สายธารวรรณกรรมไทย 2557 บางสิ่งที่กำลังผ่านไป

สายธารวรรณกรรมไทย 2557 บางสิ่งที่กำลังผ่านไป

กาลเวลาผ่านไป แต่ทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ในโลกวรรณกรรม...แม้จะปีใหม่ มีเรื่องราวให้เหลียวกลับไปมองเช่นกัน

ปีม้ากำลังจะควบหนีไป ปีใหม่กำลังจะมา วงการวรรณกรรมบนหลังม้าทั้งกระเด้งกระดอน บางครั้งก็ราบเรียบราบรื่น ในปีเดียวมีทั้งเรื่องดีและร้าย เรื่องน่าตื่นเต้นและน่าตกใจ ก่อนจะข้ามผ่านปีนี้ไปเรามาทบทวนกันว่าปี 2557 มีอะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง...

  • จอห์น จอห์น จอห์น

ในวงการภาพยนตร์ การใช้คลิปไวรัล (Viral) มีมานานแล้ว เพื่อสร้างกระแสก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้าฉาย แต่สำหรับวงการหนังสือบ้านเรานับเป็นเรื่องแปลกมากที่จู่ๆ ก็มีคลิปวิดีโอไวรัลชิ้นหนึ่ง Bangkok 1st Time ตอนโดนคนไทยด่าครั้งแรก ที่ในคลิปมีคุณลุงฝรั่งสวมชุดสูทดูภูมิฐานมานั่งเล่าประสบการณ์การมาเมืองไทยครั้งแรก ตลอดการสัมภาษณ์มีคำหยาบคายเต็มไปหมด แต่ผู้ชมคลิปก็ชื่นชมว่าตลกมาก

คลิปวิดีโอนี้โด่งดังมากในชั่วข้ามคืนเพราะพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ช่วยกันกดไลค์ ช่วยกันกดแชร์ จนตอนนี้จำนวนผู้ชมมากถึงสามล้านสองแสนกว่าครั้ง!

ตอนท้ายคลิปวิดีโอมีโลโก้ของสำนักพิมพ์แซลม่อนปรากฏขึ้น แน่นอนว่านี่คือโฆษณาหนังสือที่แหวกแนวที่สุดชิ้นหนึ่งในรอบปี ไม่สิ ตั้งแต่เริ่มมีการโฆษณาหนังสือมาต่างหาก หลังจากคลิปนี้สู่สาธารณชนหนังสือ New York 1st Time ของ ธนชาติ ศิริภัทราชัย ก็ขายดิบขายดีไม่แพ้กับจำนวนผู้ชมในยูทูปเลย

  • ฟุตบอลโลกในโลกหนังสือ

ต้องยอมรับว่าปีนี้กีฬาฟุตบอลในบ้านเรามาแรงจริงๆ อย่างล่าสุดที่ทีมชาติไทยคว้าแชมป์ซูซูกิคัพได้สำเร็จหลังจากต้องรอคอยมานานถึง 12 ปี ทั้งยังเป็นเวทีแจ้งเกิดดารานักเตะอีกหลายคน แต่ก่อนที่กระแสฟุตบอลไทยจะมา เมื่อกลางปีชาติมหาอำนาจลูกหนังอย่างบราซิลได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และแน่นอนว่าวงการหนังสือบ้านเราก็ได้อานิสงค์จากกระแสฟุตบอลโลกด้วย...ไม่มากก็น้อย

ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสารกีฬา และเพิ่มดีกรีจนน่าประหลาดใจเช่นผู้ผลิตหนังสือหยิบฟุตบอลโลกครั้งนี้ไปใส่ในหนังสือสอนภาษาอังกฤษ!

