ยาประคบ

ยาประคบ

การประคบสมุนไพรเป็นวัฒนธรรมการรักษาพยาบาลที่อิงอยู่กับชุมชน ซึ่งอาจเรียกแตกต่างกันไปในแต่พื้นที่

ประสิทธิภาพของการักษาด้วยการประคบสมุนไพรเกิดจากความร้อน และผลจากการที่ตัวยาสมุนไพรซึมผ่านชั้นผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย ความร้อนจากการประคบจะมีผลต่อการรักษา ช่วยลดอาการบวมที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อหลังจากผ่านไป 24-48 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ส่วนสมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาลูกประคบ ส่วนใหญ่จะมีสรรพคุณในการแก้เคล็ด ขัดยอก ฟกช้ำ ทำให้เส้นเอ็นหย่อน เมื่อผสานกับความร้อนจากลูกประคบแล้ว จึงเป็นการเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันในการรักษา

ลูกประคบมีทั้งชนิดสด และแห้ง โดยทั่วไปลูกประคบสดจะมีสรรพคุณดีกว่าลูกประคบแห้ง เพราะมีน้ำมันหอมระเหยมากกว่า ลูกประคบส่วนใหญ่จะมัดเป็นก้อนกลมๆ เพื่อประคบเป็นจุดๆ แต่ก็มีการทำลูกประคบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเพื่อใช้ประคบกล้ามเนื้อตามแผ่นหลังและบ่าด้วย

การให้ความร้อนแก่สมุนไพรในลูกประคบมีอยู่หลายวิธี เช่น การนึ่งด้วยไอน้ำแล้ว อาจใช้หินเป็นตัวให้ความร้อน โดยใส่หินเผาไฟในลูกประคบแล้วพรมน้ำแทนการนึ่ง หินที่เหมาะสมที่สุด คือ หินเขี้ยวม้า(หินควอตซ์) แต่จะใช้หินอย่างอื่นหรือแม้แต่ก้อนอิฐก็ได้ วัสดุอื่นๆ ที่สามารถใส่ในลูกประคบเพื่อช่วยเก็บความร้อนให้นานขึ้น เช่น ข้าวเหนียว ทราย ข้าวเปลือก

ในการประคบ บางครั้งจะมีการใช้น้ำกระสายยาเข้ามาช่วย เช่น มีการทาน้ำมันบนตัวก่อนการประคบ นิยมใช้กับอาการที่เอ็น หรืออัมพฤกษ์อัมพาต มีการนำลูกประคบไปจุ่มในน้ำข้าวหม่า (น้ำแช่ข้าวเหนียว) ส่วนที่นอนก้น แล้วจึงนำลูกประคบไปนึ่ง หรือนำลูกประคบไปนึงในน้ำต้มข้าวหม่าเลยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำลูกประคบไปจุ่มในน้ำส้มก่อนนำไปนึ่ง ซึ่งนิยมใช้กับอาการที่เอ็นตึงหรืออัมพฤกษ์อัมพาต หรือการพรมเหล้าบนลูกประคบก่อนนำไปนึ่ง ซึ่งจะใช้กับคนที่มีอาการปวดบวม

การทำลูกประคบ จะนำสมุนไพรมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตำให้เข้ากันพอหยาบ ยกเว้นสมุนไพรบางชนิดที่ไม่ต้องตำ เช่น ใบมะขาม การบรู เกลือ ให้นำมาคลุกรวมกับสมุนไพรที่ตำเสร็จแล้วภายหลัง สามารถใช้ได้ทั้งสมุนไพรสดและสมุนไพรแห้ง ลูกประคบที่ทำจากสมุนไพรแห้งทั้งหมดจะเก็บได้นาน แต่ปริมาณน้ำมันหอมละเหยก็จะน้อยลงไปด้วย จากนั้น ให้นำสมุนไพรที่คลุกเข้ากันแล้วมาห่อด้วยผ้า ได้แก่ ผ้าครามหม้อนิล ผ้าม่อฮ่อม ผ้าดำมะเกลือ และผ้าขาว ผ้า 3 ชนิดแรก จะมีคุณสมบัติดีกว่าผ้าขาว เนื่องจากตัวผ้าเองมีฤทธิ์เป็นยาด้วย เมื่อทำลูกประคบเสร็จแล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็น ในช่องแช่เย็นธรรมดา โดยสามารถเก็บไว้ได้ 7 วัน แต่ถ้าแช่ช่องแช่แข็งจะเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน ส่วนลูกประคบแห้งควรทำจากสมุนไพรที่แห้งสนิท เสร็จแล้วให้เก็บในที่โปร่ง ไม่อับชื้น

วิธีประคบ

1.นำลูกประคบ 2 ลูกไปนึ่ง ถ้าลูกประคบแห้งเกินไป อาจพรมด้วยน้ำหรือเหล้าโรงก่อนนำไปนึ่ง

2.จัดท่าของผู้ถูกประคบให้เหมาะสม เช่น นอนหง

นอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะทำการประคบ เมื่อลูกประคบอังไอน้ำจนร้อนดีแล้ว ผู้ประคบจับลูกประคบให้เต็มอุ้งมือ ยกขึ้นจากหม้อนึง ลองใช้ลูกประคบแตะบริเวณท้องแขนของตนเอง ถ้าลูกประคบยังร้อนมาก ให้ใช้ฝ่ามืออีกข้างแตะลูกประคบแล้วไปนาบบริเวณที่ต้องการประคบแทน เป็นการถ่ายเท่ความร้อน ผู้ถูกประคบจะไม่รู้สึกร้อนเกินไป ให้ทำหลายๆ ครั้ง จนลูกประคบคลายความร้อนลงบ้างแล้ว จึงเอาลูกประคบลงประคบโดยตรงได้

3.การประคบด้วยลูกประคบโดยตรงในตอนแรก ต้องทำด้วยความรวดเร็ว ไม่ว่างลูกประคบคาไว้บนผิวผู้ป่วย เพราะลูกประคบยังร้อนอยู่ และผู่ป่วยยังทนความร้อนได้ไม่มาก ผู้ประคบเพียงแต่แตะลูกประคบลงบนผิวหนัง แล้วยกขึ้น เลื่อนไปประคบตำแหน่งถัดไปตามแนวกล้ามเนื้อที่ทำการนวดได้

4.เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลง ผู้ประคบสามารถวางลูกประคบให้นานขึ้นได้ พร้อมกับกดคลึงจนลูกคลายความร้อนไปแล้ว จึงนำลูกประคบใส่กลับไปในหม้อ แล้วนำอีกลูกที่นึ่งรออยู่ ออกมาทำการประคบซ้ำตามขั้นตอนที่กล่าวมา

5.โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ต่อการประคบ 1 ครั้ง ถ้ามีอาการเคล็ดขัดยอก อาจประคบได้วันละ 2 ครั้ง