วงเสวนาหนุนตั้งกก.อิสระสร้างปรองดองแห่งชาติ

วงเสวนาหนุนตั้งกก.อิสระสร้างปรองดองแห่งชาติ

วงเสวนาปฏิรูปปรองดอง หนุนตั้งกก.อิสระเสริมสร้างปรองดองชาติ แนะทำงานให้เร็ว-เป็นรูปธรรม

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต จัดสัมมนาและรับฟังความเห็น เรื่อง การปฏิรูปการปรองดอง โดยมีวิทยากรและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม  โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฐานะประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. กล่าวว่าถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบให้มี คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 15 คน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้นำความขัดแย้ง มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ โดยหลังจากนี้จะมีการยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ โดยหลักการคือจะให้ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน9-10คนเป็นผู้ที่คัดเลือกผู้นำความขัดแย้งให้เข้าร่วมเป็นกรรมการ 

ทั้งนี้ยืนยันว่ากรรมการอิสระฯ ไม่ใช่กรรมการเกี้ยเซี๊ยะ หรือต่อรอง แต่จะมีหน้าที่เพื่อหาข้อยุติความขัดแย้ง รวมถึงศึกษาหาข้อเท็จจริง การเยียวยา การดูแล รวมถึงเสนอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) อภัยโทษ เมื่อบุคคลได้ให้ความจริงและสำนึกผิดต่อกรรมการ รวมถึงเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯจะแตกต่างจากกรรมการหรือคณะทำงานที่ผ่านมา คือ มีความเป็นอิสระ และร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนให้รัฐสภา และรัฐบาลสนับสนุนการทำงานของกรรมการอิสระฯ ทั้งเรื่องงบประมาณและข้อเสนอของกรรมการ

"ในที่ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ​มีกรรมาธิการบางคนให้ความเห็นว่าหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คู่ขัดแย้งก็จะกลับมาตีกันอีก ดังนั้นต้องพยายามออกกฎหมายลูกออกมาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าให้นายกฯ หรือประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่มื่อไม่ได้เขียนก็เข้าใจได้ว่านายกฯ จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งกรรมการ"นายเอนก กล่าว

นายเอนก กล่าวต่อว่าเรื่องความปรองดองที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะทำให้เกิดข้อยอมรับของ 2 ฝ่ายพอสมควร ทั้งนี้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ และร่วมช่วยในการปฏิรูปและการปรองดองต่อไป ไม่ให้บ้านเมืองไปสู่จุดขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา โดยในที่ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่เป็นไปตามเสียงความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะจำนวนส.ส.ที่นั่งในรัฐสภา ดังนั้นส่วนหนึ่งจะมีกลไกให้พรรคคู่ขัดแย้งสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยไม่ผลักให้เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แม้ 2 พรรคจะไม่ชอบกัน แต่ต้องทำงานร่วมกันได้ หากทำได้เชื่อว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งความต้องการลักษณะดังกล่าวต้องไม่ใช่การจูบปาก หอมแก้ม แต่คือการร่วมมือร่วมใจกัน นอกจากนั้นแล้วต้องไม่ใช่ให้ทหารเข้ามาสืบทอดอำนาจ ตนเชื่อว่าทหารไม่ต้องการเท่าน้้นเพราะต้องทำให้แนวทางร่วมไปด้วยกันได้ ไม่ใช่กลับไปตีกันแบบเดิม โดยกลไกปรองดองในรัฐธรรมนูญถือเป็นกระบวนการหนึ่ง

วันที่ 24 ก.พ. คณะกรรมการฯ จะเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังทุกกลุ่มสีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยเหตุผลที่ไปคือเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เป็นการบังคับให้เขาละทิ้งจุดยืนทางการเมือง ซึ่งกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติก็เช่นเดียวกันคือการทำให้สังคมที่เห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ตามหลักประชาธิปไตยปกติ ไม่ใช่บังคับให้เปลี่ยนจุดยืน

