ชีวิต 'ติดกับ' เหมือง

ชีวิต 'ติดกับ' เหมือง

หลายชีวิตที่ต้องถูกนำไปแลกกับทองคำ ผลกระทบที่ไม่เคยจำจาก “เหมืองใหญ่”

            ปี 2538 คือ จุดเริ่มต้นของการสำรวจแร่ทองคำบนพื้นที่มากกว่าพันไร่ในเขตรอยต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และนำไปสู่การได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

            ระหว่างช่วงเวลา 20 ปีมานี้ ฉากใหญ่ของภูเขาอันอุดมสมบูรณ์ที่มีใต้ดินเป็นทรัพย์มูลค่ามหาศาล ได้มีตัวละคร ทั้งนายทุน นักการเมืองระดับท้องถิ่น (และระดับชาติ) นักวิชาการ ชาวบ้าน นักเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่รัฐ สับเปลี่ยนกันแสดงนำ

            ภายใต้ร่มเงาของยอดไม้ที่ค่อยๆ หายไป เหมืองแร่ทองคำชาตรีได้ขยับขยายขึ้นเรื่อยๆ พร้อมการประกาศว่า จะสนับสนุน "เศรษฐกิจ" และ "ความเป็นอยู่" ของชุมชน

            ...แต่เรื่องไม่ได้ดำเนินไปง่ายเช่นนั้น

            หลายปีผ่านมา เกิดการฟ้องร้องเหมืองที่ดำเนินกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายเรื่อง เริ่มมีชาวบ้านในพื้นที่เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ จนเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการตรวจพบสารปนเปื้อนในเลือดของชาวบ้านรอบเหมือง นำไปสู่การสั่งปิดเหมืองชั่วคราวเพื่อหา “ความจริง”

            “เราจะให้เขาทำเหมืองต่อโดยที่เราไม่ได้รับการรักษา ไม่ได้รับการดูแล ผมว่า มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไปหน่อย” ใครบางคนพูดขึ้นระหว่างการหารือของหมู่บ้านดงหลง ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ หมู่บ้านที่ห่างจากตัวเหมืองไม่ถึง 2 กิโลเมตร

            “ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ใครผิดใครถูก แต่ตอนนี้ชาวบ้านได้รับสารแล้ว เราต้องรักษาตัว” อีกคนส่งเสียง...

            แม้ยังไม่แน่ชัดถึงที่มาของอาการป่วย และสารพิษ แต่ผลของข้อขัดแย้งนี้ก็ไม่ได้มีฝ่ายเดียวที่แบกรับอยู่ หลายชีวิตกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจเลี่ยง

 

อยู่ๆ ก็ระเบิด

          “อยู่มาตั้งแต่เกิด เมื่อก่อนไปหาหน่อไม้ ผักชะอม ผักหวานบนเขา ถึงหน้านี้ต้องขึ้นเขากันแล้ว” สุขใจ ปั้นขวด ชาวบ้าน ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง วัย 43 ปี เล่าถึงชีวิตตัวเองเมื่อกว่า 20 ปีก่อนที่มี "เขาหม้อ" เป็นแหล่งอาหาร เมื่อก่อนเขาเองเคยทำนาโดยเช่าบริเวณรอบเหมือง แต่ปัจจุบันได้หันมาทำอาชีพรับจ้างแล้ว

            “เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรจะให้กิน” เจ้าตัวให้เหตุผล

            ที่สุขใจ และชาวบ้านละแวกเดียวกัน ‘ไม่มีอะไรกิน’ ก็เนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ที่ลดลงไป และความหวาดกลัวว่า สิ่งที่กินเข้าไปจะ "ปนเปื้อน"

            ตอนนี้ตัวเขาเองก็ตรวจพบสารหนู และแมงกานีสอยู่ในเลือดจากการตรวจโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อได้รับคำเตือนว่า อย่าเพิ่มสารเข้าไปในร่างกายอีก เขาจึงต้องเปลี่ยน! จากเคยเก็บผักสวนครัวที่อยู่ติดบ้านก็ต้องยอมเสียเงินเพื่อซื้อผักจากที่อื่นกินแทน

            “จากผักที่เราปลูกกินเอง เช่น ข่า ตะไคร้ เขาไม่ให้กิน เราก็ต้องเพิ่มไปแล้ว สิบบาท ยี่สิบบาท รายได้เราไม่เพิ่ม แต่รายจ่ายเราเพิ่ม จากหกสิบบาทถึงร้อย เวลานี้ต้องเป็นสองสามร้อย ตีไปเลยเท่าตัวนึง” อรวรรณ สาลีสุข ชาวบ้านผู้มีอาชีพรับจ้างในพื้นที่เดียวกันบอก

