'เอนก'เผยตั้งรัฐบาลผสมหากปรองดอง

'เอนก'เผยตั้งรัฐบาลผสมหากปรองดอง

"บวรศักดิ์"ยันต้องปฏิรูปพร้อมสร้างปรองดอง ด้าน"เอนก"เผยตั้งรัฐบาลผสม หากปรองดอง

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อดำเนินการสร้างความปรองดองควบคู่กับการปฏิรูป

โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ความขัดแย้งในประเทศสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องแก้ปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ 1.ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องพยายามสร้างความปรองดอง 2.ถ้าความขัดแย้งเป็นอาการของโรคสมมติฐานของโรคคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในสังคม ก็ต้องมีการปฏิรูป และ3.ปัญหาการเมือง ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯจัดทำอยู่จึงกำหนดให้มีภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง แยกเป็น 2 หมวด ได้แก่ หมวดว่าด้วยการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และหมวดว่าด้วยการสร้างความปรองดอง ซึ่งไม่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน เราต้องแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้าให้เกิดความปรองดองเร็วที่สุด

"เมื่อมีการยึดอำนาจวันที่ 19 ก.ย.49 พอประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 ก็ลงมือตีกันตั้งแต่บัดนั้นกระทั่งปี 57 เราจะกลับไปเป็นแบบนั้นอีกหรือ ที่พอทำรัฐธรรมนูญเสร็จ มีการเลือกตั้งแล้วลงมือตีกันอีก ความจริงเป็นไปไม่ได้ ถ้าสังคมไทยเป็นแบบนั้นเราก็ต้องถอยหลังไปเรื่อยๆ แม้แต่ทูตต่างประเทศที่เคยร่วมกินข้าวกับผมยังแปลกใจที่คนไทยขัดแย้งกันนานเกือบ 10 ปี ทั้งที่ไม่มีเหตุความขัดแย้ง ถ้าเราไม่อยากรบกันอีกแล้วก็ต้องมีเรื่องความปรองดองในรัฐธรรมนูญ" นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูญจะไม่เขียนบังคับให้คนไปปรองดองกัน กฎหมายทำได้เพียงการสร้างองค์กรที่เป็นเจ้าภาพ และกระบวนการที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความปรองดอง ซึ่งต้องเริ่มจากการมีสำนึกรับผิด การเยียวยา การไม่กระทำซ้ำ และการให้อภัย ซึ่งไม่ใช่การนิรโทษกรรมทันที แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยกระบวนการปรองดองไม่ควรดำเนินการเกิน 4 ปี

เมื่อถามว่าจะนำผลการศึกษาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มาใช้ด้วยหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ในความคิดของตนเห็นว่าคอป.ควรอยู่ต่อ เพื่อทำให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการปรองดอง และหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้คอป.ยังไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นจะมีการเขียนในรัฐธรมนูญแต่ไม่ใช่คอป.เดิม

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ดูแลภารกิจการสร้างความปรองดอง ทั้งคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศูนย์ปรองดองและการสร้างสมานฉันท์ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และอนุคณะกรรมาธิการปฏิรูปกลไกการเรียนรู้การปรองดอง การมีส่วนร่วม ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ภายในในสัปดาห์คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช.จะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองร่วมกัน โดยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ

ขณะที่ นายเอนก กล่าวว่า เราจะร่วมกันผลักดันกับองค์กร กลุ่ม และสถาบันต่างๆ และจะทำงานใกล้ชิดกับสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อมกับคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรามีความฝันว่าสมานใจ สมานรู้ และสมานฉันท์ และไม่ได้จะมีแต่เรื่องนิรโทษกรรม แต่จะมีการหาข้อเท็จจริง มีกระบวนการให้คนรู้ผิดรู้ถูก และการนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมคดีทุจริตคอร์รัปชั่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคดีที่มีการสั่งการทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และไม่ปล่อยให้การปรองดองถูกลอยแพ หรือมีแต่การวิเคราะห์

"เราจะทำให้ได้ ประเทศไทยอาจกลับไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะไปให้ได้มากที่สุด ถ้าจำเป็นเราอาจต้องมีการเจรจากับพรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความปรองดองแต่เรื่องที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้าคือการเยียวยาทุกด้าน ถ้าพูดถึงในแง่รัฐธรรมนูญ เราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ทั้งสองฝ่ายมาร่วมกัน เราต้องกล้าคิดถึงรัฐบาลผสม ถ้าเราไม่คิดอะไรเลย มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่ในส่วนนี้ยังเป็นเรื่องของรายละเอียด ยังไม่ขอพูดถึง เราคิดอะไรไว้เยอะพอสมควร แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด"นายอเนก กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง อาทิ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานคณะกรรมการ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นรองประธานกรรมการ นายดิเรก ถึงฝั่ง พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ เป็นที่ปรึกษากรรมการ ตลอดจน นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ญาติวีรชนพฤษภา 35 นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาน.ส.กมนเกด อัคฮาด เป็นต้น