Root Garden ร้าง ดี มีประโยชน์

Root Garden ร้าง ดี มีประโยชน์

ปฏิบัติการเพิ่มมูลค่าบนผืนดินรกร้างใจกลางกรุง สู่โมเดลสังคมแห่งการแบ่งสรรปันส่วนที่ต่างคนต่างได้ประโยชน์

พื้นที่ขนาดกะทัดรัดปากซอยทองหล่อ 3 ติดสถาบันปรีดีพนมยงค์วันนี้ น่าจะทำให้ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวนั้นอดแปลกใจไม่ได้ กับแปลงเกษตรขนาดย่อมที่มีตั้งแต่ บ่อเลี้ยงปลา โรงเห็ด แปลงสารพัดผัก เล้าไก่ หรือแม้กระทั่งคอกแพะ

Root Garden คือชื่อของสวนเกษตรผสมผสานขนาด 258 ตารางวา แห่งนี้

"คนแถวนี้เขาสั่งไว้ทุกวันเลยครับ" โต้ง - วรุตม์ บุญฑริก หนึ่งในสมาชิกของ Root Garden ตอบขณะที่มือคู่นั่นกำลังตัดแต่งเห็ดนางฟ้าภูฏาณในกระจาดบนมัดฟางริมบ่ออย่างขะมักเขม้น ไม่ว่าจะด้วยความสดที่ส่งตรงจากโรงเห็ด (ในสวน) หรือราคาที่ใครหลายคนอาจคิดไม่ถึง ทำให้ยอดออเดอร์สั่งซื้อของพวกเขาเกินปริมาณผลผลิตอยู่เสมอ

แต่นั่นยังไม่เท่ากับความสงสัยในสายตานักธุรกิจว่า ทำไม พวกเขาถึงมองข้ามผืนดินทำเลทองที่มีมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท มาขุดดินสร้างบ่อ ชำกล้าผัก เลี้ยงสัตว์อยู่อย่างนี้

...เสียงโหวกเหวกจากแคร่ข้างๆ

"สงสัยใส่น้ำน้อยไป" ใครบางคนกำลังหมายถึง "เห็ดชุบไข่" กำลังท่วมน้ำในกระทะ เมนูความหวังใหม่ที่ชาวสวนเฉพาะกิจแห่งนี้หมายมั่นปั้นมือว่าจะทำเป็น "จานเด็ด" อีกเมนูประจำสวนแห่งนี้

สวนผัก (เคย) ร้าง

ครั้งหนึ่ง ที่ดินผืนนี้เคยเป็นบ้านของ "ครูองุ่น มาลิก" ที่มอบให้แก่มูลนิธิไชยวณา ด้วยเจตนารมณ์ให้ใช้ที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากกลายเป็นที่ตั้งของสถาบันปรีดี พนมยงค์ พื้นที่อีกส่วนยังเคยถูกใช้สอยไปในลักษณะต่างๆ กัน

หากยังจำกันได้ ที่นี่เคยกลายเป็นที่ตั้งของสวนอาหาร ซึ่งต่อมาถูกตีสังกะสีล้อมรั้วหลังจากยุติกิจการไป และถูกทิ้งร้างเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 2557 โต้ง และเพื่อนๆ ของเขาจึงเข้ามาพร้อมกับแนวคิดที่อยากจะทำให้สังคมดูว่า ที่ดินผืนนี้มัน "ปลูก" อะไรขึ้นบ้าง 

"ตอนนี้ที่ดินมันรกร้างว่างเปล่า เพราะอะไร... เพราะว่ามันกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อยซึ่งเขาอาจจะมีที่ดินเยอะ แต่ไม่มีเวลาไปดูแลที่ดินต่างๆ " โต้งในฐานะผู้จัดการสวนฯ อธิบาย 

ด้วยความต้องการจะทำตัวอย่างการปรับปรุงพื้นที่รกร้าง เพื่อสื่อสารว่า หากปล่อยที่ดินรกร้างเหล่านี้ ไปสู่มือผู้ที่ไม่มีที่ดินที่ต้องการทำประโยชน์จริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง รูปธรรมของความต้องการของพวกเขา ในนามของ คณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับเพื่อปฏิรูปที่ดิน จึงกลายเป็นสวนแห่งนี้ขึ้นมา

"ผมก็เริ่มทำจากการปรับพื้นที่ ก็ยอมรับว่า คงใช้แรงงานคนไม่ได้ เพราะว่า มันใหญ่ แล้วก็มีหินหนักๆ ที่เป็นซากตึกซากอาคาร ก็ต้องมีรถแบ็คโฮเข้ามาช่วย พอที่เราเรียบร้อยแล้ว เราก็เริ่มสร้างโรงเรือนทีละโรง ทำแปลงผักกันไปทีละแปลง"