'World Cup English : เรียนภาษาอังกฤษจากศึกฟุตบอลเวิลด์คัพ' คือ ชื่อหนังสือสอนภาษาที่โพสต์บุ๊กส์ส่งลงแผงเพื่อรับกระแสฟุตบอลโลก ผลงานของ Terry L. Fredrickson เขียน และสุนีย์ แคนยุกต์ แปล ด้วยเชื่อว่าฟุตบอลโลกคือการแข่งขันฟุตบอลครั้งสำคัญที่แฟนๆ คอฟุตบอลตัวจริงทั้งหลายไม่ยอมพลาด แม้แต่รอคอยการแข่งขันในแต่ละครั้งถึงสี่ปีก็ตาม เพราะการได้เฝ้าลุ้นและเชียร์สุดยอดทีมในดวงใจคือความสุขสนุกสนานที่ได้รับ และเช่นเดียวกับการชมภาพยนตร์ต่างประเทศ การได้ฟังเสียงจากต้นฉบับจะช่วยเพิ่มอรรถรสได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากความพยายามเชื่อมโยงฟุตบอลโลกเข้ากับหลายสิ่งหลายอย่างแล้ว หนังสือที่มีหน้าตาเกี่ยวกับฟุตบอลชัดเจนก็ได้กระแสฟุตบอลโลกช่วยส่งให้ขึ้นแท่นทั้งหนังสือขายดีและกลายเป็นหนังสือสุดเจ๋ง ณ ช่วงเวลานั้น

อย่างที่ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คสได้รวบรวมรายชื่อหนังสือสิบเล่มที่ว่ากันว่า 'สุดเจ๋ง' ต้อนรับฟุตบอลโลก 2014 แน่นอนว่าเอเชียบุ๊คสมาเองย่อมเป็นหนังสือระดับสากล เพราะจากสโลแกนของมหกรรมฟุตบอลโลกปีนี้ “All in One Rhythm : ทุกสิ่งทุกอย่างสอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียว” ฟุตบอลกับหนังสือจึงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยว่ามีหนังสือเล่มใดบ้างที่สุดเจ๋งรับฟุตบอลโลก...

จากตำราเรียนสู่หนังสือหลากหลายเกี่ยวกับฟุตบอลโลกและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย มาถึงสิ่งพิมพ์ที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานของสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับฟุตบอล นั่นคือหนังสือพิมพ์และนิตยสารกีฬา ถึงมหกรรมฟุตบอลครั้งสำคัญของโลกแบบนี้ หนังสือพิมพ์และนิตยสารฟุตบอลบ้านเราต่างตื่นตัว ในแง่ของผู้ผลิต มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารเกี่ยวกับฟุตบอลโลกออกมาหลายหัวหลายฉบับ ที่เป็นเฉพาะกิจฟุตบอลโลกก็มีให้เห็นพอสมควร ทว่าในแง่ของผู้จำหน่ายสถานการณ์ไม่ได้แตกต่างจากก่อนมีฟุตบอลโลกเท่าใดนัก

  • มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพคนทำหนังสือ

รอกันมานานแสนนานสำหรับคนทำหนังสือทุกภาคส่วนที่จะให้มีไม้บรรทัดสักอันมาตีเส้นบอกมาตรฐานว่าความมั่นคงของวิชาชีพนี้อยู่ตรงไหน จนกระทั่งปีนี้ที่กำลังจะผ่านไปก็ได้ฤกษ์เปิดตัว 'มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพคนทำหนังสือ' ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างกว่าความฝันที่ฟุ้งกระจายอยู่ก่อนหน้านี้

จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะหัวเรือใหญ่การทำโครงการวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ ว่าธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยยังไม่เคยมีเกณฑ์มาตรฐานการทำงานรวมถึงการจัดอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพผู้สร้างสรรค์ผลงานมาก่อน หรือแม้แต่ในหลักสูตรการเรียนสารสอนในไทยเองก็ไม่ได้เอื้อต่อการประกอบวิชาชีพด้านหนังสือและสิ่งพิมพ์โดยตรง

