ลอกคราบแก๊ง'ไปป์บอมบ์'

ลอกคราบแก๊ง'ไปป์บอมบ์'

(รายงาน) ลอกคราบแก๊ง "ไปป์บอมบ์" กลุ่มเดิมป่วนเมือง-หวังผลการเมือง!

เมื่อพูดถึงระเบิดแบบ "ไปป์บอมบ์" ที่เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับ "กลุ่มใต้ดิน" ซึ่งเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่การชุมนุม กปปส.จนถึงปัจจุบัน พบว่าระเบิดแบบไปป์บอมบ์ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อเวลา 02.20 น.ของวันที่ 28 ก.พ.57 โดยคนร้ายปาใส่บ้านของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. ในซอยสุขุมวิท 18 เขตคลองเตย แต่ไม่ระเบิด

ต่อมาเมื่อเวลา 02.00 น.วันที่ 8 มี.ค.ปีเดียวกัน คนร้ายนำมาใช้ก่อเหตุที่ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ คาดว่าเป็นการก่อเหตุต่อศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ที่เป็นข่าวครึกโครมและเผยให้เห็นถึงเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการใช้ความรุนแรง คือ เหตุระเบิดบนถนนราษฎร์อุทิศ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี เมื่อปลายเดือน มี.ค.57

เหตุระเบิดในครั้งนั้นเป็น "ไปป์บอมบ์" 2 ลูก โดยลูกแรกแรงอัดของระเบิดฉีกร่างคนขับรถจักรยานยนต์และคนซ้อนท้ายจนเสียชีวิตคาที่ 2 ศพ ส่วนอีกลูกไม่ระเบิด ไปป์บอมบ์ที่พบทำจากท่อเหล็กยาวประมาณ 1 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ขยายผลตรวจค้นบ้านเช่าใกล้กันซึ่งเป็นที่พักของผู้ตาย พบไปป์บอมบ์อีก 5 ลูก ถังแก๊ส 6 ใบ

หลังจากนั้นไปป์บอมบ์ก็เงียบหายไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลง โดยมีการรัฐประหาร (22 พ.ค.57) และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้ยาแรงทุกขนานเพื่อหยุดยั้งกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งติดตามจับกุมบุคคล ยึดของกลางเป็นอาวุธสงครามและระเบิดร้ายแรงได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกแบบเข้มข้น ก็ยังมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นประปราย โดยเมื่อเวลา 06.30 น.วันที่ 26 พ.ค.57 พบระเบิดลูกเกลี้ยงชนิดเอ็ม 67 พันเทปกาวสีดำ แต่ยังไม่ถอดสลัก ตกอยู่บริเวณป้ายรถประจำทางหน้าอาคารมานูไลฟ์ เพลส ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ คาดว่าคนร้ายขว้างใส่เพื่อสร้างสถานการณ์ แต่ไม่ระเบิด

อีกเหตุหนึ่งเป็น "ไปป์บอมบ์" คือ เมื่อเวลา 23.45 น.วันที่ 13 มิ.ย.57 หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว โดยพบชิ้นส่วนระเบิดที่แยกพระราม 9 ถนนพระราม 9 แขวงและเขตห้วยขวาง ทำให้รถเสียหาย 2 คัน ต่อมาสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้

กระทั่งล่าสุด "ไปป์บอมบ์" ถูกนำมาใช้บริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม ซึ่งเป็นช่องทางเข้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยวางไว้ 2 ลูก เมื่อค่ำวันที่ 1 ก.พ.58

เป็นการกลับมาของ "ระเบิด" และเริ่มต้นด้วย "ไปป์บอมบ์" หลังจากเงียบหายไปนานกว่า 7 เดือน!

ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า เหตุระเบิดเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.วันที่ 1 ก.พ.58 บริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ชั้น 2 กับทางเข้าห้างฯสยามพารากอน ประตู 3 เขตปทุมวัน โดยระเบิดทั้ง 2 ลูกทำงานห่างกัน 30 วินาที จุดเกิดระเบิดห่างกัน 6.4 เมตร

จากตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่องที่ทำขึ้นจากท่อเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร (3.94 นิ้ว) ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร (7.87 นิ้ว) โดยมีดินดำเป็นดินระเบิดหลัก จุดระเบิดโดยใช้นาฬิกาข้อมือดิจิทัล ไม่ทราบยี่ห้อและรุ่น และมีตะปูขนาดยาว 2-4 นิ้วเป็นสะเก็ดระเบิด แรงระเบิดทำให้บริเวณใกล้เคียงเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 รายจากการวิ่งหนีแล้วลื่นล้มเพราะตกใจ

พ.ต.ทรงพล เอี่ยมบุญฤทธิ์ อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ วิเคราะห์ว่า ระเบิดครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ "ป่วน" มากกว่า "สังหาร"

เขายกเหตุผลประกอบดังนี้ 1.ระเบิดที่ใช้จุดชนวนด้วยการตั้งเวลา หากต้องการก่อเหตุรุนแรงจริงๆ คนร้ายน่าจะใช้การจุดระเบิดด้วยวิธีอื่นที่สามารถเลือกเวลาให้ระเบิดได้โดยหวังผลความเสียหายมากกว่านี้

2.สถานที่ เป็นการวางระเบิดตรงจุดที่มีสิ่งกีดขวางมากมาย และเป็นจุดเชื่อมต่อ ไม่ได้อยู่ภายในห้าง หรือในสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งสร้างความเสียหายได้มากกว่า

และ 3.ลักษณะตะปู อยากตั้งข้อสังเกตว่าตะปูที่ใช้เป็นสะเก็ดระเบิด "ไม่ผิดรูป" กล่าวคือ หากระเบิดมีอานุภาพรุนแรง แรงระเบิดจะต้องทำให้ตะปูที่ใช้เป็นสะเก็ดระเบิดผิดรูป เช่น บิดเบี้ยว โค้งงอ มากกว่านี้

ล่าสุดมีรายงานยืนยันจากหน่วยข่าวว่า ระเบิดอาจถูกจุดชนวนด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่ตั้งเวลา เพราะนาฬิกาไม่ได้ถูกต่อวงจรระเบิด น่าจะนำมาติดไว้เพื่อลวงเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเฉยๆ

ความคล้ายคลึงของระเบิดจึงใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่มีนบุรีเมื่อปีที่แล้วมาก และตำรวจเชื่อว่าคนร้ายน่าจะเป็นชุดเดียวกัน!