ดึง'พรรคคู่ขัดแย้ง'ตั้งรัฐบาล

ดึง'พรรคคู่ขัดแย้ง'ตั้งรัฐบาล

"เอนก-เอกชัย" ประสานเสียงเปิดสูตรปรองดองหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่-เลือกตั้ง สร้างกลไกดึงพรรคคู่ขัดแย้งตั้งรัฐบาล ทำงานร่วมกัน

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต จัดสัมมนาและรับฟังความเห็นเรื่อง "การปฏิรูปการปรองดอง" โดยมีวิทยากรและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างคึกคัก 


นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ในฐานะประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง 
สปช. กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 15 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้นำความขัดแย้งว่า หลังจากนี้จะมีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ โดยหลักการคือจะให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9-10 คนเป็นผู้คัดเลือกผู้นำความขัดแย้งเข้าร่วมเป็นกรรมการ 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าคณะกรรมการอิสระฯ ไม่ใช่กรรมการเกี้ยเซี้ยะหรือต่อรอง แต่จะมีหน้าที่เพื่อหาข้อยุติความขัดแย้ง รวมถึงศึกษาหาข้อเท็จจริง การเยียวยา การดูแล รวมถึงเสนอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) อภัยโทษ เมื่อบุคคลได้ให้ความจริงและสำนึกผิดต่อกรรมการ รวมถึงเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯจะแตกต่างจากกรรมการหรือคณะทำงานที่ผ่านมา คือ มีความเป็นอิสระ โดยร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนให้รัฐสภาและรัฐบาลสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระฯ ทั้งเรื่องงบประมาณและข้อเสนอ

"ในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ​มีกรรมาธิการบางคนให้ความเห็นว่าหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คู่ขัดแย้งก็จะกลับมาตีกันอีก ดังนั้นต้องพยายามออกกฎหมายลูกให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าให้นายกฯ หรือประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่เมื่อไม่ได้เขียนก็เข้าใจได้ว่านายกฯ จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ"นายเอนก กล่าวสร้างกลไกดึงพรรคคู่ขัดแย้งร่วมงาน

นายเอนก กล่าวต่อว่า เรื่องความปรองดองที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการยอมรับของสองฝ่ายพอสมควร ทั้งนี้กมธ.ยกร่างฯพยายามเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ และร่วมช่วยในการปฏิรูปและการปรองดองต่อไป ไม่ให้บ้านเมืองไปสู่จุดขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา 

ในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯเห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่ได้เป็นไปตามเสียงหรือความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภา ดังนั้นส่วนหนึ่งจะมีกลไกให้พรรคคู่ขัดแย้งสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยไม่ผลักให้เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แม้ 2 พรรคจะไม่ชอบกัน แต่ต้องทำงานร่วมกันได้ หากทำได้เชื่อว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ 

อย่างไรก็ดี ความต้องการลักษณะดังกล่าวต้องไม่ใช่การจูบปาก หอมแก้ม แต่คือการร่วมมือร่วมใจกัน นอกจากนั้นแล้วต้องไม่ใช่ให้ทหารเข้ามาสืบทอดอำนาจ เชื่อว่าทหารไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นต้องทำให้แนวทางร่วมกันทำงานไปด้วยกันได้ ไม่ใช่กลับไปตีกันแบบเดิม โดยกลไกปรองดองในรัฐธรรมนูญถือเป็นกระบวนการหนึ่ง

ลุยเยี่ยมผู้ต้องขังทุกสีถึงเรือนจำ

"วันที่ 24 ก.พ. คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง จะเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังทุกกลุ่มทุกสีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเหตุผลที่ไปคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เป็นการบังคับให้เขาละทิ้งจุดยืนทางการเมือง ซึ่งคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติก็เช่นเดียวกัน มีหน้าที่ทำให้สังคมที่เห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ตามหลักประชาธิปไตยปกติ ไม่ใช่บังคับให้เปลี่ยนจุดยืน" นายเอนก ระบุ 

ชูโมเดลไอร์แลนด์-คู่ขัดแย้งตั้งรัฐบาล

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ ต้องเข้าสู่ภาคการปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยนำผลการศึกษาจากผู้ที่เคยศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองมาแล้วมากำหนดเป้าหมายและแนวทางสู่การปฏิบัติ 

นอกจากนั้น การทำงานภายใต้คณะกรรมการอิสระฯ ต้องประสานและสอดคล้องกับภาคส่วนต่างๆ เช่น คู่ขัดแย้ง กระบวนการยุติธรรม ทั้งระยะต้น ระยะกลาง และระยะปลาย รวมถึงการทำข้อเท็จจริงทุกฝ่ายและกลุ่มสีให้ปรากฏเพื่อนำไปสู่สถานการณ์หรือบรรยากาศที่เปิดโอกาสและความเชื่อของการสร้างความปรองดองซึ่งกันและกัน        

สำหรับการศึกษาความขัดแย้งและแนวทางสร้างความปรองดองของต่างประเทศ พบว่าการออกกฎหมายและตั้งคณะกรรมการอิสระเป็นส่วนช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ ทั้งนี้มองว่าประสบการณ์แก้ไขความขัดแย้งจากไอร์แลนด์เหนือ มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย เช่น จุดเริ่มความขัดแย้งมาจากความอุดมการณ์ประชาธิปไตย การไม่ได้รับความยุติธรรม 