"ในประเทศไทยมีหลายอาชีพทำมาตรฐานวิชาชีพแล้ว เราก็เลยคิดกับตัวเองว่าทำไมสมาคมผู้จัดพิมพ์ถึงไม่ทำ ในประเทศเราวิชาชีพการจัดพิมพ์หนังสือเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนในประเทศนี้จะมองเห็น การช่วยเหลือจากภาครัฐทุกครั้งจะไม่เคยมีความช่วยเหลือมาถึงการทำหนังสือ ดังนั้น ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ทางสมาคมฯได้หารือกับผู้ร่วมงานว่าจะผลักดันเพื่อให้วิชาชีพของพวกเราได้รับการยอมรับ เพื่อเมื่อเปิด AEC แล้วเราจะได้มีใบรับรองวิชาชีพ จะได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ด้วย"

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวคือส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ จำนวน 6 อาชีพ คือ นักเขียน, นักแปล, นักวาดภาพประกอบ, บรรณาธิการ, พิสูจน์อักษร และนักออกแบบกราฟฟิก ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ คล้ายกับอาชีพอื่นๆ มี เช่น แพทย์ พยาบาล ครู เป็นต้น และที่สำคัญเพื่อทัดเทียมกับต่างประเทศเพราะสิ่งที่คนเหล่านี้กำลังพยายามส่งเสริมให้เกิด ล้วนมีอยู่แล้วในต่างประเทศ ทำให้มาตรฐานของอาชีพทั้ง 6 อาชีพของประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย มีมาตรฐานดีทีเดียว

โครงการฯ ดำเนินมาไกลกว่าก้าวแรกแล้ว และเชื่อได้เลยว่าก้าวต่อๆ ไป จะชัดเจนมากขึ้นกว่านี้เป็นแน่ คนในวงการหนังสือทั้งหลายจงเฝ้ารออย่ากระพริบตา สักวันมาตรฐานจะบังเกิดในบรรณพิภพอย่างแน่นอน

  • เขาชื่อตู่

ปีนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในแวดวงการเมืองไทย และเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลซึ่งมีผู้นำเป็นทหารขึ้นมาปกครองดูแลบ้านเมืองท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ ในสถานการณ์ดังกล่าวคนที่โดดเด่นและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น 'ท่านผู้นำ' คนนี้...พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

'เขาชื่อ 'ตู่' จากทหารเสือสู่ทำเนียบรัฐบาล' คือหนังสือที่เผยเบื้องหลังชีวิต พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย อุดมด้วยข้อมูลเจาะลึก ที่ไม่เคยอ่านที่ไหนมาก่อน โดย ทีมข่าวทหาร กองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์ หลังจากวางตลาดอย่างเป็นทางการแล้วหนังสือเล่มนี้ก็ขึ้นแท่นหนังสือขายดีในเวลาไม่นาน

ด้วยกระแสนิยมและเบื้องหลังหลากหลายมิติของนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด กองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์ จึงได้เรียบเรียงอัตชีวประวัติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านที่ต้องการทราบเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับนายทหารผู้นี้แบบถึงแก่นและตั้งแต่ต้นทางที่เขาเดินมา

ในหนังสือเล่มนี้ยังมี 'เรื่องเล่า' จากคนใกล้ชิด ที่บอกถึง 'ตัวตน' ของ พลเอกประยุทธ์ และส่องให้เห็นในทุกมิติชีวิต 'บิ๊กตู่' ที่มีทั้งโหด มัน ฮา ครบทุกรส

ที่มากกว่าชีวประวัติคือฉากหลัง 'ประวัติศาสตร์การเมือง' ช่วงระยะสั้นๆ นับแต่ปี 2549-2557 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมกับ 'รุ่นพี่' อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก่อการควบคุมอำนาจถึง 2 ครั้งซ้อน รวมถึงเรื่องของเพื่อนพ้องน้องพี่จากรั้วแดงกำแพงเหลือง