หลังจากใช้เวลาลงแรงกันอยู่ประมาณ 2 เดือน แปลงผักผสมผสานแห่งขึ้นก็ถูกเปิดม่านขึ้นเพื่อ "จัดแสดง" อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา แน่นอน หน้างานแบบนี้ต้องได้ความร่วมมือมาจากภาคีเครือข่ายส่วนต่างๆ ที่มีแนวคิดสอดคล้องกันมาสนับสนุน 

"พันธุ์ข้าวเราก็ได้สนับสนุนจาก นาวิลิต จากเพชรบุรี แล้วเขาก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาช่วยเรา"

แปลงข้าวด้านหลังสุดเป็นแปลงเพาะตัวอย่าง ก่อนที่แปลงถัดมานั้นจะเป็นผักชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้ง
"กระเทียมตรงนั้นก็เพื่อกันแมลง กลิ่นฉุนของมันไล่แมลงได้" เขาชี้ให้ดูอีกแปลงที่อยู่ใกล้ๆ นอกจานั้นยังมีไข่ไก่ เห็ด บ่อปลา คอกแพะ ก็รวมอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน

สำหรับการจัดสรรปันส่วนพื้นที่นั้น โต้งยอมรับว่า เป็นไปตามสภาพพื้นที่ เดิมทีคิดจะลงผักทั้งหมด แต่ด้วยทิศทางของแสงที่ลงไม่ทั่วถึง (เพราะติดเงาตึก) จึงทำให้สามารถลงผักใบเขียวได้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งจึงถูกปรับเป็นโรงเรือน

"มันจะมีเศษพืชผักที่เหลือจากการผลิตของเรา เราก็เลี้ยงแพะเพื่อที่ว่า จะให้มันกินตรงนี้ด้วย แล้วก็มูลแพะ เราสามารถเอาไปเป็นปุ๋ยคอกได้ พูดง่ายๆ คือหมุนเวียนอยู่ในสวนของเรา"

ส่วนพื้นที่ว่างด้านหน้าสวนนั้นถูกปรับให้เป็นลานกิจกรรมที่จะมีเสวนาทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน และเวิร์คชอปทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน รวมทั้งตลาดนัดออร์แกนิค และสินค้าทำมือก็น่าจะมารวมกันอยู่ที่นี่ได้

"อันนี้เป็นไข่ที่เพิ่งออกมาวันนี้ แต่ยังฟองเล็กอยู่ครับ เพราะเป็นไก่สาว" เขาชี้ให้ดูไข่สีนวลขนาดไม่เกินลูกกอล์ฟด้วยรอยยิ้ม

ดูก็ได้ ขายก็ดี

หากได้ลองนั่งสังเกตสวนริมถนนในซอยแห่งนี้ เราจะเห็นว่า นอกจากความแปลกตาที่แม้แต่ผู้คนในละแวกนั้นยังอดจับกลุ่มคุยกันอยู่ไม่ได้ ใครที่ผ่านไปผ่านมามักจะหันมอง แต่ก็มีไม่น้อยที่ชักชวนกันมาเป็นขาประจำที่ "ฟาร์มขนาดย่อม" แห่งนี้ ไม่ว่าจะฝากท้องกับเมนูออร์แกนิค (ซื้อผักกลับบ้านไปปรุงทานเอง) หรือแวะหามุมสวยๆ โพสท์รูปอวดเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดีย

ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวในความคาดหวังของ นัย-เอกดนัย วงษ์วัฒนะ ที่รับผิดชอบหน้าที่ดูแลด้านการบริหารผลิต และการตลาดแทบทั้งสิ้น

"ครับ ต้องเอาตัวรอด" เขายอมรับ

ทุกอย่างในสวน นิติศาสตร์บัณฑิตนักขายคนนี้ตั้งใจว่าต้องขายได้ โดยใช้ "ความแปลก" ทำตลาด

"มันดูแปลกจากกิจวัตรทั่วไป ต้องยอมรับว่า คนสมัยอินเทอร์เน็ตค่อนข้างฉาบฉวย ยิ่งแปลก ยิ่งเร็ว ยิ่งใหม่ ก็ยิ่งกรูเข้ามาหากันมากขึ้น" เขาวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยทำเลที่มีอยู่อย่างต้นซอยทองหล่อ ก็ยิ่งส่งเสริมความแปลกทำให้ดูน่าสนใจมากขึ้น

