#ชีวิตดี๊ดี "พรีเวดดิ้ง"

#ชีวิตดี๊ดี "พรีเวดดิ้ง"

ในเมื่อมันจะต้องเป็น "ครั้งเดียวในชีวิต" แล้ว ก็ขอให้เลิศเลอ เว่อร์สุดๆ ไปเลยแล้วกัน

"อยากถ่ายกลางทางด่วนจุงเบยย...ถ่ายเอาทางคู่ขนานเหมือนเราคู่กัลล" / "สี่แยกที่รถวิ่งผ่านเยอะๆ ก็สวยดีนะ แต่ก็แอบเสียวอ่ะ" / "สุสานสวยๆ เลย รักแล้วจะตายไปด้วยกัน" / "อยากถ่ายแนว Nude เก็บไว้ดูสักอัลบั้ม (รอทุนก่อน) ... อิอิ"

ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงต้องอุทานคำว่า "ขุ่นพระ!!!" ออกมาดังๆ เพราะแนวคิดเรื่องการถ่ายภาพก่อนแต่งงาน หรือ pre wedding ของแต่ละคนนั้น ช่างลึกล้ำเกินจะจินตนาการตามจริงๆ

จะว่าไป เรื่องราวความรักที่หลายคนอยากประกาศให้โลกได้รับรู้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล จะกระทำในรูปแบบไหน อย่างไร คงไม่มีใครว่า แต่ถ้าทำแล้วส่งผลกระทบกับผู้คน สังคม วัฒนธรรม และความปลอดภัยในหลายๆ ด้าน จะทู่ซี้ทำไปเพื่ออะไร

ฉายภาพรักสุดหรู

"แปลกไหมจะแต่งงานแต่ไม่ถ่าย pre wedding" กระทู้จากเว็บไซต์ชื่อดังสะกิดต่อมคู่รักที่กำลังลังเลกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งจะเป็นกระแสที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยได้เพียง 20 ปีเศษ แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนบางคนคิดว่ามันคือหนึ่งในพิธีกรรมสำคัญของการแต่งงานไปแล้ว 

