คลังชงแก้'ก.ม.ภาษีสรรพสามิต' เอกชนห่วงราคาสินค้าปรับขึ้น

คลังชงแก้'ก.ม.ภาษีสรรพสามิต' เอกชนห่วงราคาสินค้าปรับขึ้น

"คลัง" เตรียมเสนอร่างการปรับแก้กฎหมายสรรพสามิตเข้าครม.ในเดือนนี้ หวังทันสมัย โปร่งใส ขยายฐานภาษี "เอกชน"ลุ้นอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่

หลังรัฐเปลี่ยนเกณฑ์คำนวณราคาขายส่งช่วงสุดท้ายเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ชี้หากใช้อัตราเดิมทำให้ราคาสินค้าขยับกระทบผู้บริโภค


กระทรวงการคลังเตรียมเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายสรรพสามิตใหม่ ปรับระบบการคำนวณภาษีการจัดเก็บ โดยวัตถุประสงค์การปรับแก้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและขยายฐานภาษีกว้างขวางขึ้น


นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภายในเดือนนี้กระทรวงการคลังจะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติร่างกฎหมายและการปรับแก้กฎหมายสำคัญจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย การปรับแก้ประมวลกฎหมายสรรพสามิต ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการปรับแก้ประมวลกฎหมายศุลกากร
นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติกระบวนการจัดตั้งและเปิดรับสมาชิกตามกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. หลังจากนั้น จะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในงบประมาณปี 59


"ร่างกฎหมายและการปรับแก้ประมวลกฎหมาย 3 ฉบับดังกล่าว จะช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี เกิดความทันสมัย และสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ"


กำหนดคิดภาษีราคาขายปลีก
การปรับแก้ประมวลกฎหมายสรรพสามิตนั้น โดยกำหนดการประเมินภาษี ณ ราคาขายปลีก เมื่อปรับแก้แล้ว จะส่งผลต่อฐานการจัดเก็บรายได้ของกรมฯเพิ่มขึ้น แต่การปรับเพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย


"เมื่อเราปรับประมวลกฎหมายสรรพสามิตแล้ว หากเราไม่ปรับปรุงอัตราภาษี จะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะฐานคำนวณภาษีจะใช้จากฐานราคาขายปลีกแนะนำ ดังนั้น ในประเด็นนี้ เราก็ต้องมาดูให้เกิดความเหมาะสมในแง่ของอัตรา เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้รัฐ ผู้ผลิตและผู้บริโภค" เขากล่าว


โดยร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต จะเป็นการนำกฎหมายสรรพสามิต 7 ฉบับ และประกาศกฎกระทรวง รวมถึงข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 ฉบับ ที่ได้ประกาศใช้มานานมาปรับปรุงรวมเป็นฉบับเดียว เพื่อให้กฎหมายทันสมัยตามหลักสากล เพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่สรรพสามิตในการจัดเก็บภาษี ขณะเดียวกัน เป็นการแก้ไขปัญหา กรณีผู้ประกอบการนำเข้าสำแดงราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง


สรรพสามิตตั้งเป้าจัดเก็บ4.47แสนล้าน
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมฯได้วางเป้าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558 เพิ่มขึ้น 2.7 หมื่นล้านบาท จาก 4.2 แสนล้านบาท เป็น 4.47 แสนล้านบาท หลังรัฐบาลได้ประกาศปรับอัตราภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ขณะนี้ กรมฯมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มจากเป้าหมายประมาณ 5 พันล้านบาทต่อเดือน


นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้จากภาษีสินค้าตัวอื่นก็มีแนวโน้มที่ดี อาทิ เครื่องดื่มประเภทต่างๆ และบุหรี่ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการจัดเทศกาลต่างๆในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง เทศกาลตรุษจีน และ สงกรานต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ประกอบกับ การเข้มงวดในการตรวจจับการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษีต่างๆ ทำให้มีแนวโน้มว่า กรมฯจะสามารถจัดเก็บรายได้จากสินค้าเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี


สำหรับสินค้าประเภทรถยนต์นั้น แม้ว่า ระยะที่ผ่าน ยอดการจัดเก็บจะต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ขณะนี้ ยอดจัดเก็บที่ต่ำกว่าเป้าหมายได้ทยอยปรับลดลง จากเดิมต่ำเป้าหมายเฉลี่ยประมาณ 3 พันล้านบาทต่อเดือน แต่ขณะนี้ ยอดลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 1 พันล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ มีแนวโน้มว่า ยอดการจัดเก็บจะเพิ่มขึ้น หลังผู้ประกอบการยืนยันยอดการผลิตในปีนี้ที่ประมาณ 1 ล้านคัน จากปีก่อนที่มียอดผลิตที่ 8 แสนคันต่อปี


