'ไอแบงก์'ขายหุ้น'อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง'หากได้ราคา3บ.

'ไอแบงก์'ขายหุ้น'อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง'หากได้ราคา3บ.

"ไอแบงก์"สนใจขายหุ้น บมจ.อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง หากได้ราคา 3 บาทจากต้นทุน 1.31 บาท หวังลดภาระ

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารสนใจที่จะขายหุ้น บมจ.อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง (AMANAH) ซึ่งธนาคารถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 49% หากมีผู้ที่แสดงความสนใจซื้อหุ้นในราคา 3 บาท/หุ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระของธนาคาร และจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นมาใช้เป็นเงินลงทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธนาคาร โดยต้นทุนที่ธนาคารซื้อหุ้นมาที่ 1.31 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้มีการพูดคุยและเจรจากับผู้ที่สนใจแล้วในเบื้องต้น แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา

"หุ้น AMANAH เรายินดีจะขายให้ โดยราคาที่เราสนใจจะขายอยู่ที่ 3 บาทต่อหุ้น ซึ่งต้นทุนที่เราซื้อมาอยู่ที่ 1.31 บาทต่อหุ้น ตอนนี้เราถืออยู่ 49% เราก็จะขายหมด เพื่อเป็นการลดภาระของธนาคารที่มีอยู่เยอะแล้วตอนนี้ และนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นมาลงทุนและเป็นเงินหมุนเวียนในธนาคาร ตอนนี้ก็มีพูดคุยกับคนที่สนใจซื้อแต่ยังไม่มีข้อสรุปออกมา แต่ในส่วนของ AMANAH เรายังไม่โฟกัสมากเท่าไหร่ในตอนนี้ เพราะสินทรัพย์ใน AMANAH มีไม่มากประมาณ 2 พันกว่า แต่ของไอแบงก์เองสินทรัพย์มีมากกว่าแสนล้านบาท เราจะโฟกัสที่การแก้ปัญหาไอแบงก์ก่อนตอนนี้"นายชัยวัฒน์ กล่าว

สำหรับการแก้ปัญหาของไอแบงก์ตามแผนฟื้นฟูที่เสนอกับคณะกรรมการควบคุมกำกับรัฐวิสาหกิจ (กนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ธนาคารตั้งเป้าลดสัดส่วน NPFs (Non Performance Finance) ในปี 58 ที่ 2 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมดที่ 4.78 หมื่นล้านบาท และธนาคารสามารถบันทึกกลับสำรองเข้ามาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่ธนาคารจะนำมาใช้ คือ การแบ่งลูกค้าเป็น 4 กลุ่มในการบริหารจัดการหนี้ ได้แก่ 1.กลุ่มดำเนินกิจการและสามารถฟื้นตัวได้ ธนาคารยังมีการให้การสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง 2.กลุ่มดำเนินกิจการฟื้นตัวได้/อื่นๆ (ขาย/ทรัพย์ศักยภาพ) ธนาคารจะช่วยการบริหารและจัดการการลดภาระหนี้ 3.กลุ่มดำเนินกิจการแต่ฟื้นตัวยสก ธนาคารจะช่วยให้การสนับสนุนทางกระแสเงินสด แต่อาจะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมากในการแก้ไขปัญหา 4.กลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและ/หรือหยุดดำเนินกิจการ ธนาคารจะมีการดำเนินคดีทางกฏหมาย เนื่องจากกลุ่มที่ 4 คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีเจตนาสร้างความเสียหายให้กับธนาคาร
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในไตรมาส 1/58 ธนาคารคาดว่าจะสามารถลด NPFs ได้อยู่ที่ 1.03 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่า และบันทึกเงินสำรองบวกกลับมาราว 5.2 พันล้านบาท หรือสูงกว่านั้น อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาของธนาคารจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปีนี้มีการขาดทุนลดลงหรือหยุดการขาดทุนจากสิ้นปี 57 ที่ขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าผลการดำเนินงานในปี 59 ของธนาคารจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้