"ถ้าให้ประเมินจากคู่แต่งงานทั้งหมด จะมีคู่แต่งงาน 98 เปอร์เซ็นต์เลยนะที่ถ่ายพรีเวดดิ้ง" ธีรศักดิ์ มณีจินดาวงศ์ Account Executive จาก Ladawan The Wedding Planner ยืนยัน
แต่สำหรับ อภิชญา วานิชกมลนันทน์ หรือ แป้ง ว่าที่เจ้าสาวในอนาคต บอกว่า เธอไม่เห็นความสำคัญของการถ่ายภาพก่อนแต่งงาน เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ในลิสต์รายการในวันแต่งงานของเธอ
"ก็คงแปลกเหมือนกันนะที่ไม่ถ่ายพรีเวดดิ้ง เพราะที่แป้งไปมาทุกงานมีรูปพรีเวดดิ้งหมดเลย แต่แป้งว่าถ้างานแป้งจะต้องเอารูปมาติดก็จะเอารูปที่เราเคยไปเที่ยวด้วยกันมาติดดีกว่า เพราะจุดประสงค์ในการแต่งงานของแป้งคือการใช้ชีวิตคู่ เพราะฉะนั้นเราคงไม่จำเป็นต้องถ่ายพรีเวดดิ้งเพื่อใช้เป็นความทรงจำอะไรของเรา"
อภิชยา ยอมรับว่า การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งเพื่อบันทึกความทรงจำที่แสนประทับของคู่รักเป็นเรื่องที่ดี แต่มันก็เหมาะสำหรับคนที่พร้อมจริงๆ เท่านั้น
"แป้งมองว่ามันสิ้นเปลือง เพราะทุกอย่างคือค่าใช้จ่าย ถ้าเขามีบัดเจ็ตที่จะทำก็ไม่มีปัญหา แต่บางคนไม่มีแล้วดิ้นรนหาไปก็ใช่เหตุ ยิ่งสมัยนี้โลกออนไลน์มันง่ายต่อการเข้าถึง คือไม่รู้จะเรียกว่าอวดหรือเปล่านะ คือแค่ได้ถ่ายรูปโชว์ว่าเราไปถ่ายพรีเวดดิ้งถึงที่นั่นที่นี่นะ ไปถ่ายเมืองนอกนะ เพื่อให้ได้ยอดไลค์เยอะๆ มันก็มี มันบ่งบอกว่าเรามีตังค์ไปถ่ายถึงเมืองนอกอะไรแบบนี้ เหมือนเป็นการอวดกันด้วย ก็สร้างค่านิยมอีกแบบหนึ่ง" ว่าที่เจ้าสาว บอก
การถ่ายภาพก่อนแต่งงานถือเป็นการบันทึกภาพความประทับใจที่คู่รักมีต่อกันก่อนจะเริ่มต้นการใช้ชีวิตคู่ แต่เพราะไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณ หรือเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมการแต่งงานแบบไทย ดังนั้นจะถ่ายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคู่รักแต่ละคู่
"แนวโน้มที่คู่รักจะถ่ายภาพมีเยอะมาก อันนี้รวมทั้งหมดนะ ทั้งถ่ายภาพเดียวในสตูดิโอเพื่อใช้หน้างาน หรือเป็นเซ็ตในสตูดิโอและถ่ายแบบเอาท์ดอร์ บางคู่ถ่ายภาพพรีเวดดิ้งไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ในงานเลยนะ เขาถ่ายเพราะมันเป็นค่านิยมที่แต่งงานแล้วต้องถ่าย คือบางทีเราก็สงสัยไง ก็ถาม เขาก็บอกว่าอยากถ่ายพรีเวดดิ้ง แต่ไม่ต้องการเอามาโชว์ในงาน คือเขาว่าแต่งงานครั้งเดียวในชีวิตเลยอยากลองทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบของการแต่งงาน ซึ่งพรีเวดดิ้งเป็นหนึ่งในนั้น" ธีรศักดิ์ มณีจินดาวงศ์ จาก Ladawan The Wedding Planner ให้ความเห็น
สำหรับการถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง เป็นรูปแบบการถ่ายภาพที่มาจากประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างจีนและไต้หวัน ซึ่งในยุคแรกนั้นเจ้าพ่อน้ำชาหมื่นล้าน "ตัน ภาสกรนที" เป็นผู้บุกเบิก โดยนำรูปแบบของสตูดิโอถ่ายภาพแต่งงานเข้ามาเปิดในย่านทองหล่อ จนได้รับความนิยมจึงมีธุรกิจนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย
"ตอนหลังเทรนด์การถ่ายภาพเอาท์ดอร์จะเยอะขึ้น ทุกคนต้องการความเป็นยูนีค เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่ในสตูดิโอแล้ว มันต้องออกไปข้างนอก แล้วพอเป็นเทรนด์เอาท์ดอร์คู่รักก็อยากได้ภาพที่สวยงามแตกต่างอีก เดิมเลยจะชอบถ่ายทะเลนะสำหรับพรีเวดดิ้ง แต่พอนานๆ เข้าทุกคนจะรู้สึกจำเจ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ก็เริ่มอยากได้อะไรที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเมืองไทยเราเองก็มีชอยซ์ให้เลือกไม่มากนัก หรือบางที่ก็เข้าถึงยาก เพราะฉะนั้นถ้าต้องการความโดดเด่นก็ต้องเลือกที่แปลกๆ หรือที่สงวน"