"มูลค่าที่ดิน 200 ล้าน มันก็ดูขัดแย้งนะ ไอ้พวกนี้มันทำอะไร (ยิ้ม) พอทุกคนยิ่งมีความสงสัยอยู่ในใจก็ไปคุยกับเพื่อน สร้างความสงสัยให้เพื่อน พอสงสัยกันครบ 10 คน เฮ้ย ไปดูกันเถอะ พอมาดูกัน เฮ้ย ดีว่ะ เขามาก็รู้สึกสบาย เราสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เขา เช่น คุณเคยกินไข่ แต่คุณไม่เคยได้รู้ว่า ไก่ตอนออกไข่เป็นยังไง ตอนเด็กๆ ผมเชื่อมาตลอดว่า ไข่ไก่ต้องเอาสีทาก่อน คิดว่ามันออกมาเป็นแบบไข่เป็ดแล้วก็ทาสีน้ำตาล ก็เพิ่งมารู้ว่ามันไม่ใช่ นั่นคือความรู้สึกเดียวกับคนที่มาแล้วรู้สึกเหมือนผมก็คือ อ๋อ ไก่มันเป็นอย่างนี้เหรอ"

..อีกส่วนที่สำคัญ ก็คือ การเอาใจใส่

"ดูแลแบบคนชนบท ผมทำตัวลูกทุ่งมาก" เขาหัวเราะ

กลุ่มเป้าหมายที่ได้มาก็คือ ครอบครัว ทั้งพ่อแม่ลูก คนสูงอายุ มักจะแวะเวียนมาอยู่บ่อยๆ นอกจากนั้นยังได้กลุ่มคนเมืองที่มาถ่ายภาพเล่นก็มี

"คุ้มเหรอ..?" เป็นคำถามที่นัยต้องตอบอยู่บ่อยๆ

เขาพบว่า คนทั่วไปมองว่า ที่นี่คือทำเลทอง ไม่ก็ต้องเป็นคนมีฐานะที่มีทั้งเวลา และไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่ที่สนใจจริงๆ ถึงขั้นมาถามหา ฮาวทู ก็มี

"กูเกิ้ลครับ" รอยยิ้มนั้นทำงานอีกครั้ง นั่นก็เพราะต้องการสื่อสารว่า ง่าย สามารถนำกลับไปเป็นแนวคิดทำเองที่บ้านได้ แต่หากต้องการทฤษฎีจริงๆ พวกเขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ไปร่วมกัน พร้อมจะติดต่อผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

"เพราะว่าเจตนารมณ์ของคนที่ทำซิตี้ฟาร์มก็คือ ก็เพื่อจะเผยแพร่และขยายเจตนารมณ์ที่ดี ความมุ่งมั่น อุดมการณ์ที่ดีกระจายออกไป เราทำเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ของลูกหลานในอนาคต แล้วเขาก็ตระหนักดีว่า ที่ผ่านมา เขาทิ้งที่ไว้ แล้วเขารู้สึกว่าถ้าทำมันก็ดี ก็อยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศต่อไป" จุดมุ่งหมายมีอยู่เท่านี้

จนถึงตอนนี้ ก็มีเจ้าของที่ดินจำนวนหนึ่งให้ความสนใจ ติดต่อพวกเขามาให้ไปทดลองทำในที่ดินของตนเองบ้างแล้ว

ยิ่งแบ่ง.. ยิ่งเพิ่ม

รอยยิ้มของผู้คนที่อาศัยเงาไม้ และเงาตึกพักสนทนากันตรงกองฟางที่วางกระจัดกระจายตามบริเวณต่างๆ ของสวน เริ่มจะกลายเป็นความคุ้นชินของคนทำงานอย่าง โต้ง และนัยไปแล้ว พวกเขายืนยันว่านี่คืออีกมุมหนึ่งของความต้องการให้เกิดกับที่ดินผืนนี้

แต่ถ้าถามว่าจริงๆ แล้วพวกเขาได้อะไร

"ผมอยากชวนอีก 1 ปีหลังจบโครงการเราค่อยมาดูกัน" จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ จากองค์การ OXFAM ประเทศไทย อีกหนึ่งหัวแรงสำคัญของโครงการฯ บอก ขณะเดียวกันเขาก็มีคำถามชวนคิดย้อนกลับไปถึงสังคมด้วย
"ต้องถามกลับว่า คุณเอาที่ดินมูลค่า 200 ล้านมาทิ้งไว้ให้เปล่าประโยชน์ได้ยังไง"

นอกจากนี้ "คำถาม" ที่ซ่อนอยู่ในผืนดินผืนนี้ยังแตกแขนงไปเป็น "สาร" ที่มีรายละเอียดในแง่ต่างๆ

- ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่
- คนไทยร้อยละ 20 ถือครองที่ดิน (โฉนด) มากกว่าร้อยละ 80 ขณะที่คนไทยอีกร้อยละ 80 ถือครองที่ดินรวมกันไม่ถึงร้อยละ 20
- คนไทยราว 4.3 ล้านคนประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน
- คนไทยอีกราว 7 ล้านคนประสบปัญหาที่ดินทับซ้อนกับรัฐ
- ขณะที่ชนชั้นกลางอีกหลายล้านคนต้องทำงานหนักทั้งชีวิตเพื่อที่จะมีที่ดิน และบ้านเป็นของตัวเอง
- การกระจุกตัวของที่ดินทำให้เกิดการใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ คนยิ่งครองที่ดินมากยิ่งใช้ประโยชน์น้อย อาทิ ผู้ครองที่ดินเกิน 10,000 ไร่ กลับใช้ที่ดินเหล่านั้นทำประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 30
- การใช้ที่ดินไม่เต็มศักยภาพทำให้ประเทศไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 127,384 ล้านบาท

ข้อความบางส่วนในเอกสาร ปฏิรูปที่ดิน : ประชาชนขอทำเอง โดย Change.org และ FB พลิกฟื้นผืนดินไทย เป็นเรื่องราวของที่ดินอีกด้านที่เขาอยากให้สังคมได้รับรู้ ภายใน 1 ปีนี้ เขาจึงอยากทำให้เห็นว่าคุณค่าของที่ดินร้างสามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับคนที่ไม่มีที่ดินได้อย่างไรบ้าง

แน่นอน เรื่องความไม่สบายใจด้านความสุ่มเสี่ยงของการไม่ยอมย้ายออกเมื่อครบกำหนดสัญญา อาจจะเกิดขึ้น แต่ในมุมของคนทำงานอย่างจักรชัยนั้นมองว่าเรื่องนี้แก้ง่ายมากหากเริ่มต้นด้วย "สัญญาที่ชัดเจน" รวมทั้งมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมาเป็นตัวกลางในการวางกติการ่วมกัน

ผลก็คือ...

"พอเราจบโครงการมีคนจะมาขอให้ต่อในที่ตรงนี้ในเชิงพาณิชย์ แต่เงื่อนไขก็ต้องเป็นเชิงพาณิชย์อย่างสร้างสรรค์ มีคนที่สนใจทันทีเลย เพราะที่ดินมีชีวิต มันมีภาพลักษณ์เกิดมาแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปเลย สำหรับนักลงทุน สำหรับคนอื่นๆ" เขายืนยัน

อีกด้าน นี่ยังเป็นการสะท้อน "น้ำใจ" ในสังคมไทย ซึ่งมีหน่ออ่อนของการเกื้อกูลกันเป็นพื้นฐานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ที่สำคัญ ยังหมายความไปถึงการนำไปสู่แนวทางการหาทางออกเรื่องที่ทำกินอย่างเป็นธรรม และยั่งยืนต่อไปในสังคมนั่นเอง

"เราต้องการเปลี่ยนทัศนคติเป็นประโยชน์ของทุกคน ผมถามว่า ที่ตรงนี้ใครมีความสุขมากกว่ากัน คนจนได้รายได้ อันนี้เขาก็ประทังชีวิต แต่คนที่มาเสพความสุขจากสวนตรงนี้ ทานผักออร์แกนิก เลี้ยงแพะ ได้ไข่ออร์แกนิก นี่คือคนมีฐานะย่านทองหล่อทั้งนั้น ผมต้องจะให้เห็นว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่จะถักร้อยสังคมไทยกลับมาอีกครั้งหนึ่ง"

ไม่ต่างกับตัวร่างกฎหมายที่พวกเขาพยายามผลักดัน ประกอบด้วย กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อให้เกิดการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์สูงขึ้น และเก็บภาษีเฉพาะคนที่มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป ให้ที่ดินรกร้างต้องเสียภาษีที่มากกว่าที่ดินที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็นการบังคับให้คนคายที่ดินออกมาให้คนอื่นๆ ใช้ได้วงกว้างมากขึ้น กฎหมายเรื่องของโฉนดชุมชนเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน คนยากจนสามารถรวมตัวกัน และเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น กฎหมายกองทุนยุติธรรมที่จะเอื้ออำนวยให้คนจนที่มีปัญหาเรื่องที่ดินสามารถหาเข้าถึงกลไกยุติธรรมได้จริง และกฎหมายธนาคารที่ดิน

"เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการให้เห็นว่า การมีภาษีตัวนี้คลี่คลายความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการถือครองที่ดิน ไม่ได้เป็นโทษกับใครเป็นการเฉพาะ คนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ต้องแบกรับอะไรเลย" เขายืนยันหนักแน่น

ทั้งหมดคือ สิ่งที่ผืนดินขนาด 258 ตารางวา ต้นซอยทองหล่อกำลังแสดงให้สังคมไทยดูในชื่อของ Root Garden