            รายจ่ายค่าอาหารในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นในหลักสิบหรือร้อยทำให้เงินจากการรับจ้างใน 1 วัน เหลือไม่ถึง 50 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้ก็จะต้องแบ่งไว้สำหรับเป็นค่าขนมให้ลูกด้วย

            “ถ้าใครเลือกไม่ได้ ก็ต้องกิน” อรวรรณเล่า เธอยืนยันว่า มีหลายคนที่แม้จะรู้คำเตือนดีว่า ห้ามกินอะไรบ้าง แต่ก็ต้องทำเป็นละเลย เพราะพวกเขา "ไม่มี" จริงๆ

            “ปกติอะไรที่มันมีอยู่ เราก็เอามาทำกิน นี่ชะอมเขาก็ไม่ให้กิน แต่เรากินมาตั้งแต่แรก หมอจะไม่ให้กิน มันก็ห้ามไม่ได้ คนเราไม่ได้มีรายได้เหมือนกันทุกๆ คน ก็ต้องหากินแถวๆ บ้าน” ปรานอม บรรเลิง ชาวบ้าน ต.ท้ายดง วัย 44 ยอมรับ

            “เราสูดเข้าไป ถ้าให้เราหยุดหายใจ เราก็จะหยุด แต่เวลานี้เราหยุดไม่ได้” สุขใจบอกด้วยน้ำเสียงเหมือนจะพูดเล่น แต่สีหน้ากลับจริงจัง

            นอกจากสารพิษในเลือดที่ยังหาต้นตอไม่ได้แน่ชัดว่า มาจากไหน ชาวบ้านในพื้นที่ยังกังวลกับอากาศที่เขาใช้หายใจอยู่ทุกวัน เพราะไม่รู้ว่า พอมีการระเบิดในเหมือง สิ่งที่ลอยออกมาจะมีอะไรปนเปื้อนในอากาศอยู่บ้าง

            “ขี้ฝุ่น ละออง มันมาลงข้าว เราอยู่ไม่ได้ ไปตบดูนี่ก็เห็นเลย” ปรานอมผู้ประกอบอาชีพทำนามาตลอดชีวิตยกตัวอย่าง

            ที่นาเดิมอยู่ติดตีนเหมือง แต่เนื่องจาก “ข้าวไม่เข้าเมล็ด” เขาเลยตัดสินใจขายที่สิบกว่าไร่ของตัวเองเมื่อปี 2552 และย้ายไปเช่านาในพื้นที่อื่นที่ไกลออกไป

            “คลังระเบิดเขาก็อยู่ตรงที่นาด้วยไง ตอนเขาเปิดเหมือง แรกๆ ก็ไม่คิดหรอก คิดว่ามันเป็นผลกระทบจากแมลงอะไรพวกนี้ ฉีดไปฉีดมาแล้วมันก็ยังไม่หาย หลายปีก็ยังเหมือนเดิม หลังๆ รู้สึกว่ามันไม่ไหว ก็ไปให้เขามาดูว่า ต้นข้าวมันเป็นอะไร มันเป็นเม็ดแดงหมดเลย สังเกตกับตา ฝุ่นละอองเต็มต้นข้าว ก็เลยต้องยอมขาย” ปรานอมตัดพ้อ

            ผลกระทบที่เกิดแบบนี้ก็เหมือนกับ “บีบ” เขา ถ้าไม่เกิดเหมือง เขาก็จะมีที่ทำกินได้ตลอดไป

            “มันไม่ใช่เฉพาะการเจ็บป่วยอย่างเดียว” ปรีชา แสงจันทร์ เกษตรกรเจ้าของไร่ถั่ว บ้านคลองตาลัด ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เอ่ย

            เขาบอกว่า ปกติการทำการเกษตรของชาวบ้านสามารถใช้น้ำผิวดินได้ แต่การเกิดของเหมืองอาจทำให้ใช้น้ำผิวดินได้ลดลง ตรงนี้อาจส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้วิถีชาวบ้านที่อยู่กับการเกษตรอาจจะหายไป ซึ่งไม่ได้มีแค่ชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชาวบ้านใกล้เคียงที่เดินทางมาเป็นแรงงานรับจ้างตามไร่ด้วย

 

