คนร.สั่งยกที่3ทำเลทอง ล้างหนี้รฟท.'8หมื่นล้าน'

คนร.สั่งยกที่3ทำเลทอง ล้างหนี้รฟท.'8หมื่นล้าน'

ไฟเขียวร.ฟ.ท.ยกที่ดิน3แปลง"มักกะสัน-สถานีแม่น้ำ-บริเวณกม.11"กว่า800ไร่ ให้คลังบริหารแลกล้างหนี้8หมื่นล้าน

สั่งประเมินราคากำหนดหลักเกณฑ์ใช้ประโยชน์คุ้มค่า หลังร.ฟ.ท.เก็บค่าเช่าได้เพียงปีละ 1,600 ล้าน เล็งตั้งโฮลดิ้ง เจ้าของรัฐวิสาหกิจ ถือหุ้นแทนคลัง

การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ซึ่งที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้(26 ม.ค.) ได้มีการพิจารณาแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก. )

ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าที่ประชุม เห็นชอบแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาขาดทุน 4-5 รัฐวิสาหกิจ โดยหลักการการแก้ปัญหาคือเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย

แหล่งข่าวจากที่ประชุม คนร. กล่าวว่าในส่วนของการแก้ปัญหาหนี้สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่มีภาระหนี้สินในปัจจุบันประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาดังกล่าวโดยมองว่า ควรแก้ปัญหานี้เพื่อให้ รฟท.มีความพร้อมรองรับการบริหารงานโครงการระบบรางที่รัฐบาลจะมีการก่อสร้างในอนาคต โดยกระทรวงการคลังเสนอว่าควรจะมีการนำที่ดินที่มีศักยภาพของ รฟท.มาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สั่งโอนที่ดินร.ฟ.ท.ให้คลังบริหาร

สำหรับที่ดินของ ร.ฟ.ท.ที่มีศักยภาพสูงอยู่ในแหล่งธุรกิจและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่เป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท.ปัจจุบันมีอยู่ถึง 7,500 ไร่ บริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน รัชดาภิเษก ย่านพหลโยธิน และสถานีแม่น้ำ แต่เก็บค่าเช่าได้เพียงปีละ 1,600 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ค่าเช่าที่ดินในพื้นที่อื่นๆ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาประเมิน ไม่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังจึงเสนอว่า ให้ร.ฟ.ท.โอนสิทธ์บริหารจัดการให้กระทรวงการคลังบริหารให้ได้รายได้เพิ่มขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นรายได้ของรัฐ อีกส่วนหนึ่งนำไปใช้หนี้รฟท.ที่โอนมาเป็นหนี้สิน

อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่มีการกำหนดราคาที่ดินในแต่ละแปลงว่า ควรจะมีการเช่าในราคาเท่าไหร่ หลังจากหารือกันระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงคมนาคมแล้ว จะต้องประเมินราคาที่ดินในพื้นที่ต่างๆ อีกครั้ง แต่มติคนร.ครั้งนี้ ทำให้กระทรวงการคลังสามารถกลับไปวางแผนการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพสูงของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่ประมาณ 7,500 ไร่ ให้มีได้รายได้สูงสุด

ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีที่ดินที่เป็นทรัพย์สินกระจายอยู่ทั่วประเทศ 234,976.96 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินเพื่อการเดินรถ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก (Core Business) จำนวน 198,674.71 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่เขตราง 189,586.27 ไร่ ย่านสถานี 5,333.24 ไร่ บ้านพัก/ที่ทำการ 3,755.25 ไร่ และที่ดินสำหรับการพาณิชย์ (Non-Core Business) จำนวน 36,302.18 ไร่ ประกอบด้วย ที่ดิน ศักยภาพต่ำ 21,536.80 ไร่ ที่ดิน ศักยภาพกลาง 7,218.12 ไร่ และที่ดินศักยภาพสูงอยู่ในบริเวณย่านธุรกิจที่สำคัญและที่ซึ่งมีราคาที่ดินสูง 7,547.32 ไร่

คนร.สั่งเพิ่มประสิทธิภาพรถไฟ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าแผนฟื้นฟูของร.ฟ.ท.นั้น ทางคนร. เห็นชอบให้เพิ่มการให้บริการที่มีศักยภาพ เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพทางคู่ ปรับปรุงการให้บริการตรวจสภาพรถไฟ เพื่อให้บริการตรงเวลาและมีประสิทธิภาพ

ส่วนปัญหาหนี้สินสะสมจำนวน 8.3 หมื่นล้านบาท เกิดจากภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับร.ฟ.ท.ล่าช้า กรณี รถไฟฟรี หรือการไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งภาระจากเงินบำนาญของพนักงานนั้น ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. และกระทรวงการคลังหารือถึงแนวทางออกให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์และรายงานต่อ คนร.

