A Day in Butterfly, Butterfly in A Day : เมื่อผีเสื้อโบยปีกบิน

A Day in Butterfly, Butterfly in A Day : เมื่อผีเสื้อโบยปีกบิน

กว่า 40 ปี ที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อโบยบินท่ามกลางโลกวรรณกรรม

...แต่ละจังหวะกระพือปีกบิน ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกว่าหนังสือไว้มากมาย

ในบรรณพิภพนี้อาจมีสำนักพิมพ์ดีๆ หลายสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ผีเสื้อก็เป็นสำนักพิมพ์หนึ่งซึ่งคนในวงการหนังสือบ้านเราปฏิเสธไม่ได้ว่าผลิตหนังสือดีตั้งแต่กระบวนการแรกกระทั่งกระบวนการสุดท้าย ด้วยชื่อเสียงที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยแบบนี้ทำให้หนังสือที่ประทับตรา 'ผีเสื้อ' ไม่สะท้านสะเทือนแม้กาลเวลาจะผ่านไปเท่าไร

แม้แต่นิตยสารขวัญใจวัยรุ่นอย่าง A Day ก็เลือกสำนักพิมพ์ผีเสื้อไปเป็นเนื้อหาหลักและยกให้ A Day ฉบับเดือนตุลาคม 2557 เป็น A Day ฉบับผีเสื้อเลยทีเดียว จนกลายเป็นกระแส Butterfly Effect ทั้งในแวดวงวรรณกรรมและในกลุ่มนักอ่าน แน่นอนว่าแฟนนานุแฟนของสำนักพิมพ์นี้และนิตยสารนี้ก็ฮือฮาต่อนิตยสารฉบับนี้มิใช่น้อย

จากกระแสของ A Day สู่กิจกรรมและสีสันมากมายที่ทีมงาน A Day กับผีเสื้อร่วมมือกัน เช่น งานเสวนาว่าด้วยเรื่องบรรณาธิการหนังสือกับบรรณาธิการนิตยสาร และสิ่งละอันพันละน้อยในรูปแบบเฉพาะ จำนวนจำกัด (Limited Edition)

แม้แต่หน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ตอบรับกระแสนี้ด้วย อย่างที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรม A Day in Butterfly, Butterfly in A Day ซึ่งในงานนี้เนรมิตห้องประชุมชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธรให้กลายเป็นดงดอกไม้ที่ผีเสื้อโบยบิน ตั้งแต่บนทางเดินจรดเวที...

ด้วยบรรยากาศสบายๆ คล้ายกำลังนั่งอยู่ในสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ทั้งภาพประกอบคุ้นตาจากปกหนังสือของผีเสื้อหลายเรื่องที่นำของจริงมาจัดแสดง และบรรดา 'ชาวผีเสื้อ' ที่มากันเกือบครบ เสริมทัพด้วยทีมงาน A Day ที่เข้าไปฝังตัวอยู่ในรังผีเสื้อจนได้ข้อมูลลึกซึ้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏในนิตยสารฉบับใดมาก่อน นำโดย ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการ A Day ร่วมซักถามพูดคุยกับ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผีเสื้อคนอื่นๆ ถึงการทำงานที่หลายคนเคยเห็นเพียงกระบวนการสุดท้ายคือเป็นเล่มเรียบร้อยแล้ว

ทรงกลดเปิดประเด็นถึงหนังสือเรื่อง 'รอยประทับ' ที่เขาบอกว่าถ้าเห็นแค่ปกกับชื่อเรื่องก็ไม่คิดว่าจะซื้ออ่าน ซึ่งอาการแบบนี้มักเกิดขึ้นแก่วรรณกรรมของผีเสื้อที่หลายเล่มคล้ายว่าอ่านยาก แต่ด้วยค่าที่บรรณาธิการ A Day ได้เข้าไปคลุกคลีกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ จึงมีโอกาสลองอ่าน ผลที่ได้คือคำชื่นชมว่า "ดีมาก"

ตามมาด้วยอีกเล่มคือ 'อาทิตย์อุทัยดั่งสายฟ้า' ที่เขาชมว่าหน้าปกสวยมากทว่าก็คาดเดาไม่ได้ว่าเกี่ยวกับอะไร...

