ 19 จะเหลือ 7%


แนะปรับลดภาษีไม่ควรเหวี่ยงแห
ด้านนายสกล วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินดังกล่าว ถือว่า กระทรวงการคลังเดินมาถูกทางแล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเกณฑ์การลดหย่อนในร่างภาษีดังกล่าว ต้องออกแบบให้ดี เพราะถือเป็นหัวใจในการป้องกันไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการหลบเลี่ยงในอนาคต จึงเสนอให้ปรับลดในบางกลุ่ม ไม่ควรเหวี่ยงแหในการลดหย่อน


ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ให้นำรายจ่ายภาษีดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีอื่น รวมถึง พิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการซื้อขายทรัพย์สินได้หรือไม่ เพื่อลดกระแสความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะถือเป็นรายจ่ายของผู้ที่มีทรัพย์สิน


นักการเมืองครองที่ดินเฉลี่ย71ไร่ต่อคน
นางสาวดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันการถือครองทรัพย์สินในไทยมีการกระจุกตัว โดย 20% ของครัวเรือนถือครองทรัพย์สินเกินกว่า 50% และ 80% ของครัวเรือนถือทรัพย์สินต่ำกว่า 50% ของทรัพย์สินทั้งหมด


ทั้งนี้ พบว่า นักการเมืองเป็นกลุ่มที่ถือครองที่ดินจำนวนมากสุด หรือเฉลี่ย 71 ไร่ต่อคน ถือว่า เป็นระดับที่มีนัยสำคัญ เพราะมีผลต่อการผ่านร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ส่วนกรณีการถือครองในหลักทรัพย์ พบว่า 10 อันดับแรกระหว่างปี 2552-2556 ถือครองมูลค่าหุ้น 2.1 แสนล้านบาท สะท้อนการกระจุกตัวด้านการถือครองหลักทรัพย์


ร่างภาษีที่ดินจะมาทดแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้อง ที่ที่มีความบกพร่องการจัดเก็บอยู่มาก โดยผู้เข้าข่ายเสียภาษีคือผู้ที่มีทรัพย์สิน ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะเก็บภาษีนี้ ปัจจุบันการเก็บรายได้บนฐานทรัพย์สินมีน้อย หรือ 0.2% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จัดเก็บรายได้ 0.5% ของจีดีพี และกว่า2% ของจีดีพีสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว


หนุนรัฐมีความมั่งคั่ง
ดังนั้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีจากความมั่งคั่งจริง ราคาประเมินที่ดินจะได้ปรับปรุงเป็นปัจจุบันมากขึ้น ลดการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ เพิ่มรายได้ท้องถิ่น ช่วยขยายฐานภาษีคาดรัฐมีรายได้ระยะแรกปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท อัตราจัดเก็บไม่มีลักษณะถดถอย ช่วยกระจายอำนาจการคลัง เป็นประโยชน์ต่อการใช้ที่ดิน
ส่วนจะมีผลต่อการกระจายการถือครองที่ดินหรือไม่ เธอเห็นว่า ไม่มีผลมาก เพราะอัตราภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ ไม่ช่วยให้เกิดการกระจายการถือครอง แต่ระยะยาวอาจมีผลบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราภาษีและราคาที่ดิน