นี่เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งในหนังสือเล่มเดียวที่เจาะลึกถึงก้นบึ้งของลูกผู้ชายชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอีกหลายแง่มุมให้ผู้อ่านที่เป็นแฟนๆ ได้ชื่นชม ส่วนผู้อ่านที่ไม่ใช่แฟนหรือไม่ชอบพอสักเท่าไร จึงเป็นโอกาสได้รู้จักกับเขามากขึ้นแน่นอน

  • ศึก 'คาดเชือก'

'คาดเชือก' นั้นอย่าเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องนักมวย...แต่เป็นเรื่องหนังสือรวมบทกวีชื่อปกว่า 'คาดเชือก' ต่างหาก ซึ่งปีนี้เปิดศึกฟัดกันนัวเนียเหมือนนักมวยคาดเชือกเลยทีเดียว

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ดิเรก นนทชิต เปิดแฟนเฟซกลุ่มกวีนิพนธ์ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับสำแดงฝีมือให้กับกวีทั้งหลายได้โชว์ศักยภาพกัน แต่เมื่อทันทีที่ดิเรกนำเอาผลงานกวีเหล่านั้นไปรวมพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่าย เป็นหนังสือทำมือชื่อปกว่า 'คาดเชือก' พิมพ์ตามยอดสั่งของสมาชิก โดยมีคนสั่งซื้อเข้ามา 200 คน จึงตัดสินใจพิมพ์ 300 เล่ม ขายเล่มละ 175 บาท ทางไปรษณีย์ ในเล่มมีบทกวี 100 บท จากกวี 64 คน โดยแจ้งให้ทราบทางกลุ่มติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งดิเรกบอกว่าก็ไม่มีเสียงทักท้วงอันใด จึงดำเนินการพิมพ์จนเรียบร้อย

แต่ถึงกระนั้นก็เริ่มมีนักกวีบางคนบางกลุ่มเริ่มทักท้วงว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จนมีการร้องเรียนไปยังสมาคมนักเขียน และทำให้ เจน สงสมพันธุ์ ต้องออกมาหาต้นสายปลายเหตุว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร ต่อมาเมื่อมีการพิมพ์เล่มที่สองฉบับ 'ติดปีก' ก็เริ่มกวีบางคนขอถอนผลงาน ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเริ่มมาตั้งแต่การติดต่อขออนุญาตการตีพิมพ์กับเรื่องค่าลิขสิทธิ์ และท่าทีต่อกันนั่นแหละ จนทำนายกสมาคมนักเขียนต้องออกมาเป็นกรรมการ...

  • มหกรรมหนังสือระดับชาติ

เป็นประจำทุกปีที่งานมหกรรมหนังสือและงานสัปดาห์หนังสือจะนับเป็นหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญในบรรณพิภพที่หนอนหนังสือรอคอยอยู่ทุกครั้ง ซึ่งสารัตถะของงานหนังสือในบ้านเราคงไม่พ้นการลดราคาหนังสือแบบถล่มทลาย แต่หลายปีมานี้สีสันของงานหนังสือมีมากกว่าหนังสือลดราคา ทว่าเป็นกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือตั้งใจทำเอามากๆ

"การจัดงานครั้งนี้เราคิดธีมกันมานานว่าจัดงานบนสถานการณ์บ้านเมืองที่ค่อนข้างจะอ่อนไหว เห็นว่ารัฐบาลจะเริ่มต้นปฏิรูปประเทศไทยใหม่ เราก็เลยใช้ชื่องานว่า 'ก.เอ๋ย ก.ไก่' คือประเทศไทยเรานับหนึ่งกันใหม่ครับ" จรัญ หอมเทียนทอง กล่าวไว้ตอนนั้น

