'เอนก'เชื่อถอดถอน'ยิ่งลักษณ์'ไม่กระทบปรองดอง

'เอนก'เชื่อถอดถอน'ยิ่งลักษณ์'ไม่กระทบปรองดอง

"เอนก"มั่นใจผลถอดถอน"ยิ่งลักษณ์"ไม่กระทบงานปรองดอง ด้านกมธ.ยกร่างรธน.วิเคราะห์ทิศทางการเมืองไม่ยุ่ง

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดอง เชื่อว่าการผลลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้ออกจากตำแหน่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และส่งผลให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา5ปี นั้นจะไม่กระทบกับการวางแนวทางเพื่อสร้างความปรองดองที่เตรียมดำเนินการแน่นอน เพราะประเด็นและสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นถือเป็นคนละส่วนกับแนวทางปรองดองที่จะดำเนินการ ส่วนเหตุการณ์ทางการเมืองจะหลายฝ่ายมองว่าจะวุ่นวายนั้น ตนไม่ทราบ แต่รัฐบาลและฝ่ายทหารต้องดูแล

ด้าน แหล่งข่าวจากกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ติดตามการกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ , นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา ให้ออกจากวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกระบวนการของ สนช. ว่า ผลการลงมติที่สรุแล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกลงมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่นายสมศักดิ์ และนายนิคม ผลลงมติสรุปคือไม่ถอดถอนให้ออกจากตำแหน่ง ทำให้สะท้อนถึงภาพทางการเมืองและการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ การพิจารณาถอดถอน อดีตสมาชิกรัฐสภา ที่ถูกยื่นให้ตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 308 คนและอยู่ในกระบวนการของ สนช.แล้ว จำนวน 38 รายจะถูกพิจารณาต่อไปหรือไม่ หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นชัดว่าเมื่อนายสมศักดิ์และนายนิคมไม่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งแล้วอดีตสมาชิกรัฐสภาที่เหลืออาจมีผลไปทำนองเดียวกัน ทำให้กลุ่มดังกล่าวลังเลที่จะเข้าไปเป็นแนวร่วมหรือกลุ่มสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคเพื่อไทย

เพราะถือว่าตนเองได้พ้นจากการถูกถอดถอนไปแล้ว และเชื่อว่าจะปล่อยให้กลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวกับกับการถูกยื่นให้ดำเนินคดีอาญา ร่วมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เช่น อดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในประเด็นการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในชั้นการพิจารณาของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยการพิจารณาในชั้นศาลนั้นต้องใช้ข้อเท็จจริงเป็นหลัก ดังนั้นเชื่อว่ากรณีโครงการรับจำนำข้าวจะไม่สามารถเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่ถูกเอาผิด และลงโทษถึงขั้นจำคุกแน่นอน โดยตัวเลือกที่จะเกิดขึ้นคือนักการเมืองทั้ง 3 คนที่กล่าวไปแล้ว

"คดีนี้สามารถพิจารณาเทียบเคียงกับคดีทุจริตที่ผ่านมา เช่น คดีทุจริตโครงการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่นักการเมืองระดับรัฐมนตรีใหญ่ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยไม่ได้รับโทษ มีเพียงนักการเมืองระดับเล็กรับผิดเพียงคนเดียว" แหล่งข่าววิเคราะห์