'บัณฑูร ล่ำซำ'นักธุรกิจแห่งปี2014

'บัณฑูร ล่ำซำ'นักธุรกิจแห่งปี2014

"บัณฑูร ล่ำซำ" นักธุรกิจแห่งปี 2557 : Business Person of the Year 2014"

กองบรรณาธิการ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ โหวตคัดเลือก "นักธุรกิจแห่งปี 2557: Business Person of the Year 2014" นักธุรกิจผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” ทางธุรกิจและสังคมอย่างสร้างสรรค์มากที่สุดในรอบปี 2557 โดยนักธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือกเป็นนักธุรกิจแห่งปี พิจารณาภายใต้ ผลการดำเนินงาน ,การมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ,การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์กร และการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม ตามเปอร์เซ็นต์ถ่วงน้ำหนัก 25 - 30-35 -10 ตามลำดับ ผลปรากฏ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ได้รับแคะแนนสูงสุดจากกองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ จากนักธุรกิจ 13 คน ซึ่งมีผู้เข้ารอบสุดท้าย 5 คน ประกอบด้วย

1. บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย : นายธนาคารผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล พร้อมไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม

2. อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ : บุตรเขยผู้สานฝันพ่อตา “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ปักธงทุนไทยสู่สมรภูมิอาเซียน

3. ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น : ทายาทเจ้าสัวธนินท์ ดึงไชนาโมบายล์ ล้างหนี้แสนล.สู้ศึกธุรกิจสื่อสาร

4. ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด : นางพญาค้าปลีกผู้ปั้นแลนด์มาร์กริมแม่น้ำเจ้าพระยา 5หมื่นล้าน ผลักดันกรุงเทพฯ จุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยวทั่วโลก

5. เนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษา บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด ( BRIC) : อดีตนักการเมือง ผู้ดันเศรษฐกิจให้บุรีรัมย์เติบโตก้าวกระโดด โมเดลผุดสนามแข่งรถระดับโลก สานเป้าหมายให้บุรีรัมย์ ให้เป็นเมือง 1 ใน 5 ของไทย ที่คนอยากมามากที่สุด

สำหรับ บัณฑูร ในการดำเนินงานถือเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตของธนาคารกสิกรไทย ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันควบคุมกรอบการเติบโตให้เหมาะสม กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จึงจะเห็นการเติบโตของธนาคารรวมถึงธุรกิจในเครืออย่างต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ปี 2557 มีความโดดเด่นมากในแง่การเติบโต แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยล่อแล่จะไม่เห็นตัวเลขขยายตัว ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีสินเชื่อหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนจะมาประคองตัวไม่ให้ติดลบได้ในช่วงปลายปี เฉลี่ยทั้งปีคาดว่าสินเชื่อทั้งระบบจะเติบโตได้เพียง 1-2% แต่สินเชื่อของกสิกรไทยยังเติบโตต่อเนื่อง

ล่าสุดเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิของธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้น 6.6% จากสิ้นปี 2556

ในงวด 9 เดือน สิ้นสุด 30 ก.ย. 2557 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 36,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 31,798 ล้านบาท หากมองในแง่ของความมั่นคงแล้ว ระดับหนี้ด้อยคุณภาพสิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.16% ต่ำกว่าเป้าหมายที่จะคุมไว้ที่ 2.2% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 142.39% อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย16.98% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.98%

ส่วนเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาล เป็นที่ทราบกันดีว่า บัณฑูร ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล และหลักการของบรรษัทภิบาลเป็นอย่างดี ยืนยันได้ด้วยรางวัลที่ธนาคารกสิกรไทยได้รับมาต่อเนื่อง

โดยในปี 2557 ได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านการรายงานบรรษัทภิบาลที่มีความเป็นเลิศ (SET Award of Honor for Continuous Excellence in Corporate Governance Report) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 จากงาน SET Awards 2014 ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัล ผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ “ดีเลิศ” จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2557 จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย รางวัล Investor’s Choice Award ครั้งที่ 2 (โดยได้คะแนนเต็ม 100 คะแนนต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2557 จากโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น) จัดโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและ

ในแง่การสร้างความเปลี่ยนแปลง บัณฑูร ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ปี 2540 หลังจากเกิดวิกฤติการเงินในประเทศ เขาได้ลุกขึ้นมา “Re-engineering" หรือ การยกเครื่ององค์กร และนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารงานอยู่เสมอ ทำให้พื้นฐานธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากพอที่เขาจะวางใจขึ้นไปนั่งในตำแหน่งของการวางนโยบายและมองภาพรวมของธุรกิจแทนได้ และการเปลี่ยนแปลงในวันนั้นยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอในองค์กรแห่งนี้ ในแต่ละปีผู้บริหารระดับสูงจะมีเปลี่ยนแปลงสายงานอยู่บ่อยครั้ง เพื่อความสดใหม่และเป็นองค์กรแห่งการตื่นรู้อยู่เสมอ

บัณฑูร พูดเสมอ"การแข่งขันในโลกธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลา หากธุรกิจไม่สามารถสร้างนวัตกรรมให้เท่าทันกับตลาดโลกก็ต้องยอมถอยไป" เช่นกันกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่ความเสี่ยงที่นอกเหนือจากการเก็งกำไรแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการพัฒนาตัวเองไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงจะต้องคิดค้นสินค้าใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุน

ขณะที่การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคมนั้น บัณฑูร มองว่า"การทำกิจกรรมเพื่อสังคม" หรือ ซีเอสอาร์ โดยเนื้อแท้แล้วหมายถึง หน้าที่ของธุรกิจหรือบุคคลที่ต้องทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมีบทบาทที่เหมาะสมต่อระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน มากกว่าการทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองเท่านั้น

นอกจากนี้ งานด้านซีเอสอาร์ยังหมายรวมไปถึงการเป็นแบรนด์ให้กับโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ซึ่งเป็นโครงการที่เขารับสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี อีกด้วย โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นหนึ่งในโครงการซีเอสอาร์ของธนาคารกสิกรไทย อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ด้วยจิตผูกพันในเมืองน่านตลอดช่วง 4-5 ปี ที่ย้ายสำมะโนครัวเข้าไปเป็นคนเมืองน่าน ได้ขยายไปสู่ความหวงแหนในผืนป่าที่ถูกทำลาย

หลังจากที่ได้เข้าไปจัดงานสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ได้สัมผัสข้อเท็จจริงในพื้นที่ป่าที่เห็นว่าสวยงามจากภายนอกกำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ สภาพป่าจากแผนที่ดาวเทียมที่สรุปได้ชัดเจนว่า ป่าน่านหายไปแล้ว 1 ใน 4 ดังนั้นทุกเดือนเขาต้องเดินทางไปเมืองน่าน ส่วนหนึ่งของการเดินทางคือ การลงพื้นที่ ปรึกษาหารือกับผู้นำชุมชน ในอันที่จะร่วมมือกันหยุดยั้งการตัดป่า

บนพื้นฐานว่า"คนในพื้นที่ต้องมีอาชีพทำกิน อยู่กับป่าได้โดยไม่ต้องทำลายป่า"