แจงหากใช้อัตราเดิม "ราคาสินค้าขยับ"
นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบียร์ไฮเนเก้น กล่าวว่า ร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแนวทางการจัดเก็บภาษีจากราคาขายส่งช่วงสุดท้าย เป็นราคาขายปลีกแนะนำ โดยเห็นว่า หากรัฐยังคงอัตรา "ภาษีเดิม" แม้เปลี่ยนแนวทางการจัดเก็บ โดยหลักการย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่ารัฐจะกำหนดอัตราภาษีเท่าใด เพื่อใช้ในการคำนวณ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่รัฐอาจเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ลดลง หรือคงการจัดเก็บในอัตราเดิม
"แน่นอนว่าหากรัฐเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอัตราภาษีเดิม ก็จะทำให้ราคาสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเกณฑ์เดิมเป็นการคำนวณจากราคาขายส่ง ส่วนเรื่องราคาสินค้าจะปรับขึ้นหรือไม่ อยู่ที่กฎหมายใหม่จะออกมาว่าจะจัดเก็บเท่าใด อาจทำให้ราคาสินค้าลดลงหรือเพิ่มขึ้นก็ได้"


เชื่อรัฐมองผลกระทบในวงกว้าง
นายพงศธร อังศุสิงห์ ประธานคณะอนุกรรมการภาษีสรรพสามิต สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามหลักการที่ภาครัฐและเอกชนเคยหารืรอร่วมกันถึงแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรม และไม่ต้องการให้กระทบเรื่องราคาสินค้า
ดังนั้น หากรัฐจะเก็บภาษีสรรพสามิตโดยใช้โครงสร้างหรืออัตราภาษีเดิม คงไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ราคาสินค้าจะปรับสูงขึ้นแน่นอน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการจัดเก็บใหม่


"ถ้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแล้วไม่เปลี่ยนแปลงอัตราจัดเก็บ ราคาสินค้าต้องขยับสูงขึ้นไป ยังไงก็ต้องเปลี่ยนแปลงอัตราให้เหมาะสม เพราะจากที่หารือกับรัฐ ระบุว่าไม่ต้องการจะหารายได้เพิ่ม แต่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม และภาคเอกชนก็พยายามชี้แจงไปทางภาครัฐว่าควรพิจารณาถึงผลกระทบในวงกว้างด้วย เพราะต้องยอมรับว่าภาษีสรรพสามิตเกี่ยวกับสินค้าในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคอย่างมาก"

ภาษีเพิ่มกระตุ้นลูกค้าเร่งซื้อรถ
นางสาวยุคนธร วิเศษโกสิน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดเก็บภาษี 2 ประการ ทั้งการเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของภาครัฐ โดยจะมีการปรับฐานภาษีมาเก็บที่ราคาขายปลีกแนะนำแทนการจัดเก็บหน้าโรงงานตาม พ .ร.บ.ประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตแล้ว ยังจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษี โดยจัดเก็บตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค. 2559 อีกด้วย


การปรับเปลี่ยนทั้ง 2 ส่วนอาจจะมีผลต่อโครงสร้างราคารถยนต์ในบางรุ่นที่อาจจะต้องปรับสูงขึ้นในปีหน้า แต่สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อตลาดในปีนี้ที่ยังคงมีแนวโน้มซบเซา เนื่องจากผู้บริโภคจะเร่งการซื้อรถในปีนี้มากขึ้น เพราะกลัวว่าจะต้องจ่ายแพงขึ้นหากซื้อรถปีหน้า


อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าราคาจะเป็นอย่างไร โดยแต่ละค่ายก็อยู่ในช่วงของการพัฒนาเทคโนโลยี หรือเลือกจำหน่ายรถในรุ่นที่เห็นว่าสามารถได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างภาษีใหม่


ขณะที่นายองอาจ พงษ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ทางผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับภาครัฐเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีใหม่ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็อยู่ในกระบวนการลดต้นทุน เพื่อไม่ให้กระทบกับแนวทางภาษีใหม่