ให้สิทธิ์รับเพิ่มพนักงานเพิ่ม

ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับการทำงานตามภารกิจใหม่ ต่อไปจะมีการเดินรถไฟทั้งระบบเดิมทางคู่ขนาด 1 เมตร และรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ที่ประชุมได้ให้ร.ฟ.ท. กลับไปศึกษาแนวทางการปรับลดสัดส่วนของพนักงานแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน สอดคล้องกับภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของผู้บริหาร วิศวกร ช่างเทคนิคและพนักงานทั่วไป จะต้องเสนอคนร.ครั้งต่อไป จะมีการเสนอขอแก้มติครม. เมื่อปี 2541 ที่กำหนดให้ ร.ฟ.ท. รับพนักงานใหม่ได้ไม่เกิน 5% ของพนักงานที่เกษียณ แต่ตามแผนฟื้นฟูร.ฟ.ท.สามารถรับพนักงานเพิ่มระหว่างปี2558-2565 ได้รวม 2,500 คน จะทำให้อัตรากำลังของร.ฟ.ท.เพิ่มขึ้นเป็น 1.6 - 1.7 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.4 หมื่นคน

สั่งปรับโครงสร้างองค์กรขสมก.

พล.อ.อ..ประจิน กล่าวว่าในส่วนแผนฟื้นฟู องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เห็นชอบให้ปรับโครงสร้างองค์กรและผู้บริหารให้สอดคล้องกับการทำงานและภารกิจ โดยให้ ขสมก.เป็นผู้ให้บริการเดินรถ

“ต่อไปขสมก.จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการเดินรถเหมือนกับรถร่วมรายอื่นๆ แต่จะมีสัดส่วนของรถและเส้นทางเดินรถมากกว่ารถร่วม เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน เรื่องนี้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปหารือเพิ่มเติม และเสนอคนร.อีกครั้ง ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว และว่าส่วนหนี้สินสะสมถึง 92,000 ล้านบาท ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกัน ก่อนที่จะเสนอ คนร.ต่อไป

ตั้ง"โฮลดิ้ง"ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าที่ประชุมคนร. เห็นชอบกรอบและโครงสร้างปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยมีหน่วยงานทำหน้าที่ การเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์ เข้ามาถือหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแทนกระทรวงการคลัง

ที่ประชุมได้ให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแล และระบบบรรษัทภิบาลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน ไปศึกษารายละเอียดของหน่วยงานนี้ ว่าจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ หรือเป็นองค์กรรัฐ พร้อมบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจนระหว่างหน่วยงานเจ้าของรัฐวิสาหกิจ กับกระทรวงต้นสังกัด

“องค์กรเจ้าของนี้จะมีลักษณะคล้ายกับโฮลดิ้ง ที่จะรับโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมาถือแทนกระทรวงการคลัง เบื้องต้นก็คงใช้สคร.แต่ต้องออกกฎหมายรองรับ ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบขององค์กรว่าจะเป็นแบบใด อนุกรรมการฯต้องพิจารณาและมานำเสนอที่ประชุมเดือนหน้า”

ทั้งนี้การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจจะแยกเป็น 3 ส่วน 1. กระทรวงต้นสังกัด มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ 2. องค์กรเจ้าของ ดูแลการแต่งตั้งกรรมการ อนุมัติโครงการลงทุน รวมถึงการประเมินผลงานของรัฐวิสาหกิจ และ 3.มีองค์กรกำกับดูแล หรือ เรคกูเลเตอร์ คอยกำกับการทำงานของรัฐวิสาหกิจ คล้ายการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

รฟท.โอนที่ดิน3แห่งแลกหนี้8หมื่นล้าน

นายกุลิศ กล่าวอีกว่าที่ประชุมเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการร.ฟ.ท. โดยให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังหารือร่วมกัน ถึงแนวทางการบริหารจัดการหนี้สิน ที่ รฟท.จะโอนสิทธิการใช้ที่ดินให้คลัง เช่น ที่ดินบริเวณมักกะสัน ที่ดินสถานีบริเวณแม่น้ำ และที่ดินบริเวณ กม.11 (บริเวณบ้านพักรถไฟ) หลังบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) แลกกับภาระหนี้ 8 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท. กล่าวว่าสำหรับที่ดินบริเวณ มักกะสัน จะมีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ที่ดินสถานีบริเวณแม่น้ำ เนื้อที่ 200 ไร่ ส่วนที่ดินบริเวณ กม.11 นั้นมีพื้นที่ทั้งหมด 359 ไร่ แต่ส่วนใหญ่ถูกใช้งานไปแล้วจะเหลือพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ร.ฟ.ท.ได้มีการจ้างที่ปรึกษาที่จะพัฒนาพื้นที่ทั้ง 3 แห่งในเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมเสนอแผนในการสัมปทานการใช้พื้นที่ไป