การตลาด"บล็อกเกอร์" ขาใหญ่โลกโซเซียล

การตลาด"บล็อกเกอร์" ขาใหญ่โลกโซเซียล

หมดยุคโฆษณาแบบ Hard sale ในวันที่ผู้บริโภค"รู้ทัน" สินค้ายุคนี้จึงหันใช้ บล็อกเกอร์ เป็นแนวร่วม แต่จะใช้อย่างไรให้ "ซัคเซส"บอกความจริงไม่มโน

"Social Media Influencer ไม่ใช่แค่กระแสในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่เป็น ‘Forever Trends’ ที่ไม่มีวันตาย”

ถ้อยคำย้ำชัดจากปากของ “เชียว หมิง เฉิน” (Cheo Ming Shen) ผู้บริหารหนุ่มวัย 32 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ทเซ็นทริค จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO นัฟแนงโกลบอล ชุมชนเครือข่ายโฆษณาออนไลน์ผ่าน บล็อกเกอร์ชั้นนำของโลก ที่มีเครือข่ายใน 7 ประเทศ ทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จีน ออสเตรเลีย อังกฤษ และไทย มีบล็อกเกอร์มากกว่า 1 ล้านคน ขณะที่ยอดผู้เข้าชมมากกว่า 4.7 ล้านวิวต่อวัน

เขาสะท้อนความเชื่อในพลังของ “ผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย” (Social Media Influencer) นั่นคือเหล่า บล็อกเกอร์ ที่กำลังแผ่บารมีไปทั่วโลก รับกับสังคมยุคใหม่ที่พลเมืองส่วนใหญ่ต่างผูกติดกับโลกโซเชียล

ขณะที่ Influencer ยุคเก่า ช่องทางเก่าๆ และการตลาดแบบเก่า ชักจะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ

ดูตัวอย่าง ผลวิจัยการตลาดเรื่อง “Online Influencer” ของนิสิตสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เมื่อปี 2555 ที่ระบุว่า 56% ของผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของคนเจนวาย คือ เหล่ากูรู เว็บบอร์ด และบล็อกเกอร์ในอินเทอร์เน็ต รองลงมา คือ เพื่อน หรือคนรู้จัก ส่วนแบรนด์สินค้ากลับอยู่ในอันดับ “รั้งท้าย”

ขณะที่ข้อมูลหรือการรีวิวของ Online Influencer จะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของกลุ่มเจนวายสูงถึง 88%

ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น ?

ส่วนหนึ่งเพราะพลเมืองยุคใหม่มีชีวิตผูกติดกับอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ การดำรงชีวิตส่วนใหญ่ “พึ่งพา” โลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ขณะที่บล็อกเกอร์ หลายคนเห็นว่า น่าเชื่อถือกว่าแบรนด์โฆษณาขายของเอง เพราะเชี่ยวชาญและรู้จริง มีประสบการณ์การใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ จริง สามารถให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าผู้ติดตามได้

“ตอนนี้บล็อกเกอร์ที่สิงคโปร์ มีอิทธิพลมากกว่าเซเลบริตี้ที่สิงคโปร์ไปแล้ว เพราะเซเลบสิงคโปร์มีช่องทางน้อยกว่า และคนก็ไม่ได้ฟังมากเท่าพวกบล็อกเกอร์”

เรื่องจริงไม่มโน จาก CEO นัฟแนงโกลบอล หลังทำธุรกิจด้าน Influencer Marketing มาตั้งแต่ปี 2007 และเริ่มเข้ามาในไทยเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา

แต่เขาบอกว่า สำหรับในไทยบล็อกเกอร์ยังถูกให้ความสนใจน้อยกว่า "บุคคลที่มีชื่อเสียง" อาทิ ศิลปิน ดารา ซึ่งอยู่ในสถานะ “ทรงอิทธิพลมากกว่าบล็อกเกอร์”