นิทรรศการที่เป็นไฮไลท์ของมหกรรมหนังสือปีนี้ ผู้จัดงานการันตีว่านี่คือไทม์แมชชีนพาย้อนทุกคนทุกวัยไปสู่ความหลังครั้งนุ่งกระโปรงบาน นุ่งกางเกงขาสั้น รำลึกถึงแบบเรียนตั้งแต่คุณปู่คุณย่ายังเด็ก (หรืออาจยังไม่เกิด) สู่การระลึก (ถึง) ชาติ

"เมื่อเราจัดงานภายใต้การนับหนึ่งกันใหม่ การจัดนิทรรศการก็ต้องให้สอดคล้องกับธีมงาน ก่อนที่เราจะเริ่มนับหนึ่งกันใหม่แลไปข้างหน้าเพื่อก่อความหวัง เราก็ต้องแลไปข้างหลังเพื่อแก้ความผิดก่อน ดังนั้นจึงจัดนิทรรศการ 'ระลึกชาติในแบบเรียน' นิทรรศการนี้เป็นไฮไลท์ของงาน เป็นนิทรรศการซึ่งไม่ได้แสดงความเห็นหรือมีทัศนคติทางการเมืองอะไร แต่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าแบบเรียนสะท้อนทัศนคติของผู้นำในชาติที่จะให้คนในชาติก้าวเดินไปทางไหน แบบเรียนที่เรานำมาแสดงนี้เริ่มต้นจากเมื่อปี พ.ศ.2414 ตั้งแต่ ตาหวังหลังโก่ง จนถึงปัจจุบัน" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ บอก

"ถ้าคนอายุ 50 จะเจอว่าตัวเองเคยเรียนแบบไหน ถ้าคนอายุ 60 จะเจอแบบเรียนที่ตัวเองเคยเรียน คือ นกกางเขน สองพี่น้องวิหคนกพูดได้ คนมาชมงานก็จะมีความสุขว่าเราเห็นความหลังของเรา ผมว่าคนที่มาดูชุดตาหวังหลังโก่งไม่น่ามีมาแล้วนะครับ เพราะเป็นแบบเรียนเมื่อปี พ.ศ.2414 นอกจากว่ามาทางโทรจิต (หัวเราะ)"

แม้งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ผ่านมานี้จะมีผู้เข้าชมงานมากกว่าครั้งก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่ยอดขายหนังสือในงานลดลงจนน่าประหลาดใจสุดๆ หวังว่าปีหน้าอะไรต่อมิอะไรจะดีขึ้น เงินทองในกระเป๋านักอ่านจะอู้ฟู่กว่านี้ คนทำหนังสือที่แบกหนังสือไปลดถล่มราคาในงานจะได้ยิ้มแป้นได้จริงๆ สักที

  • ซีไรต์ 2557

เรียกได้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่มากที่สุดในรอบปี ไม่ว่าจะปีนี้หรือปีไหน เพราะรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์) ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของไทยและชาวอุษาคเนย์เลยทีเดียว ยิ่งปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลคือ แดนอรัญ แสงทอง อัศวินวรรณกรรมชาวไทย ที่มีคนบอกว่าไม่ใช่แต่คนไทยที่เชียร์เขา ชาววรรณกรรมทั่วโลกก็เชียร์เขาด้วย

แต่ไม่ว่าจะลุ้นจะเชียร์เล่มใด ถึงตอนนี้ อสรพิษและเรื่องอื่นๆ ของ แดนอรัญ แสงทอง ก็ได้ประทับตราหน้าปกเป็นรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์เรียบร้อยแล้ว แต่ สกุล บุณยทัต ก็เคยบอกว่าปีนี้ถือว่าโชคร้ายที่สุดของทั้ง 6 คนที่ได้มาเจอกันเอง ถ้าแยกปีทุกคนคงได้ซีไรต์ไปครอบครอง หากจะให้วิจารณ์ว่าเล่มไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมจะได้รางวัลนั้นยาก เพราะทุกเล่มของนักเขียน 6 คนมีทั้งคุณภาพและความตั้งใจ

