'ปนัดดา'ผนึก6หน่วยงานรัฐเข้มแชร์ลูกโซ่

'ปนัดดา'ผนึก6หน่วยงานรัฐเข้มแชร์ลูกโซ่

“ปนัดดา” เดินหน้าปราบแชร์ลูกโซ่แฝงธุรกิจขายตรง ผนึก 6 หน่วยงานวางมาตรการแก้ไขและป้องกัน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาให้ความรู้กำหนดมาตรฐานในการประกอบธุรกิจแก่ผู้จำหน่ายอิสระและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขายตรงประจำปี 2558 ว่า ปัจจุบันธุรกิจขายตรงถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและเกี่ยวข้องกับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่น่ากังวลคือธุรกิจเหล่านี้มีผู้ที่แอบแฝงเข้ามาหาผลประโยชน์ในลักษณะแชร์ลูกโซ่มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเองได้เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งโดยจงใจและถูกหลอกให้เข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการที่ไม่สุจริต


"แชร์ลูกโซ่ที่แอบแฝงในธุรกิจขายตรงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงขอชาติและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังทำงานร่วมกันในหลายหน่วยงานเพื่อแก้ไขและปราบปรามธุรกิจแชร์ลูกโซ่"


ทั้งนี้ จะใช้ความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บูรณาการแก้ไขปัญหา รวบรวมหลักฐานและปราบปรามธุรกิจแชร์ลูกโซ่อย่างจริงจัง


นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่าปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพขายตรงขยายตัวสูง พบว่ามีผู้ที่ประกอบอาชีพขายตรงทั้งอาชีพเสริมและเป็นอาชีพหลักรวมกว่า 15 ล้านคนหรือคิดเป็น 37% ขณะที่มีผู้ที่ประกอบอาชีพขายตรงเป็นอาชีพหลัก 1.5 ล้านคน โดยกลุ่มที่ทำอาชีพนี้ส่วนใหญ่เป็นคนระดับล่างและระดับกลาง


ขณะนี้ สคบ.ในฐานะองค์กรที่เป็นผู้ควบคุมธุรกิจขายตรงได้จัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ได้แก่ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หน่วยงานดังกล่าวจะรับผิดชอบการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง โดยร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ในการตรวจสอบธุรกิจขายตรงที่มาขอจดทะเบียนเป็นธุรกิจขายตรง โดยรายที่ได้รับการจับตา ได้แก่ ผู้ประกอบการที่มาขอจดทะเบียนแต่มีสินค้าไม่เกิน 5 รายการ ซึ่งสคบ.จะเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยจะขอตรวจสอบแหล่งผลิตสินค้า เพื่อป้องกันการหลอกลวงผู้บริโภค


นายสมบุญ โมจน ผู้อำนวยการกองบริการจดทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าปัจจุบันมีผู้จดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านราย โดยเป็นธุรกิจขายตรงประมาณ 1,100 ราย ภายหลังจากมีการร้องเรียนเรื่องธุรกิจแชร์ลูกโซ่หลอกลวงและเกิดความเสียหายกับประชาชน กรมฯในฐานะหน่วยงานต้นทางที่ทำการจดทะเบียนธุรกิจได้วางมาตรการในการตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยธุรกิจขายตรง มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้แสดงหลักฐานสำคัญ 3 ส่วนได้แก่ 1.สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการบริษัททุกคน 2.เอกสารรับรองสถานที่ทำการของสำนักงาน และ 3.ใบรับรองจากสถาบันทางการเงิน ซึ่งการกำหนดให้มีการแสดงหลักฐานราชการนี้สามารถคัดกรองผู้ที่เป็นนอมินีหรือธุรกิจแอบแฝงที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์ในลักษณะแชร์ลูกโซ่ได้ เห็นได้จากจำนวนผู้ขอจดทะเบียนธุรกิจขายตรงที่ลดลงจากประมาณ 100 รายต่อเดือน เหลือเพียงประมาณ 16 รายต่อเดือน


นอกจากนี้ได้จับตาบริษัทขายตรงที่ขอเพิ่มทุนจดทะเบียนสูงผิดปกติ ที่ผ่านมามีบางบริษัทขอเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นหลักหมื่นล้านบาทหรือแสนล้านบาท โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ซึ่งบริษัทลักษณะนี้จะต้องตรวจสอบด้วยเช่นกันว่ามีที่มาของรายได้อย่างไร เข้าข่ายการฟอกเงินหรือทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่หลอกลวงประชาชนหรือไม่ เพื่อป้องกันธุรกิจแชร์ลูกโซ่ตั้งแต่ต้นทาง