ทั้งนี้ ไอร์แลนด์เหนือใช้วิธีแก้ไขคือ ใช้การเลือกตั้ง โดยพรรคการเมือง 2 พรรคที่ขัดแย้งกันร่วมเป็นรัฐบาล เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ความสำเร็จคือรัฐบาลชุดดังกล่าวสามารถอยู่ครบเทอมได้ในรอบ 40 ปี แม้ช่วงบริหารประเทศจะมีปัญหา แต่ไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้นการหาแนวทางปรองดองและแก้ไขความขัดแย้งของไทยต้องหาปัจจัยให้ได้ ยอมรับว่าปัญหาของไทยมีความซับซ้อน แต่เชื่อว่าสามารถทำได้ โดยคู่ขัดแย้งต้องมีเจตจำนงว่าจะเข้าสู่โหมดความปรองดอง แต่ปัจจุบันเจตจำนงนั้นยังไม่ใครให้ความชัดเจน

"ผมมองว่าในร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีสมัชชาพลเมือง จะทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งได้ และอาจส่งผลในระดับกดดันให้คู่ขัดแย้งร่วมแนวทางปรองดองและลดความขัดแยังระหว่างกัน" พล.อ.เอกชัย ระบุ 

"นิชา"จี้สร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ

นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม กรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารคนสำคัญที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กระชับพื้นที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่สี่แยกคอกวัว เมื่อเดือน เม.ย.2553 กล่าวว่า กิจกรรมปรองดองที่ต้องทำขณะนี้ คือ รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่าแม่น้ำ 5 สาย ต้องสร้างกติกาให้เกิดการยอมรับร่วมกัน เรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริง และอำนวยความยุติธรรมด้วยการเร่งรัดคดี รวมถึงต้องชดเชยและเยียวยา

"ดิฉันรู้สึกสบายใจที่ได้เห็นเรื่องการปรองดองในรัฐธรรมนูญ แต่มีความกังวลเล็กน้อยเรื่องการเยียวยาด้านคดี ซึ่งรอเวลาไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการบอกเล่าความจริงของเหตุการณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้แม้รัฐธรรมนูญยังไม่เกิด" นางนิชา ตั้งคำถาม

ย้ำต้องรับโทษก่อนอภัยโทษ

ภายหลังการสัมมนา นายเอนก ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ ไม่มีอำนาจเรื่องอภัยโทษหรือนิรโทษ เพราะเป็นเพียงผู้ตั้งเรื่องให้ ส่วนคนที่มีอำนาจ คือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่จะตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ หรือจะตราพระราชบัญญัตินิรโทษ ซึ่งทั้งสองช่องทางเคยใช้มาแล้วในประเทศไทย

"เราจะอภัยโทษผู้ใดโดยที่คนคนนั้นไม่ต้องสำนึกผิดก็ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องไปถามนักโทษก่อนว่าสำนึกผิดหรือไม่ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจทุกๆ ฝ่าย จึงต้องมีเงื่อนไขให้คนคนนั้นต้องสำนึกผิดต่อการสอบสวนของคณะกรรมการฯก็พอ ไม่ต้องไปถึงศาล เราก็จะทำเรื่องอภัยโทษให้" 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่จะได้รับอภัยโทษ ต้องมารับผิดก่อนหรือไม่ นายเอนก กล่าวว่า ถ้าจะอภัยโทษให้ก็สามารถกระทำได้ แต่โดยทั่วไปต้องรับโทษก่อน ส่วนนิรโทษ คดีสิ้นสุดตรงนั้น แล้วก็ล้างโทษหรือความผิดทั้งหมด 

เร่งตรากฎหมายปรองดองก่อนคลอดรธน.

ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ให้สัมภาษณ์ว่า การเขียนกฎหมายเพื่อให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ เบื้องต้นจะตั้งคณะอนุ
กรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา และมีตารางเวลาทำงานว่าต้องออกกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับ เพื่อป้องกันและคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคตก่อนที่รัฐบาลจะพ้นจากการดำรงตำแหน่ง 

หลักการสำคัญคือจะพิจารณาข้อเท็จจริง หากพบประเด็นที่จะเยียวยาก็จะเยียวยา หากพบว่าประเด็นไหนที่ต้องนิรโทษกรรมก็จะนิรโทษกรรม แต่ทั้งหมดจะต้องไปพูดคุยในคณะอนุกรรมาธิการฯ หากพิจารณาเสร็จก็จะเสนอให้ สนช.ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในทันที

อดีตเพื่อไทยหนุนนิรโทษดีกว่าอภัยโทษ

ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่มีการเสนอให้ตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลนั้น ผู้ที่ออกมาพูดเรื่องดังกล่าวเน้นย้ำว่า การอภัยโทษต้องรับผิด สำนึกผิด และรับโทษก่อนที่จะอภัยโทษ ถือว่าเป็นคนที่มีโทษแล้วได้รับการอภัย แต่วันนี้หลายคนคิดว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อรู้สึกว่าไม่ผิดแล้วให้มารับโทษ ก็จะไม่ยอม แค่เริ่มต้นก็จะรับกันไม่ได้แล้ว ในที่สุดก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ 

ส่วนตัวมองว่า การจะปรองดองได้มีทางเดียวคือต้องนิรโทษกรรม แต่ต้องมีขอบเขต ซึ่งต้องไปว่ากันอีกที อาทิ ยกโทษให้กับผู้กระทำผิดอาญาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ส่วนผู้ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ต้องถูกลงโทษ