นี่จึงเป็นโอกาส ที่ไทยควรจะ “เพิ่มมูลค่า” ด้วยการทำให้คนที่มีชื่อเสียงเหล่านั้น กลายมาเป็น Influence ในโลกออนไลน์ ร่วมสร้างคอนเทนต์ที่มีพลังต่อความรู้สึกของผู้บริโภคไปพร้อมกัน

เมื่อมองโดยภาพรวม เขาบอกว่า เทรนด์ Influencer Marketing ในไทยยังเติบโตค่อนข้างดี โดยไทยยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยไม่ค่อยแตกต่างกันนัก เมื่อเทียบกับบางประเทศอย่าง อินโดนีเซีย ที่ผู้คนมีความหลากหลายทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรม

ที่สำคัญ สำหรับคนไทย “โซเชียลมีเดีย” ดูเหมือนว่า..จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

“เทรนด์นี้ยังคงเติบโตแน่นอน เพราะตอนนี้พฤติกรรมการใช้จ่ายของแบรนด์ต่างๆ รวมถึงผู้บริโภค ต่างหันมาทางดิจิทัลมากขึ้น จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ Influencer Marketing เติบโตขึ้นสูงมาก”

“พัชร ศิริเกียรติสูง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นัฟแนง (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำเทรนด์ตลาดผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียล หลังนัฟแนงประเทศไทยเข้ามาทำตลาดในปี 2554 และเริ่มมีธุรกิจให้ความสนใจการตลาดผ่านบล็อกเกอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งอานิสงส์ถึงธุรกิจนัฟแนงประเทศไทยที่เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 50% ขณะที่นัฟแนงโกลบอลมีรายได้ทั้งกลุ่มอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ 1,000 ล้านบาท

“ในไทยแบรนด์สินค้าก็อยากใช้ แต่ว่าหลายๆ แบรนด์ ยังยึดติดอยู่กับความเป็นโฆษณา แต่ถามว่าทำแบบนั้นแล้วสามารถเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนได้หรือไม่ ซึ่งบางแคมเปญก็ไม่จำเป็นต้องฮาร์ดเซลขนาดนั้น” เขาบอก

ทำไมแบรนด์ต่างๆ ถึงเริ่มสนใจ Social Media Influencer ส่วนหนึ่งเพราะ นี่เป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ “ตรง ชัด และ ทรงพลัง” มากช่องทางหนึ่ง

ขณะที่ “งบประมาณ” ด้านการตลาดที่ใช้ เป็นที่ทราบดีว่า “ถูกกว่า” สื่อดั้งเดิม และการตลาดรูปแบบเดิม

โดยค่าใช้จ่ายที่เจ้าของสินค้า จะเสียให้กับช่องทางนี้ มีทั้งแบบ “ฟรี” คือ ประเภท ส่งสินค้าไปให้ทดลองใช้ฟรี เชิญมาชิมฟรี พักฟรี เหล่านี้ เป็นต้น โดยแลกกับการที่บล็อกเกอร์จะนำสินค้าหรือร้านของเราไปรีวิวให้

กับแบบที่สอง คือ “เสียเงิน” เช่น เชิญบล็อกเกอร์ให้ร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่าง การทำเวิร์คช้อป ค่าจ้างจากการให้รีวิวสินค้า และค่าแบนเนอร์โฆษณา ที่ฝากไว้ในหน้าเว็บบล็อกต่างๆ

สำหรับสินค้าที่เหมาะกับการโฆษณาผ่านบล็อกเกอร์ พัชร บอกว่า ที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ กลุ่มแฟชั่น อย่างเสื้อผ้าแฟชั่น หรือร้านที่อยู่ในกระแส โดยสินค้า ควรมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด และแตกต่าง