เปิดประตูเพื่อคู่รัก
เข้าข่าย "ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ" ระยะหลังจึงมักมีภาพพรีเวดดิ้งที่แอบไปถ่ายกันในสถานที่ที่ไม่สมควรมากมาย และเมื่อเข้าสู่สายตาของผู้คนในโลกโซเชียลแล้ว ไม่มีอะไรเป็นความลับ
"เคยมีกรณีที่รีสอร์ทบางที่อนุญาตให้ถ่ายพรีเวดดิ้ง แต่สุดท้ายก็ยกเลิกการถ่ายภาพไปเพราะทีมงานไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของลูกค้าในรีสอร์ท คือบางที่เขาขายวิลล่าด้วย ซึ่งจะเป็นพื้นที่เฉพาะ แล้วไอ้พื้นที่เฉพาะนี่ก็สวยไง มันก็เลยกลายเป็นโลเคชั่นที่น่าสนใจ แต่ลืมไปว่านั่นคือพื้นที่ส่วนตัว ลูกค้าเขาซื้อมาเพราะอยากมีพื้นที่ส่วนตัว แต่บางคนไปถ่ายพรีเวดดิ้งในพื้นที่ส่วนตัวเขา รีสอร์ทบางแห่งก็จำเป็นต้องยกเลิกการถ่ายพรีเวดดิ้งไป"
ใช่เพียงแค่รีสอร์ทเท่านั้น แต่การถ่ายทำบางครั้งยังรุกล้ำพื้นที่สงวนในอุทยานแห่งชาติ เช่นพื้นที่โป่งเทียมของช้างและสัตว์ป่า หรือบริเวณทุ่งหญ้าหนองผักชี ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้คนที่เข้าไปในพื้นที่เพราะเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่า หรือในกรณีที่มีการล้อมปลาสวยงามด้วยชุดแต่งงานของเจ้าสาวในทะเลลึก ก็ถือเป็นการรบกวนและทำลายระบบนิเวศที่งดงามทางทะเล ภาพเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดีที่น่าชื่นชม แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วความหวังที่จะมีภาพฟุ้งๆ ฝันๆ ของคู่รักก็ต้องดับมืดลงไป
"อย่างในกรณีที่มีภาพการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการที่ช่างภาพไม่มีวินัย อันนี้เราต้องโทษช่างภาพเลย" เวดดิ้งแพลนเนอร์ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยัน
ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับวงการนี้มาเนิ่นนาน วศิน วิสารทานนท์ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งมาตลอด เขาบอกว่า ปัจจุบันนอกจากสตูดิโอและช่างภาพฟรีแลนซ์ชาวไทยแล้ว ยังมีช่างภาพชาวต่างชาติ แบบที่เรียกกันว่า "ช่างภาพผี" เข้ามาถ่ายรูปพรีเวดดิ้งในเมืองไทยมากมาย โดยเฉพาะจีนและรัสเซีย ซึ่งข้อดีของช่างภาพเหล่านี้คือสามารถสื่อสารกับคู่รักที่เป็นชนชาติเดียวกันได้ง่าย แต่พวกเขาก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยไม่น้อย เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
"ผมเคยเห็นช่างภาพกลุ่มนี้(ผี)ถ่ายพรีเวดดิ้งในวัดฉลองฯ แล้วช่างภาพก็ให้บ่าวสาวจูบกันหน้าเมรุ คือผมก็ไม่ได้เข้าไปบอกเขาหรอกนะว่าเมรุน่ะมันเป็นที่เผาศพ ปล่อยเขาถ่ายไป คือบางทีเขาไม่รู้ธรรมเนียม ใส่ชุดไม่สำรวมเข้ามาในวัด เห็นว่าวัดสวยดีพากันเข้ามาถ่าย มันก็ไม่ใช่ สุดท้ายได้ข่าวว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพพรีเวดดิ้งในวัดแล้ว อันนี้ไม่แน่ใจรายละเอียดนะว่าห้ามแค่ไหนยังไง" วศิน ช่างภาพจาก www.nindka.com บอก
วศิน เป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงมากในจังหวัดภูเก็ต และเขาก็เคยถ่ายภาพให้คู่รักคนดังมากมาย อย่างงานพรีเวดดิ้งปาร์ตี้ของคู่รักดารา "ซี-เอมี่" ก็เป็นฝีมือของวศินทั้งหมด
"ภูเก็ตมีครบทุกอย่าง โดยเฉพาะทะเลสวยๆ บางทีลูกค้าผมอยากไปถ่ายทะเลไกลๆ อย่างไปสิมิลัน หรือไปเกาะต่างๆ เราก็จะต้องบอกว่ามันมีเรื่องการเดินทาง เรื่องกฎอุทยานฯ ซึ่งเอาจริงๆ ลูกค้าหลายคนไม่ต้องการขนาดนั้น เพราะมันเหนื่อยเดินทาง บางวันที่อากาศดีๆ ทะเลรอบๆ ภูเก็ตก็สวยพอจะถ่ายได้ ไม่ต้องไปเกาะเลย หรือถ้าต้องไปจริงๆ ผมจะเช็คกฎของอุทยานฯ ว่าที่ไหนมีกฎยังไง ซึ่งจริงๆ ช่างภาพทุกคนก็ต้องทำแบบนี้ เราต้องเช็คว่าอุทยานฯ อนุญาตให้แค่ไหน เอาชุดไปได้มั้ย อย่างสิมิลันหรือเกาะตาชัยนี่ชัดเจนเลยว่าไม่ได้ เขาห้ามอยู่แล้ว เพราะมันดูเชิงพาณิชย์เกินไป จริงๆ ผมเองก็ไม่สนับสนุนด้วย ผมชอบให้ลูกค้าใส่ชุดสบายๆ ดูสนุกสนาน ไม่แนะนำให้เอาชุดบ่าวสาวไปเลย"
นอกจากนี้วศินยังเสริมอีกว่า ด้วยจรรยาบรรณของช่างภาพ ในเชิงธุรกิจคือทำให้ลูกค้าพึงพอใจที่สุด แต่ในแง่ของวิชาชีพ หากโจทย์ที่ลูกค้าต้องการขัดกับความถูกต้องหรือไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ก็ต้องเจรจากันด้วยเหตุผล