ไม่มีการระเบิดวันนี้

            “ไม่มีการระเบิดวันนี้” ป้ายแสดงข้อความชัดเจนถูกปักไว้ที่บริเวณข้างทางในบริเวณใกล้เหมืองแร่ทองคำชาตรี เวลาที่เว้นว่างไว้ เป็นสัญญาณกลายๆ ว่า ในวันนี้ที่เหมืองยัง “ปิด” หลังจากได้รับคำสั่งจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) จะยังไม่มีการระเบิดเกิดขึ้นแต่อย่างใด

            “พวกขับรถยักษ์ เขาจะไปทำอะไร จะไปขับที่ไหน รถนอกเหมืองมันไม่มีระบบไฟฟ้าแบบนี้หรอก” วีระเดช ศุภลักษณ์ วัย 48 ปี ช่างวิทยุซ่อมบำรุง บริษัทโลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง จำกัด บริษัทลูกที่ทำงานให้กับเหมืองใหญ่ แสดงความกังวลว่า ถ้าเหมืองต้องปิดไป พวกเขาที่ทำงานอยู่หลายร้อยชีวิตจะทำอย่างไรต่อไป

            วีระเดชบอกว่า สำหรับเขา “เหมืองคือชีวิต” เพราะเขาผูกพันกับงานในเหมืองมาถึง 9 ปี เริ่มต้นตั้งแต่เป็นคนโบกรถธรรมดาๆ เพราะเข้ามาทำงานด้วยวุฒิ ม.3 ได้ไต่เต้าเป็นคนขับแทร็คเตอร์ และปัจจุบันได้เป็นช่างที่มีความรู้เทียบเท่าวิศวกร

            เหมืองสำหรับเขา... จึงเป็นที่ฝึกฝนตัวเอง

            “เช้าขึ้นมาเราก็ต้องคอยเช็คเครื่องไม้เครื่องมือที่เราจะเอาไปเสมอ” วีระเดชบอก

            หน้าที่ประจำคือการซ่อมรถหรือของที่ใช้ไม่ได้ และหน้าที่พิเศษที่ได้รับเพิ่มก็คือ เป็นตัวแทนดูแลความปลอดภัยในการทำงาน ความภาคภูมิใจของเขาเกิดขึ้นที่นี่ และแม้จะลองวางแผนไว้ว่า หากไม่มีเหมืองแล้ว เขาอาจจะเอาความรู้ของการเป็น “ช่าง” ไปทำงานที่อื่น แต่ด้วยความไม่แน่นอน เขาเองก็ไม่อยากให้เหมืองต้องปิด

            “มันหลายอย่างถ้าเหมืองปิดไป ทั้งการดำรงชีวิตของคนงานแต่ละคน รายได้ เงินเดือน ความหวังของลูกที่กำลังเรียน” วีระเดชสะท้อนความเห็น

            “เราเคยทำงานกรุงเทพฯ เป็น รปภ. หรือไม่ก็รับเหมาทำกระเบื้องบ้าง หักค่าใช้จ่ายอะไรเรียบร้อย เหลือไว้ 5,000 ยังไม่ถึงเลย” ใจ พันธุที พนักงานขับรถเจาะในเหมือง วัย 43 ปี ที่มีบ้านอยู่ที่ ต.ท้ายดง พื้นที่ที่อยู่บริเวณเหมืองเสริม

            ใจทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ได้ก็ตัดสินใจกลับมาทำงานที่ภูมิลำเนาเพราะจะประหยัดค่าใช้จ่าย และอยู่ใกล้กับครอบครัว หน้าที่ในเหมืองของใจก็คือขับรถที่ใช้สำหรับเจาะพื้นให้เป็นรูก่อนทำการระเบิด

            “พอผมเข้ามาตรงนี้ ผมสามารถสร้างฐานะผมได้ กินอิ่ม อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องเป็นกังวล”

            แม้ตอนนี้เหมืองจะยังไม่ปิดตายตัว แต่เงินเหลือใช้เขาก็ลดลงจากที่ปกติทุกเดือนเขาจะเหลือเงิน 7,000-8,000 บาท เมื่อเหมืองปิดชั่วคราว เขาเหลือเงิน 3,000-4,000 บาท เอาไว้ให้ลูกและภรรยาใช้

            เช่นเดียวกับ ดาว บัวขำ วัย 58 ปี ชาวบ้าน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่คลุกคลีกับชีวิตในเหมืองมา 14 ปี ตั้งแต่ยังเป็นพนักงานขับรถ จนตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่อบรมกฎระเบียบในการทำงานเหมืองที่มีลูกศิษย์กว่าร้อยคนก็เห็นว่า เหมืองได้ทำให้ฐานะเขาดีขึ้นกว่าเดิมมาก ถ้าไม่มีเหมือง เขาคงไม่มีวันนี้