รองลงมาคือ กลุ่มบิวตี้ และสกินแคร์ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มบล็อกเกอร์ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นสายบิวตี้มากที่สุด ขณะที่ตลาดสินค้าความงามก็ยังคงเติบโตและขยายตัวสูงมากในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่เทรนด์ของ “บล็อกเกอร์” เขาบอกว่า ในอดีตบล็อกเกอร์อาจไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก บางคนเลยทำงานประจำขณะที่ทำบล็อกเป็นรายได้เสริม ทว่าปัจจุบัน เมื่อเจ้าของสินค้าเริ่มเห็นศักยภาพ และแบ่งงบประมาณมาทำการตลาดช่องทางนี้มากขึ้น ก็ทำให้บล็อกเกอร์มีรายได้มากขึ้น ถึงขนาดที่บางคนลาออกมาเป็น “บล็อกเกอร์อาชีพ” เลยก็มี ซึ่งเริ่มเห็นเทรนด์นี้มากขึ้นในปีที่ผ่านมา

“ดาราหลายคน รายได้อาจประมาณหลายล้านบาทต่อเดือน ซึ่งบล็อกเกอร์รายได้ไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่บางคนที่มีชื่อเสียงมากๆ ก็คิดว่า น่าจะถึง หลักแสนบาท ต่อเดือน ซึ่งส่วนมากอยู่ในกลุ่มบิวตี้”

แล้วบล็อกเกอร์แบบไหนที่จะเข้าตาแบรนด์สินค้า คำตอบ คือ มีศักยภาพ มีความสามารถ เขียนเป็น ทำวีดิโอได้ มียอดผู้ติดตามระดับหนึ่ง และเป็นผู้ติดตามที่มีความน่าเชื่อถือด้วย

“สำหรับบล็อกเกอร์หน้าใหม่ ไม่ได้มีทางลัด แต่อิทธิพลของทุกๆ คน มาด้วยเวลา และการพิสูจน์ตัวเอง คุณต้องมีความสม่ำเสมอ ใช้เวลาในการที่จะให้มีคนติดตาม และต้องจริงใจกับคนที่ติดตามด้วย โดยไม่ควรพยายามสร้างภาพจนเกินไป ถ้าไม่ใช่ตัวเรา ที่สำคัญขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง และทำคอนเทนท์ที่มีประโยชน์” เขาบอก

ขณะที่ “เชียว หมิง เฉิน” CEO นัฟแนงโกลบอล ขยายความถึงสิ่งที่เขานิยามว่า “เทรนด์ที่ไม่มีวันตาย” ของ Social Media Influencer ว่า...

“เปรียบกับคุณสอนให้มนุษย์ถ้ำเริ่มจุดไฟ ทำให้เขาค้นพบความสามารถของตัวเอง เขาก็จะใช้ความสามารถนั้นไปเรื่อยๆ บล็อกเกอร์ก็เช่นกัน ตอนนี้เขามีความสามารถที่จะทำให้เรื่องราวที่เขียนขึ้น มีผู้รับฟัง มีพลัง และมีกลุ่มเป้าหมาย ถามว่า เขาจะล้มเลิกง่ายๆ อย่างนั้นเหรอ ผมมองว่า นี่จะเป็นวิวัฒนาการต่อไป โดยอาจมีการเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง แต่อย่างไรอิทธิพลของบล็อกเกอร์ก็ยังคงอยู่..ไม่มีวันตาย”

ผู้บริหารนัฟแนง ปิดท้ายบทสนทนา แทนการตอกย้ำว่า Social Media Influencer และ Influencer Marketing ยังเป็นเทรนด์ตลาด ‘ทรงพลัง’ อีกนานเท่านานยุคโซเชียล
-----------------------------------

สูตรแจ้งเกิด บล็อกเกอร์ “นิวเจน”


“Emmoojung” หรือ น้องเอ็มมู่ บล็อกเกอร์แนว beauty fashion แนะนำการแต่งหน้าแต่งตัวแบบเก๋ๆ ไม่ซ้ำใคร ที่มียอดไลค์ในเฟซบุ๊ค กว่า 2 หมื่นไลค์ มีสมาชิกติดตามในยูทูป กว่า 4 พันคน ยอดผู้เยี่ยมชมในบล็อกสูงถึงสัปดาห์ละเกือบ 6,000 คน