จากสตูดิโอสู่โอเวอร์ซี
โลเคชั่นหวานๆ ที่เหมาะกับการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งมักถูกอัพเดทแบบรายปี เพื่อให้คู่รักมีทางเลือกในการถ่ายภาพมากขึ้น โดยจะมีภาพตัวอย่างปรากฏอยู่บนสื่อสารมวลชนหลายแขนง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่ออินเตอร์เน็ตที่มีแหล่งแสดงผลงานมากมาย ทั้งในโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุค ไลน์ อินสตาแกรม หรือเว็บบล็อกต่างๆ กระทั่งมัลติพลายที่ได้รับความนิยมมาก่อนหน้า เหล่านี้ล้วนเป็น "อัลบั้ม" อย่างดีสำหรับว่าที่คู่แต่งงาน
"ในประเทศเริ่มไม่สะใจ คู่รักที่มีเงินก็อาจจะขอให้เป็นสักครั้งในชีวิตที่ไปถ่ายพรีเวดดิ้งในต่างประเทศ จึงมีแพ็คเกจโอเวอร์ซี(oversea)จากช่างภาพที่เป็นฟรีแลนซ์ออกมามากมาย" สุวิชาญ พลิคามินทร์ หรือ บอย The Sixth Floor ช่างภาพชื่อดังที่มีโอกาสถ่ายภาพให้กับคู่รักเซเลบหลายคู่ บอก ก่อนจะเสริมต่อว่า สื่อปัจจุบันทำให้คู่รักหลายคู่เห็นภาพการถ่ายพรีเวดดิ้งที่หลากหลาย และการ "ไปไกล" ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
"เดี๋ยวนี้คนนิยมไปถ่ายพรีเวดดิ้งเมืองนอกมากขึ้น สังเกตว่าพอเราลองถามในเฟซบุค แป๊บเดียวเต็มแล้ว คือหลักๆ เลยต้องเป็นกลุ่มคนที่มีทุน เพราะไปครั้งหนึ่งก็เป็นแสนแล้ว เพราะฉะนั้นลูกค้าที่ไปต้องเป็นกลุ่มที่ชอบท่องเที่ยว และกลุ่มที่มีทุนทรัพย์"
บีบี - ชัยภัทร สุขบุญสังข์ แอดเวอร์ไทซิ่ง เมเนอเจอร์ จากนิตยสาร Wedding Guru บอกว่า ในระยะที่มีการถ่ายพรีเวดดิ้งใหม่ๆ ค่าใช้จ่ายจะมากกว่าปัจจุบันถึง 3 เท่า และจะมีเฉพาะคนในสังคมชั้นกลางถึงสูงเท่านั้นที่มีโอกาสถ่าย แต่ปัจจุบันใครๆ ก็สามารถมีภาพพรีเวดดิ้งสุดประทับใจได้
"เมื่อก่อนคนจะโยนบัดเจ็ตไปที่การถ่ายพรีเวดดิ้งมากกว่าวันแต่งงานจริง แต่ก็อยากจะบอกว่างานแต่งงานไม่ได้มีแค่พรีเวดดิ้ง มันยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายอีก เช่น การตกแต่ง โรงแรม ชุด ฯลฯ คู่รักควรให้ความสำคัญกับวันแต่งจริงๆ มากกว่า ประเภทที่ไปต่างประเทศก็เป็นกลุ่มคนที่มีเงินหนา ซึ่งเด็กสมัยนี้ให้ความสำคัญมาก หลายคนก็ไป หลายคนจัดงานใหญ่โต คือถ้าตัวเองมีไม่พอก็ยังมีแบ็ก(พ่อแม่)ช่วย มันเลยเป็นค่านิยมแบบไทยๆ คือ ได้หน้าไว้ก่อน ทุกอย่างต้องเพอร์เฟคท์ ประเภทหน้าใหญ่ใจโต"