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. เสนอแนะว่าการทำงานของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ ต้องเข้าสู่ภาคการปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยนำผลการศึกษาจากผู้ที่เคยศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองมาแล้วมากำหนดเป้าหมายและแนวทางสู่การปฏิบัติ นอกจากนั้นการทำงานภายใต้คณะกรรมการอิสระฯ ต้องประสานและสอดคล้องกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น คู่ขัดแย้ง กระบวนการยุติธรรม ทั้งระยะต้น ระยะกลาง และระยะปลาย รวมถึงการทำข้อเท็จจริงทุกฝ่ายและกลุ่มสีให้ปรากฎ เพื่อนำไปสู่สถานการณ์หรือบรรยากาศที่เปิดโอกาสและความเชื่อของการสร้างความปรองดองซึ่งกันและกัน

พล.อ.เอกชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับการศึกษาความขัดแย้งและแนวทางสร้างความปรองดองของต่างประเทศพบว่าการออกกฎหมายและตั้งกรรมการอิสระเป็นส่วนช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ตนมองว่าประสบการณ์แก้ไขความขัดแย้งจากไอร์แลนด์เหนือ มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย เช่น จุดเริ่มความขัดแย้งมาจากความอุดมการณ์ประชาธิปไตย การไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งนี้ไอร์แลนด์เหนือใช้วิธีแก้ไขคือ ใช้การเลือกตั้ง โดยพรรคการเมือง 2 พรรคที่ขัดแย้งกันร่วมเป็นรัฐบาล เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ความสำเร็จคือ รัฐบาลชุดดังกล่าวสามารถอยู่ครบเทอมได้ในรอบ 40 ปี แม้ช่วงบริหารประเทศจะมีปัญหา แต่เขาไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้นการหาแนวทางปรองดองและแก้ไขความขัดแย้งของไทย ต้องหาปัจจัยให้ได้ ทั้งนี้ยอมรับว่าปัญหาของไทยมีความซับซ้อน แต่เชื่อว่าสามารถทำได้ โดยคู่ขัดแย้งต้องมีเจตจำนงว่าจะเข้าสู่โหมดความปรองดอง แต่ปัจจุบันเจตจำนงนั้นยังไม่ใครให้ความชัดเจน

"ผมมองว่าในร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสมัชชาพลเมือง จะทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งได้ และอาจส่งผลในระดับกดดันให้คู่ขัดแย้งร่วมแนวทางปรองดองและลดความขัดแยังระหว่างกัน"พล.อ.เอกชัยกล่าว

ส่วนนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม กรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. กล่าวว่ากิจกรรมปรองดองที่จะต้องทำขณะนี้ คือ รัฐบาล, คสช., สนช ., สปช., กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือเรียกว่าแม่น้ำ5สาย ต้องสร้างกติกาที่ให้เกิดการยอมรับร่วมกัน, เรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริง และอำนวยความยุติธรรม ด้วยการเร่งรัดคดี รวมถึงต้องต้องชดเชยและเยียวยา

"ดิฉันรู้สึกสบายใจที่ได้เห็นเรื่องการปรองดองในรัฐธรรมนูญ แต่มีความกังวลเล็กน้อยเรื่องการเยียวยาด้านคดี ซึ่งรอเวลาไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการบอกเล่าความจริงของเหตุการณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้แม้รัฐธรรมนูญยังไม่เกิด"นางนิชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการแสดงความเห็นของภาคประชาชนที่เข้าร่วม ได้สนับสนุนให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ แต่ได้ย้ำถึงแนวทางการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้งที่ยั่งยืน ต้องนำคนที่กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ชักช้า และเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ รวมถึงต้องขจัดความขัดแย้งที่ต้นเหตุโดยเฉพาะผู้ที่สนับสนุนให้เกิดความขัดแย้ง เช่น เงิน