เธอคืออดีตสาวนักการตลาด ที่เริ่มทำรีวิวสอนแต่งหน้าเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน และลองไปลงในเว็บจีบัน พันทิป และยูทูป ดู ปรากฏกระแสตอบรับ “เกินคาด” มีคนแชร์กระหน่ำ จากคนโนเนม ก็เลยเริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นมา พร้อมๆ กับยอดผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นเท่าทวี จนเริ่มมีแบรนด์ติดต่อมาให้ช่วยรีวิวให้ ซึ่งมีการรีวิวสินค้าไปแล้วประมาณ 20 ตัว โดยมีจุดยืนคือ

“การจะรีวิวสินค้าตัวไหน ต้องลองใช้จริงทุกตัว เพราะคนอ่านเขาอยากได้ความจริงใจ”

ปัจจุบันเธอมีธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวให้ดูแล ขณะที่อาชีพบล็อกเกอร์กลายมาเป็นรายได้เสริม จากทั้งการรีวิวสินค้า ไปออกงานอีเวนท์ และ รายได้จากแบนเนอร์โฆษณาในบล็อกบ้าง โดยมีรายได้ต่อปีจากอาชีพบล็อกเกอร์ประมาณแสนบาท

“Duet diary” ของบล็อกเกอร์คู่รักนักเดินทาง ที่มียอดไลค์ในเฟซบุ๊ค กว่า 1 หมื่นไลค์ ยอดผู้เยี่ยมชมในบล็อกสูงถึงสัปดาห์ละเกือบ 6,000 คน

น้องเต้ บล็อกเกอร์วัย 27 ปี บอกจุดเริ่มต้นของการทำบล็อกว่า มาจากการที่เขาและแฟน ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบเดินทาง และเล่นกล้อง เวลาไปไหนมาไหนก็ชอบที่จะถ่ายรูปเก็บไว้ พอเยอะเข้าก็เลยลองไปลงในไดอารี่ออนไลน์ดู จากที่เขียนตามบล็อกต่างๆ ก็เริ่มมาทำเว็บบล็อกของตัวเอง ในชื่อ “Duet diary”

เมื่อเรื่องราวถูกแชร์ออกไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมีสำนักพิมพ์ติดต่อให้ทำพอคเก็ตบุ๊ค "ขับรถเที่ยว เสาร์-อาทิตย์” จากนั้นก็ได้ออกสื่อ ได้รางวัลชนะเลิศบล็อกอวอร์ด สาขาการท่องเที่ยว ขณะที่รูปถ่ายยังเอาไปประกาศขายทางออนไลน์ได้อีกด้วย

ปัจจุบันเขารับงานผ่านเอเยนซีนัฟแนง มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000 - 1 หมื่นบาท ต่อเดือน เขาบอกว่า เป็นรายได้เสริม เพราะยังทำงานประจำเป็นนักออกแบบเว็บไซต์อยู่ด้วย

ขณะที่แสดงความเห็นว่า ที่บล็อกเกอร์ถูกให้ความสนใจมากขึ้น เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ใช้โซเชียล และอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการข้อมูลที่มาจากประสบการณ์จริง แต่พอเป็นโฆษณาที่ชัดเจนเลยว่า “โฆษณา” เขาจะเบื่อและ “รู้ทัน” ว่าถูกจ้างมา นี่คือเหตุผลที่แบรนด์มาเลือกใช้บล็อกเกอร์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดมากขึ้น

“สำหรับคนที่อยากเป็นบล็อกเกอร์ อยากให้ทำด้วยใจที่รัก เพราะถ้าเราเริ่มด้วยความคิดที่อยากจะหาเงิน เราจะเบื่อ เฟล และตายลงไปในที่สุด แต่ถ้าเริ่มจากใจที่อยากเขียน อยากแชร์ จะทำให้เราอยู่กับงานนี้ได้นาน”