ด้าน ธีรศักดิ์ มณีจินดาวงศ์ เสริมว่า การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งในปัจจุบันมี 3 แบบ คือ เวดดิ้งสตูดิโอ ฟรีแลนซ์ และต่างประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้ง 3 แบบนี้จะแตกต่างกันไป แล้วแต่ความพึงพอใจของคู่รักที่จะเลือก
"มูลค่าที่ต้องจ่ายต่างประเทศจะเยอะสุด เพราะมันครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด อย่างในเมืองไทย สตูดิโอกับฟรีแลนซ์ก็ต่างกัน สตูดิโอค่าจ้างอาจไม่แพง แต่เม็ดเงินจะมาพร้อมการขายรูป ซึ่งเม็ดเงินตรงนี้จะเยอะ เช่นจ้างถ่าย 50,000 ทั้งในสตูดิโอและเอาท์ดอร์ ซึ่งบ่าวสาวจะได้รูปแค่ 16 รูปตามแพ็คเกจ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องซื้อเพิ่ม เพราะชอบรูปที่ถ่ายมา อันนี้มันเป็นธรรมดาเลย เพราะฉะนั้นบางคู่ถึงต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อในส่วนนี้เพิ่มอีกมาก เท่าที่เจอมาก็ประมาณ 1 แสน ถึง 4 แสนบาท ที่เจอนะ เราก็จะต้องบอกลูกค้าว่าให้เลือกที่ชอบที่สุดก็พอ เพราะถ้าเหมาหมดมันก็แพง เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่จึงเลือกถ่ายกับฟรีแลนซ์ เพราะฟรีแลนซ์ได้รูปทั้งหมด ดูน่าสนใจกว่า และมีมุมมองในการถ่ายภาพที่ใหม่กว่า ราคาก็ถูกกว่า คือราวๆ 30,000 - 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของช่างภาพ แล้วก็จะได้ภาพทั้งหมด"
ปัจจุบันมีคู่รักที่สนใจถ่ายภาพพรีเวดดิ้งมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยคู่รัก 1 คู่ เสียค่าใช้จ่ายไปกับการถ่ายพรีเวดดิ้งเฉลี่ย 80,000 บาท (โดยการคำนวณของธีรศักดิ์) หากเปรียบเทียบในแต่ละปีมีคู่แต่งงานเฉลี่ย 3 แสนคู่ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) จะมีคู่แต่งงานทั้งหมด 294,000 คู่ ที่ถ่ายภาพก่อนแต่งงาน และใช้เงินไปราวคู่ละ 80,000 บาท นั่นเท่ากับมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจถ่ายภาพพรีเวดดิ้งถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
เห็นตัวเลขขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจขายความสุขอย่างการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งจะเติบโตขึ้นทุกวัน และสร้างเม็ดเงินให้ประเทศมหาศาล
และตราบใดที่ยังมีคู่รักคู่แต่งงาน การถ่ายภาพแสดงความรักแบบนี้ก็ยังไม่มีวันตาย แถมจะพัฒนารูปแบบขึ้นไปเรื่อยๆ แต่จะแปลก แหวกแนวขนาดไหน ก็คงต้องให้ทุกคนช่วยกันควบคุม