'อภัยโทษ'ทางเลือกสู่ปรองดอง ความแตกต่างจากนิรโทษกรรม

'อภัยโทษ'ทางเลือกสู่ปรองดอง ความแตกต่างจากนิรโทษกรรม

(รายงาน) "อภัยโทษ" ทางเลือกสู่ปรองดอง ความแตกต่างจาก "นิรโทษกรรม"

คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้บทสรุปเนื้อหาหมวด 3 ว่าด้วยการสร้างความปรองดอง ซึ่งอยู่ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองไปเรียบร้อยแล้ว


โดยในมาตรา 1 วรรคหนึ่ง ระบุว่า เพื่อให้มีการสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์ ให้มี “คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ” โดยคณะกรรมการมีจำนวนไม่เกิน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ฝักฝ่ายทางการเมือง มีความเป็นกลาง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำความขัดแย้ง (คู่ขัดแย้ง) ส่วนกระบวนการคัดเลือก คณะกรรมการฯ จะไปกำหนดในกฎหมายลูกอีกครั้ง


อย่างไรก็ตาม การหาคนมาเป็นกรรมการอิสระฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคงไม่มีใครอยากเข้ามารับ “เผือกร้อน” เนื่องจากการเข้ามาเป็นกรรมการฯ มีแต่จะโดนโจมตีจากทุกฝ่าย อีกทั้งคณะกรรมการฯ ส่วนหนึ่งต้องมาจาก “คู่ขัดแย้ง” ในส่วนนี้ใครจะอยากมาเป็นเพราะเท่ากับรับว่าตัวเองเป็น “คู่ขัดแย้ง” ที่สร้างปัญหาที่ผ่านมาให้กับบ้านเมือง


ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีอำนาจ ศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา, เป็นคนกลางในการประสานงานระหว่างผู้นำความขัดแย้งทุกกลุ่มเพื่อลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างกัน, ให้การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายและครอบครัว รวมทั้งฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ


ที่สำคัญ คือ คณะกรรมการฯ มีอำนาจเสนอแนะให้มีการตรา “พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ” แก่บุคคลซึ่งให้ความจริงที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ และผู้กระทำผิดได้แสดง "ความสำนึกผิด" ต่อคณะกรรมการฯ แล้ว


ดังนั้นแน่นอนแล้วว่า การสร้างความปรองดองคราวนี้ คงเลือกใช้วิธีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ
กระนั้นก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการพูดกันว่า จะใช้หนทางไหนดีเพื่อนำไปสู่ความปรองดองระหว่าง "อภัยโทษ" กับ "นิรโทษกรรม" เพราะว่ามีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ


ส่วนความเหมือนหรือความคล้ายกัน จะมีก็ตรงที่ว่า ทั้ง “ อภัยโทษ” และ “นิรโทษกรรม” มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษจากการกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด
แล้ว..ความต่างระหว่าง "อภัยโทษ" และ “นิรโทษกรรม” มีอะไรบ้าง


1.อภัยโทษ เป็นการยกเว้นโทษให้ทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กับนักโทษผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้รับโทษนั้น ส่วน "นิรโทษกรรม" เป็น การออกกฎหมายเพื่อไม่ให้ถือว่าการกระทำบางการกระทำเป็นความผิดอีกต่อไป เป็นการยกโทษให้ทั้งหมด ทั้งถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้เคยต้องโทษนั้นมาเลย


2.อภัยโทษ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การพระราชทานอภัยโทษนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีผู้ร้องขอหรือถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์ โดยมีการอภัยโทษทั้งเป็นรายบุคคลและอภัยโทษเป็นการทั่วไปเป็นหมู่คณะ โดยการอภัยโทษเป็นหมู่คณะจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมักใช้ในวโรกาสสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโอกาสสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองประเทศ


ส่วน"นิรโทษกรรม" เป็นการกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภาจะต้องออกเป็น "พระราชบัญญัติ” ทั้งนี้เพราะเมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการถือเสมือนหนึ่งว่า ผู้กระทำความผิดนั้นๆ มิได้กระทำความผิดมาก่อนเลย ก็เท่ากับเป็นการลบล้างกฎหมายฉบับก่อนๆ ที่ระบุว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ซึ่งเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง แต่เป็นการย้อนหลังที่ให้คุณแก่ผู้กระทำความผิด ดังนั้นจึงให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือ รัฐสภาเป็นผู้ออก ซึ่งจะต้องออกเป็น "พระราชบัญญัติ" เว้นแต่กรณีเร่งด่วน คณะรัฐมนตรีสามารถออกเป็น "พระราชกำหนดนิรโทษกรรม" ได้ แต่ต้องนำมาให้ "รัฐสภา" ให้ความเห็นชอบในภายหลัง


นอกจากนี้กฎหมายนิรโทษกรรมออกได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องขอ และเนื้อหาของกฎหมายนิรโทษกรรมจะระบุถึง ผู้กระทำผิด, ประเภทของการกระทำผิด และช่วงเวลาของการกระทำผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรม
3.อภัยโทษ จะทำได้เมื่อคดีนั้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดและผู้กระทำผิดต้องรับโทษบ้างแล้ว ส่วนการ “นิรโทษกรรม”สามารถกระทำได้ทั้งก่อนและหลังศาลมีคำพิพากษา โดยคดีไม่จำเป็นต้องถึงที่สุด


4.อภัยโทษ ยังถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดและเคยต้องคำพิพากษา คือยังมีความผิดติดตัวซึ่งทำให้สิทธิต่างๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพราะการกระทำความผิด ไม่ได้รับกลับคืนมา ส่วน "นิรโทษกรรม" เป็นการล้างมลทินโทษถือว่าเป็นการไม่เคยทำผิดมาก่อน สิทธิที่เคยสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษานั้นก็จะได้รับกลับคืนมา เช่นสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง, สิทธิที่จะกลับเข้ารับราชการ


แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสร้างกลไกเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แต่ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริง ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนทั้งผู้มีอำนาจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง รวมทั้งประชาชนคนในชาติ เห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้ และมีความจริงจังให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

.........................