“Bonjour kitty” หรือ น้องจ๊ะจ๋า วัย 24 ปี บล็อกเกอร์ด้านบิวตี้และ life style เธอมียอดไลค์ในเฟซบุ๊ค กว่า 1 หมื่นไลค์ มีผู้ติดตามในอินสตาแกรม เกือบ 3,000 คน ยอดผู้เยี่ยมชมในบล็อกสูงถึงสัปดาห์ละเกือบ 7,000 คน
จ๊ะจ๋า เริ่มเขียนบล็อกตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย หลังๆ เริ่มมีรีวิวเครื่องสำอาง เลยมีฐานแฟนๆ ผู้หญิงเข้ามาติดตามกันเยอะขึ้น จากที่เคยซื้อสินค้ามารีวิวเอง ก็เริ่มมีแบรนด์ต่างๆ ส่งสินค้ามาให้รีวิว และเชิญไปออกอีเวนท์บ้าง

“การเป็นบล็อกเกอร์ เลี้ยงชีพได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับใครให้โอกาส แต่โดยส่วนตัวถ้าได้งานมา ก็จะตั้งใจทำเต็มที่ แต่ก็ไม่ใช่แบบฮาร์ดเซลนะ เมื่อไม่ใช่ก็บอกว่า ไม่ใช่ แต่ก็ไม่ได้จะไปดิสเครดิตแบรนด์อะไรขนาดนั้น”

ปัจจุบันเธอมีรายได้จากอาชีพบล็อกเกอร์ทั้งปียังอยู่ที่หลักหมื่นบาท โดยออกตัวว่า เพราะไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร และหลายงานก็เลือกทำให้ฟรีๆ ไม่ได้มีรายได้ ส่วนใครที่จะมาเป็นบล็อกเกอร์ ขอให้รักในการเขียน ต้องขยัน มีความตั้งใจ และรับผิดชอบ ต้องทำงานให้ดีและตรงเวลา

ปิดท้ายกับ “Ireview” หนุ่มดรีม บล็อกเกอร์วัย 24 ปี ที่ชื่นชอบในการเขียนรีวิวและทดสอบสินค้า โดยเฉพาะสินค้าไอที เขามียอดไลค์ในเฟซบุ๊ค กว่า 3.5 หมื่นไลค์ ยอดผู้เยี่ยมชมในบล็อกสูงถึงสัปดาห์ละเกือบ 2 หมื่นคน

ดรีม เริ่มเขียนบล็อกตั้งแต่ยังเรียน และสร้างการรู้จักขึ้นมาด้วย “วลี” เด็ดๆ กับการวิจารณ์สินค้าแบบตรงไปตรงมา ในสไตล์ที่ "ไม่ทำร้ายแบรนด์ แต่ก็ไม่ทำร้ายคนอ่าน”

ปัจจุบัน เขามีรายได้จากการที่แบรนด์ส่งสินค้ามาให้รีวิว หรือเชิญไปออกงานอีเวนท์ รายได้จากแบนเนอร์โฆษณาในบล็อก รายได้ที่มาจากทักษะทางด้านการเขียน โดยมีบางแบรนด์มาให้เขาช่วยเขียนบทความโฆษณา ให้ และนำไปใช้ในงานของแบรนด์นั้นๆ ซึ่งรายได้ก็มีเข้ามาเรื่อยๆ แต่เขาว่า ไม่ถึงกับขนาดจะให้ลาออกจากงานประจำมาทำบล็อกเกอร์เต็มเวลา แต่มองว่า เป็นอาชีพเสริม ที่ทำสนุกๆ และ ไม่เหนื่อยฟรี

ส่วนน้องๆ ที่อยากเข้ามาเป็นบล็อกเกอร์ เขาบอกว่า คนที่ไม่รู้จักอาชีพนี้ ก็คิดแค่ว่า ดีนะ ได้กินฟรี พักฟรี ได้ใช้ของฟรี ซึ่งก็ไม่ใช่จะถูกเสียทุกอย่าง เพราะก่อนที่เราจะได้ทุกอย่างมานั้น ก็ต้องเริ่มจากทำอะไรให้กับวงการ และ สังคมก่อน ต้องตอบแทนคนที่ติดตามเรา และต้องสร้างความรู้จักขึ้นมา โดยอย่าหวังแค่ว่า จะเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ 

เพื่อที่จะเป็นบล็อกเกอร์พันธุ์ใหม่ ที่ไม่ใช่แค่แจ้งเกิดได้ แต่ยังอยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างน่าภาคภูมิด้วย 
...........................