แต่ด้วยเหลี่ยมมุมของ ‘พี่เฟิ้ม’ ของน้องๆ ในแวดวงน้ำหมึก มีศักยภาพดึงเอามิติที่ทับซ้อนของสิ่งที่เกิดขึ้น นำมาสรรค์สร้างให้มันกว้างไกลกว่า ลึกซึ้งยิ่งกว่า

แต่ดูเหมือนแดนอรัญจะไม่สะทกสะท้านต่อกระแสรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งสำหรับนักเขียนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเพราะเขาเคยเป็นที่ยอมรับจากต่างชาติมาก่อน และยังปรารถนาได้การยอมรับแบบนั้นอีก ซึ่งการยอมรับในประเทศก็ไม่ได้เลวร้าย แต่ถึงอย่างไรการทำงานให้ดีก็สำคัญที่สุด ซึ่งงานดีมากๆ อย่างเงาสีขาวของเขากลับไม่ได้รางวัลนี้ จนกระทั่งเขาเคยบอกว่ารางวัลซีไรต์เป็นรางวัลอมยิ้ม!

“ผมก็ยังต้องการการยอมรับจากนานาชาติมากกว่าอยู่ดี เพราะว่าชีวิตนี้มันหันกลับไม่ได้ มันต้องเขียนหนังสือ ถ้ามีโอกาสนะคือหมายความว่ากินอิ่มนอนหลับ มีสตางค์ใช้บ้างก็ควรจะต้องทำงานหรือมีใครบอกให้เขียนก็ต้องตั้งใจทำให้เต็มที่

ซีไรต์มันเป็นรางวัลสำหรับเด็กๆ เอาไว้อมยิ้มอวดชาวบ้าน รางวัลซีไรต์พูดชัดๆเลยว่าเป็นรางวัลอมยิ้มอวดชาวบ้านเป็นได้เท่านั้น ความเป็นจริงก็คือเท่านั้น ผมก็ไม่พยายามหลอกตัวเองด้วย ยิ่งผมมาสนใจศาสนาด้วยก็ยิ่งรู้ ความจริงรางวัลโนเบลก็เป็นรางวัลอมยิ้มทางวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ก็ต้องพูดกันให้ชัดทั้งหมด แล้วยิ่งรางวัลซีไรต์ยิ่งเป็นอมยิ้มที่ทำให้ฟันผุมากๆเลย”

  • หนึ่งทศวรรษความสุขของกะทิ

ความสุขของกะทิ เป็นนวนิยายขนาดสั้นจากปลายปากกาของ งามพรรณ เวชชาชีวะ บอกเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของเด็กวัย 6-7 ขวบ ที่มองความสุข และการรับมือต่อความทุกข์ การตัดสินใจแก้ปัญหา ในสายตาเด็กแค่นั้นจะมีมุมมองแตกต่างจากผู้ใหญ่ทั่วไปมากน้อยแค่ไหน แม้เด็กหญิงกะทิจะต้องรับมือกับหลายๆ เรื่อง แต่เธอยังได้รับความรักจากคนรอบข้างและเธอเองยังมอบความรักให้แก่คนรอบข้างเช่นกัน

ความสุขของกะทิได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2549 รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตีพิมพ์แล้วกว่า 91 ครั้ง แปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 10 ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน คาตาโลเนีย เกาหลี ลาว จีนแผ่นดินใหญ่ และจีนไต้หวัน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจซึ่งกระแสตอบรับทั้งในประเทศและนอกประเทศเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ความสุขของกะทิเติบโตขึ้นมีหนังสือภาคต่อของ ความสุขของกะทิ ชื่อว่า ความสุขของกะทิ ตอน ตามหาพระจันทร์ และ ความสุขของกะทิ ตอน ในโลกใบเล็ก