ขอบข่ายและผลการนิรโทษกรรม

สำหรับผลของการนิรโทษกรรม ก็คือ หากผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องระงับการสอบสวนหรือฟ้องร้องแล้วแต่กรณี แต่หากได้ฟ้องต่อศาลแล้วพนักงานอัยการต้องดำเนินการถอนฟ้อง แต่ถ้าพนักงานอัยการไม่ถอนฟ้องเมื่อจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดีไป หรือหากผู้กระทำความผิดกำลังรับการลงโทษ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและให้ถือเสมือนว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดมาก่อนเลย
ทั้งนี้การนิรโทษกรรม ทำได้ทั้งกรณีที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมืองและกรณีที่ไม่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง


การ "นิรโทษกรรม" เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง มีทั้งกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ รัฐประหาร โดยออกมาเพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำการรัฐประหารไม่ต้องมีความผิดฐานกบฏ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร ปี 2490, พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อ 23 ก.พ. ปี 2534 หรือเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นก็มี โดยนำคำว่า “ล้างมลทิน” มาใช้ เช่น พ.ร.บ.ล้างมลทินผู้กระทำความผิดทางการเมือง รศ.130


แต่ไม่จำเป็นว่า "การนิรโทษกรรมทางการเมือง" ต้องนิรโทษกรรมเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารเท่านั้น เป็นกรณีอื่นก็ได้ เช่น นิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาล เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่13 ต.ค.2516, พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่าง 4-6 ต.ค.2519, การออก พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ 36/2515 ที่ให้ลงโทษจำคุกนายอุทัย พิมพ์ใจชน มีกำหนด 10 ปี ซึ่งสืบเนื่องจากการที่ี่นายอุทัย ได้ยื่นฟ้อง จอมพลถนอม กิตติขจร กับคณะ เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหากบฏ และต่อมาจอมพลถนอม ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ทำการจับกุมนายอุทัยกับพวก และมีคำสั่ง 36/2515 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2515 ให้ลงโทษจำคุกนายอุทัย


การนิรโทษกรรมที่ไม่เกี่ยวกับความผิดทางการเมือง มักใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจัดระเบียบในเรื่องต่างๆ มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการปฎิบัติตามกฎหมายในภายหน้า ชักจูงให้ผู้กระทำผิดได้เริ่มต้นกระทำการที่ถูกกฎหมายต่อไป จึงไม่ลงโทษในการกระทำความผิดที่ทำมาก่อนนั้น โดยเนื้อหาของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ออกมาจะระบุว่า หากมีการกระทำตามเงื่อนไขของกฎหมาย ผู้กระทำผิดก็จะได้รับการยกเว้นและไม่ต้องถูกลงโทษจากการกระทำนั้น เช่น พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่8) พ.ศ.2530 ที่บัญญัติยกเว้นโทษให้กับผู้มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองและจูงใจให้ประชาชนที่มีอาวุธปืน มาขอรับอนุญาตจากนายทะเบียนและให้นำอาวุธสงครามมามอบให้แก่ทางราชการ


หรือ ในกรณีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีหรือเสียไม่ครบถ้วนให้เข้ามาเสียภาษี โดยจะไม่ถูกลงโทษทั้งทางเเพ่งและทางอาญา


การนิรโทษกรรมมีทั้งเป็นการทั่วไป เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดทางการเมืองทุกประเภท หรือการนิรโทษกรรมโดยเฉพาะเจาะจง เช่น ให้เฉพาะแก่ผู้กระทำความผิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ โดยกำหนดไว้ชัดเจน


การนิรโทษกรรมมีทั้งที่ไม่มีเงื่อนไข คือ บุคคลที่มีลักษณะครบถ้วนตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ออกมา ก็ถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือเรียกว่า เป็นการนิรโทษกรรมเด็ดขาด แต่หากการนิรโทษกรรมนั้นเป็นการนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข ผู้กระทำความผิดจะได้รับผลของการนิรโทษกรรมต่อเมื่อได้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว


อย่างไรก็ตาม เคยมีคนตั้งคำถามว่า สำหรับนักการเมือง ซึ่งเป็นคนที่อาสามาทำงานให้กับบ้านเมือง แต่กลับกระทำความผิดเสียเอง ไม่ว่าจะกระทำผิดเรื่องอะไรก็ตาม ควรได้รับการนิรโทษกรรม ให้พ้นมลทินโทษหรือไม่ เพราะทำให้นักการเมืองคนนั้นสามารถกลับเข้าสู่การเมืองได้เหมือนเดิม