กสม.ชงรัฐรื้อกฎหมายพิเศษ3ฉบับ

กสม.ชงรัฐรื้อกฎหมายพิเศษ3ฉบับ

(รายงาน) กสม.ชงรัฐรื้อกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ห้ามประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปฏิวัติ

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 6 ม.ค.58 ครม.ได้มีมติรับทราบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่องข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ

กล่าวคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) เพราะประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวหลายครั้งและในบางพื้นที่มีการประกาศใช้ซ้ำซ้อนกันทำให้ประชาชนสับสน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจรัฐมากกว่ากฎหมายปกติที่ใช้บังคับอยู่ทั่วไป

ทั้งนี้ ข้อเสนอของ กสม.แบ่งเป็นข้อเสนอแนะต่อนโยบายของรัฐบาล และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย โดยข้อเสนอแนะต่อนโยบายของรัฐบาลนั้น กสม.เสนอให้ ครม.พิจารณาประกาศยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ ในทุกพื้นที่ และพิจารณาประกาศใช้ใหม่เฉพาะในบางพื้นที่ที่มีความจำเป็น และประกาศยกเลิกทันทีที่สิ้นสุดความจำเป็น และการจะประกาศพื้นที่ใดควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายและความรุนแรงของสงครามหรือการจลาจล รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย

นอกจากนั้น กสม.ยังเสนอให้พิจารณาลดระดับการใช้กฎหมายความมั่นคง เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบังคับใช้จึงต้องมีเหตุผลและใช้อย่างจำกัดเท่าที่จำเป็น แต่ที่ผ่านมามีการใช้ซ้อนในบางพื้นที่ เช่น ใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ จ.ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ยกเว้น อ.แม่ลาน ที่ใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทำให้ประชาชนสับสน รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาจกระทำละเมิดสิทธิได้ในเขตพื้นที่กฎหมายซ้ำซ้อน

ดังนั้นเมื่อประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใดแล้ว หากสถานการณ์ดีขึ้นควรยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับนั้น อาจเปลี่ยนไปใช้กฎหมายความมั่นคงที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่า โดยเฉพาะการลดระดับมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อันมีบทบัญญัติมาตรา 21 ที่ช่วยสร้างความปรองดอง เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหายอมกลับใจและยินยอมเข้ารับการอบรมโดยสมัครใจ

ส่วนการพิจารณาใช้กฎหมายความมั่นคงในกรณีที่มีการชุมนุม ไม่สมควรนำ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาใช้กับการชุมนุมไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะโดยหลักของกฎหมายความมั่นคงไม่สามารถนำมาใช้กับการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธได้ ต้องนำกฎหมายที่ใช้ในภาวะปกติมาบังคับใช้ก่อน เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เว้นแต่มีสถานการณ์วิกฤติหรือจลาจลจึงค่อยนำกฎหมายความมั่นคงที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพน้อยที่สุด คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาใช้ก่อน โดยที่ฝ่ายรัฐต้องไม่ใช่ฝ่ายเริ่มยั่วยุให้เกิดความไม่สงบนั้น แต่หากไม่สามารถทำให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ จึงบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเมื่อเหตุการณ์ลดลงจึงยกเลิกการบังคับใช้ทันที

ส่วนข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย ในส่วนของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก กสม.เสนอให้แก้ไขมาตรา 2 ที่ให้อำนาจไว้กว้างขวาง ไม่มีเงื่อนไขกำหนดแน่นอนว่าจะมีการประกาศกฎอัยการศึกได้เมื่อใด และตอนท้ายของมาตรา 2 ยังกำหนดว่า "บรรดาข้อความใน พ.ร.บ.หรือบทกฎหมายใดๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้บังคับใช้ต้องระงับและใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน" มีผลทำให้กฎหมายอื่นหมดสภาพการบังคับใช้ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐนิติธรรม

"สมควรกำหนดเงื่อนไขให้มีความชัดเจนโดยเงื่อนไขในการใช้บทบัญญัติในกฎอัยการศึกนั้น ต้องเป็นกรณีที่เกิดสงครามหรือจลาจลเท่านั้น และประการสำคัญต้องไม่นำมาใช้กับการรัฐประหาร รวมทั้งต้องกำหนดระยะเวลาในการประกาศใช้ด้วย"

นอกจากนั้น ปัจจุบันการสื่อสารมีความสะดวกรวดเร็ว แตกต่างจากสมัยก่อน จึงไม่สมควรกำหนดให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีกำลังใต้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่า 1 กองพันหรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหารมีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกได้อีกต่อไป ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เพราะควรมีการกลั่นกรองโดยผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจเหนือขึ้นไปก่อน หากจะประกาศใช้ให้มีการเสนอจากผู้บังคับบัญชาทหารที่อยู่ในพื้นที่ต่อผู้บัญชาการเหล่าทัพเพื่อขอความเห็นชอบ

กสม.ยังเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.อัยการศึก ให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 2 ข้อย่อย 3 ข้อ

ขณะที่ข้อเสนอแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เสนอให้แก้ไขมาตรา 5 โดยต้องกำหนดอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และควรยกเลิกมาตรา 17 ที่วางหลักให้พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญาหรือทางวินัย