นานมีบุ๊คส์เปิดตัวหนังสือ'แค่13'

นานมีบุ๊คส์เปิดตัวหนังสือ'แค่13'

นานมีบุ๊คส์ เปิดตัวหนังสือ "แค่13" ตีแผ่ชีวิตจริงหญิงสาวหนีความรุนแรงในครอบครัว เข้าสู่การค้าประเวณี

ด้าน พม.หวังหนังสือแค่ 13 สร้างความตระหนักให้คนในสังคมร่วมแก้ปัญหาความรุนแรง กดขี่ทางเพศแก่เด็ก เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยันการค้าประเวณีในเด็กมีอยู่มาก วอนรัฐทำงานอย่างจริงจัง อย่ามีกรรมการ มีแผนแต่ไม่ทำงาน แนะใช้กฎหมายให้ถูกจุด

ที่อาคารนานมีบุ๊คส์เฮาส์ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ "แค่ 13 กรณีตัวอย่างเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวบนเส้นทางการค้าประเวณี" โดยมี พล.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวเปิดงานว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการค้าประเวณีเด็ก รัฐบาลทุกสมัยได้ให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้ถูกจ้องมองเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังถูกจ้องมองจากนานาชาติ ทำให้ขณะนี้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และเป็นที่น่ายินดีที่ทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้หยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงของเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจนต้องหันเข้าสู่เส้นทางการค้าประเวณี ตีแผ่ให้สังคมได้ตระหนักและเห็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม กระตุ้นเตือนให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจและไม่ทอดทิ้งปัญหา ทั้งนี้ พม.มีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงและได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเร่งแก้ไขปัญหาโดยสร้างความรู้ และสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยมีการฉีดวัคซีนในครอบครัว ตลอดจนดูแลสถานการขายบริการต่างๆ ได้ติดตามสถานกาณณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม หวังว่าทุกภาคส่วนของประเทศจะมาร่วมแก้ไขปัญหาสังคม เพราะพม.หวังเห็นชีวิตของเด็กหลุดพ้นจากการกดขี่ทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว

นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า หนังสือเรื่องนี้ ปัจจุบันได้รับการแปล 8 ภาษา ซึ่งถือเป็นหนังสือที่สะท้อนเรื่องจริงของเด็กสาวชาวอีสาน อายุ 13 ปี ที่หนีความรุนแรงของครอบครัว เข้าสู่การขายบริการทางเพศ มีรายได้จากการยอมรับการกระทำวิตถาร เคยทำแท้งเมื่ออายุ 15 ปี และเคยกินยาฆ่าตัวตาย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจริงของเด็กภายในอายุ 18 ปี ซึ่งผู้อ่านจะได้เข้าใจชีวิตของหญิงสาว เพื่อดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด ในสังคมของเราไม่ใช่มีลอนเพียงคนเดียว ยังมีลอนอีกมากมายที่ประสบชีวิตเช่นเดียวกัน และยังมีจำนวนอีกมากที่ยังไม่สามารถก้าวออกจากชีวิตอย่างนั้นได้ คาดว่าจะส่งผลสะเทือนแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

นางศิริพร สะโครบาเน็ค ประธานมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์และทำการศึกษาวิจัยด้านสังคมวิทยา และให้ข้อมูลนอกจาชีวิตของลอน แล้วยังให้ความรู้ดครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของไทย ที่ทำไมในประเทศไทยยังมีเด็กผู้หญิงสูญเสียชีวิตวัยเด็ก และทำไมสังคมไทยได้เรียกร้องต่อลูกสาวมากทั้งที่ไม่ได้ลงทุนมากมายให้แก่ชีวิตของลูกสาว ในปัจจุบันมีชีวิตเหล่านี้มีให้เห็นมากมาย และต้องมองว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ สำหรับการค้าประเวณีในเมืองไทยมีการทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งตอนนี้แม้สถานการณ์ดีขึ้น แต่หากมองจริงลงลึกไปจริงๆ ก็ยังมีเด็กที่ถูกค้าประเวณีอยู่ เพราะการค้าประเวณี ธุรกิจทางเพศ ไม่ได้หยุดนิ่ง ดังนั้น เราต้องไปดูโครงสร้างของสังคม และกฎหมายซึ่งแม้จะมีกฎหมายการค้าประเวณี การค้ามนุษย์ แต่การบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างไร มีคนใช้ประโยน์จากช่องทางกฎหมายจำนวนมาก

"ตอนนี้ประเทศไทย เวลาแก้ไขปัญหาจะตั้งกรรมการและเป็นเพียงกรรมการที่มีแผน แต่ไม่ได้มองว่าแผนจะปฎิบัติอย่างไรให้แก้ไขปัญหาจริงๆ และการให้การศึกษาต้องให้ทั้งครอบครัว ไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้น และชีวิตที่เพียงพอควรเป็นอย่างไร และที่สำคัญควรมีการบ่มเพาะเชื่อมสายสัมพันธ์ครอบครัว รัฐควรมีการคุ้มครองอย่างจริงจัง และใช้กฎหมายให้ถูกจุด"นางศิริพร กล่าว