ปีนี้ความสุขของกะทิครบรอบ 10 ปี เด็กหญิงกะทิกำลังเติบโตขึ้นอีกครั้งในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม คือ จากตัวอักษรกลายเป็นลายเส้น ผู้ที่มามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ให้เด็กหญิงกะทิสร้างรอยยิ้ม มอบความสุขให้แก่ทุกคน เราจะได้เห็นการเติบโตของเด็กหญิงกะทิโดย ตั้ม - วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งมีผลงานเรื่อง ฮีชีอิท (hesheit) เด็กหญิงมะม่วง เป็นต้น วิศุทธิ์จะเป็นผู้ถ่ายทอดความสุขของกะทิในฉบับลายเส้นให้ผู้อ่านได้ติดตามกันต่อไป

  • อำลา กาญจนา นาคนันทน์

เป็นอีกปีที่มีนักเขียนชื่อดังต้องจากโลกนี้ไป เมื่อเดือนพฤษภาคมคนในวงการหนังสือต้องตกใจกับข่าวการจากไปของ กาญจนา นาคนันทน์ นักเขียนนิยายชื่อดังหลายเรื่อง อาทิ ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, ธรณีนี่นี้ใครครอง, ผู้กองยอดรัก ในวัย 93 ปี ด้วยโรคชรา

กาญจนา นาคนันทน์ ได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปี 2555 สาขาวรรณศิลป์ เนื่องจากเป็นศิลปินผู้สร้างงานวรรณศิลป์อันทรงคุณค่า ผลงานจำนวนมากได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในสถาบันศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา งานเขียนช่วงสุดท้ายได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาและศิลปะวัฒนธรรม กาญจนาทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องถึงแม้อายุจะมากแล้วก็ตาม สะท้อนถึงความรักในงานเขียนของนักประพันธ์ผู้นี้

  • อาลัย ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ศิลปินเจ้าของตำนาน กระท่อมทุ่งเสี้ยว ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เสียชีวิตไปพร้อมกับความอาลัยรักจากมิตรน้ำหมึก โดยแพทย์ระบุว่าติดเชื้อในกระแสเลือด

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว เป็นนักเขียน กวี นักดนตรี ที่มีชื่อเสียง และทำงานอิสระมายาวนาน หนังสือรวมบทกวีอยู่สองเล่มได้รางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือชื่อว่า กับความอาดูรสูญสิ้น ปี 2527 เหมือนดังดอกหญ้า ปี 2528 ต่อมาสำนักวัฒนธรรมอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ยกย่องประกาศเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินดีเด่น สาขาวรรณศิลป์ ด้านกวีนิพนธ์ ประจำปี 2552 ในปีเดียวกันยังได้รับประกาศเกียรติเป็น นักกลอนตัวอย่าง จากสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ปัจจุบันใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่กับแพร จารุ นักเขียนคู่ชีวิต และเขียนคอลัมน์ “เรื่องเล่าเล็กๆ จากกระท่อมทุ่งเสี้ยว” ในเว็บไซต์ประชาไทด้วย

  • สิ้น เสนีย์ เสาวพงศ์

นับเป็นข่าวร้ายที่สุดในวงการวรรณกรรมไทยในรอบปีนี้ สำหรับการจากไปของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ หรือ เสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2533 ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ หลังจากล้มป่วยและเข้ารักษาตัวอยู่ที่นี่นั่นเอง สิริรวมวันเวลาแห่งชีวิต 96 ปี การจากไปครั้งนี้จุดประกายวรรณกรรมก็ได้มีโอกาสบอกเล่าในมุมที่แตกต่าง เพื่อให้เรื่องราวของเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นที่รับรู้ในหลากแง่หลายมุม

...

ปีนี้กำลังจะผ่านพ้นไปในอีกไม่กี่วัน ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นวันวาน ความทรงจำที่หวนคิดจะช่วยเตรียมการเพื่อก้าวสู่อนาคต...ในปีใหม่