คิดก่อนใช้ “บล็อกเกอร์”


“บล็อกเกอร์” กำลังอยู่ในความสนใจของนักการตลาด แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะรู้จักช่องทางนี้มากขึ้น ก่อนหยิบมาใช้ให้ “Success”

“สุธีรพันธุ์ สักรวัตร” ที่ปรึกษาอิสระด้าน Brand Communication Digital Marketing และ Social Media บอกว่า บล็อกเกอร์ คือ “นักเขียนอิสระ” ที่จะสำเร็จหรือล้มเหลวในวิชาชีพ ก็ขึ้นกับ “ผลงาน” ของแต่ละคน ถ้าเป็นผลงานมีประโยชน์ ผู้คนยอมรับ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง ก็ถือว่า บล็อกเกอร์คนนั้น ทำหน้าที่ตัวเองได้สมบูรณ์แล้ว ซึ่งรายได้ที่เกิดจากการว่าจ้างให้ทำงาน ถือเป็นเรื่องปกติ

ตราบใดที่สิ่งที่บล็อกเกอร์เขียนหรือนำเสนอออกไป อยู่บนพื้นฐานของ "ความจริง" ส่วนสิ่งซึ่งจะทำให้บล็อกเกอร์อยู่ในอาชีพนี้ได้นาน ก็คือ การรักษาไว้ซึ่ง "ความน่าเชื่อถือ"

ขณะที่แบรนด์สินค้า ต้องเลือกใช้บล็อกเกอร์ที่มีอิทธิพลกับกลุ่มเป้าหมาย คือ เลือกให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด สำคัญกว่านั้น คือ ต้องเข้าใจว่า เราใช้บล็อกเกอร์เพื่อทำให้คนรู้จักแบรนด์ในมุมมองของบล็อกเกอร์ เขาเป็นแค่ “Touch point” ไม่ใช่ทุกอย่าง อย่าไปคาดหวังให้เขาพูดอะไร “เกินจริง” หรือถึงขนาดจะต้องมี KPI วัดกัน ถึงขนาดนั้น ทุกอย่างจะบ่ายเบี่ยงไปหมด และช่องทางนี้ก็จะสิ้นประสิทธิภาพ

“การใช้บล็อกเกอร์ ขอให้ ‘อย่าล้ำเส้น’ คือให้มองเขาเป็นแค่ Touch point และเขาทำหน้าที่เป็น Earned media คือ สื่อที่ได้มาโดยเสน่หา ไม่ใช่ Paid media หรือสื่อที่เราซื้อมา ที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ แม้เราอาจต้องจ่ายเงินในการใช้บล็อกเกอร์ แต่มุมมองที่มีต่อบล็อกเกอร์ ต้องเป็นสื่อที่ได้มาโดยเสน่หา”

ในมุมผู้บริโภค เขาว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ "ฉลาดพอ" ที่แยกออกว่า อันไหนคือ “โฆษณา” อันไหนคือ “ความจริง” ผู้บริโภคยุคนี้เวลาจะตัดสินใจซื้อสินค้า เขาไม่ได้หาข้อมูลจากแหล่งเดียว แต่จะใช้ข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ก่อนตัดสินใจในตัวสินค้า ฉะนั้นลูกค้าย่อมไม่เชื่อในตัวบล็อกเกอร์คนเดียวแน่ๆ

“ผมไม่อยากใช้คำว่าเทรนด์ แต่เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันมากกว่า ที่เป็น “Prosumer” (proactive consumer) คือ ผู้บริโภคที่หาข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้อ ไม่เชื่อโฆษณา เลยมีเรื่องของบล็อกเกอร์เกิดขึ้น แต่หากผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น พึ่งพาตัวเองในการหาข้อมูลมากขึ้น และสามารถพิจารณาสินค้าเองได้ บล็อกเกอร์ก็อาจไม่จำเป็นอีกเลยก็ได้”