            “บ้านผมอยู่ไม่ไกลจากเหมืองเลยแค่กิโลฯ เดียว ทุกวันผมขับรถมาแต่เช้า ห้าหกโมง ผมจะออกจากบ้านเลย ในการเป็นผู้นำเขา ผมก็จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แล้วก็ในการเตรียมงานของตัวเองด้วย ผมสอนเขาเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรที่ถูกต้อง” ดาวเล่าด้วยความภูมิใจ

 

ชนวนที่ไร้คนดับ

          เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กพร. ได้สั่งปิดเหมืองทองคำชาตรีต่ออีก 45 วัน ตามมาตรา 125 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2530 เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดให้ได้ว่า เหมืองมีความชอบธรรมหรือไม่

            คำถามคือ สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ จะช่วยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบได้แค่ไหน...

            จิราวรรณ เนียมเอียด นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนเขาทรายทับคล้อพิทยา เล่าสิ่งที่ครอบครัวเธอเผชิญอยู่ว่า “หนูอยู่กับตากับยาย ตาทำงานเหมือง ยายทำนา แม้เขาจะพูดกันว่า มันมีสาร ตาเขาก็ต้องทำ เพราะว่า เขาต้องเอาเงินมาส่งเลี้ยงหนู”

          จิราวรรณอยู่กับตาและยายที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ห่างกับตัวเหมือง 1 กิโลเมตร เธอบอกว่า ถ้าตาเสร็จงานจากเหมืองก็จะมาช่วยยายทำนาเป็นปกติ สำหรับเธอ เหมืองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เธอเองยังเคยได้รับทุนการศึกษาจากเหมืองด้วย ถ้าไม่มีเหมือง ครอบครัวเธอก็อาจจะลำบากกว่านี้

            “ยายเขาตรวจเจอสารหนู แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นสารจากเหมือง หรือสารจากที่ยายเขาฉีดยา(ปราบศัตรูพืช) ยายก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ ยายไม่ได้ห้ามตาไปทำงาน เพราะตาได้เงินเยอะกว่าจากการทำงานเหมือง ตาเขาก็รู้ว่า ยายก็ตรวจเจอสาร แต่เขาก็ต้องใช้ชีวิตตามปกติ” จิราวรรณเล่าความจริงที่ไม่อาจเลี่ยงได้

            แม้ชนวนแรกของปัญหาจะถูกจุดขึ้นโดยที่ไม่รู้จะดับอย่างไร กระนั้นก็ยังไม่พ้นการมีความพยายามจุดชนวนต่อไปอีก

            ...ห่างไปจากเหมือง 10 กว่ากิโล ชาวบ้าน "เขาเขียว" อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กำลังกังวลว่า บ้านของพวกเขาอาจกลายเป็นพื้นที่ของเหมืองไปในเร็ววัน

            “ผลกระทบเราก็รู้แล้วไง ที่เขาหม้อเป็นยังไง เหมืองกับชุมชนก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ ชุมชนก็แตกแยก เราไม่รู้ว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐเขาทำอะไรกันอยู่ ประชาชนเดือดร้อนขนาดนี้ เขาจะให้สัมปทานต่อไปทำไม” สายัณย์ พิมพ์สาลี ชาวบ้านเขาเขียว อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก บอก

            ทุกวันนี้พวกเขาได้พยายามรวมตัวกันสู้เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในภาวะจำยอมภายใต้การเดินเครื่องของเหมือง ด้วยเหตุผลว่า "เขาทำที่เขาหม้อแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้เลย แล้วทำไมจะมาทำกับเขาเขียว"

            “มันกระทบทั้งประเทศนะ ไม่ใช่แค่เขาเขียว วังโพรง หรือที่พิจิตร วันดีคืนดีอาจจะไปซื้อผักบุ้ง หรือคะน้าสวยๆ หรือข้าวที่ปลูกในที่ที่มีสารพิษก็ได้” ดวงจันทร์ โสประดิฐ แกนนำชาวบ้านเขาเขียวบอก

            วันนี้ ไม่ว่าจะ 'ในเหมือง' หรือ 'นอกเหมือง' พวกเขาต่างกำลังจะสูญเสียอากาศ อาหาร สุขภาพ รายได้ ที่อยู่ ครอบครัว หรือแม้กระทั่งชีวิตไป

            ...เอากลับคืนเองก็ไม่ได้ แล้วจะมีใครยืดอก 'รับผิดชอบ' บ้าง ?