มกุฏ อรฤดี เล่าว่า หนังสือเล่มนี้ ลีโอ รอว์ลิ่งส์ เป็นผู้เขียน เขาเป็นทหารอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะนั้นเขาอายุ 19 ปี ถูกเกณฑ์ทหารมาที่สิงคโปร์ พอญี่ปุ่นยึดสิงคโปร์ได้เขาก็กลายเป็นเชลยถูกต้อนมาที่กาญจนบุรีเพื่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ เขาต้องเผชิญภัยร่วมกับทหารผ่านศึกทั้งหลาย แต่ระหว่างนั้นเขาเขียนรูปและเขียนบันทึกแล้วซุกซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ เมื่อกลับไปอังกฤษก็ได้หนังสือหนึ่งเล่ม

ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้สำนักพิมพ์ผีเสื้อได้มาหลังจากตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษได้ไม่นาน...

"วันนั้นอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิตทำงานอยู่ NHK ต้องทำสารคดีเรื่องหนึ่งในวาระครบรอบ 50 ปีของสงครามโลกครั้งที่สอง ผมขับรถให้อาจารย์ผุสดีเพื่อที่จะหาคนหนึ่งซึ่งเคยช่วยเหลือทหารผ่านศึกของพันธมิตรและค้าขายกับญี่ปุ่นด้วย ก็ไปที่บ้านคุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ คุณบุญผ่องก็เอาหนังสือเล่มนี้ให้ดู มีลายเซ็นของลีโอ รอว์ลิ่งส์ ลีโอเซ็นแล้วส่งมาให้คุณบุญผ่องที่เมืองกาญจน์เพื่อขอบคุณในฐานะที่เป็นคนช่วยเหลือให้รอดตายเพราะเป็นคนที่เอายาไปให้ในค่ายกักกัน ผมเห็นเข้าก็ยังไม่ได้อ่านหรอก แต่เห็นรูปแล้วเอาไปพิมพ์ดีกว่า จึงยืมคุณบุญผ่องมาตั้งสองปี แล้วขอลิขสิทธิ์ทางจดหมาย ลีโอก็ตอบมาบอกว่ายินดีให้พิมพ์ คิดค่าลิขสิทธิ์ตอนนั้นคือเจ็ดแสนบาท แต่เราไม่มีเงินจ่ายหรอก ติดต่อกันไปมาสุดท้ายลีโอให้พิมพ์ฟรีเลย แต่ต้องไปดูแลลิขสิทธิ์รูปของแกที่ถูกละเมิดที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเมืองกาญจน์" มกุฏกล่าว

ลีโอบอกแก่สำนักพิมพ์ผีเสื้อว่าอันที่จริงที่ญี่ปุ่นให้ค่าลิขสิทธิ์มากกว่าเจ็ดแสนบาทและเชิญเขาไปงานเปิดตัวหนังสือด้วย ดูเหมือนว่าเรื่องลิขสิทธิ์ของหนังสือเล่มนี้จะหลุดลอยไปจากมือผีเสื้อแล้ว จนกระทั่งวันหนึ่งที่ลีโอเสียชีวิต ซึ่งผ่านมาแล้วจากวันนั้นที่ผีเสื้อกับลีโอคุยกันทางจดหมายถึง 18 ปี ในที่สุดสำนักพิมพ์ผีเสื้อก็ติดต่อไปที่สมาคมทหารผ่านศึกของอังกฤษเพื่อถามหาลูกสาวของลีโอ จนกระทั่งได้ลิขสิทธิ์มาในราคา 5-6 หมื่นบาท สรุปว่ากว่าผีเสื้อจะได้ลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้ต้องใช้เวลาถึง 23 ปี

นี่ไม่ใช่หนังสือเล่มเดียวที่ผีเสื้อทุ่มเท ทว่าเกือบทุกเล่มที่ผีเสื้อตีพิมพ์ต้องผ่านการคัดสรร ตรวจแก้ และตีพิมพ์อย่างประณีต

ถัดมาที่ทรงกลดกล่าวถึงคือหนังสือเรื่องโนเวเชนโต้ เขายอมรับว่าตอนเห็นน่าปกก็มึนงงว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร จนกระทั่งได้อ่านก็ตกใจมาก เพราะหนังสือเล่มนี้คือภาพยนตร์ในดวงใจเรื่องหนึ่งของเขา ที่ชื่อว่า The Regent of 1900 เกี่ยวกับนักเปียโนที่ไม่เคยลงจากเรือเดินสมุทรเลย

"นี่อาจเป็นหนังที่หลายๆ คนชอบมาก ผมก็ชอบมาก ถ้าผมรู้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังก็คงซื้อไปนานแล้ว อย่างที่สองคือเขียนด้วยภาษาที่มันมาก เป็นงานทดลองที่เขียนด้วยภาษาที่มันมือมาก สนุกมากในแง่วรรณกรรม คำถามคืออาจารย์ (มกุฏ) ไม่คิดจะโปรโมทเรื่องพวกนี้บ้างเลยหรือ อาจารย์กลัวขายดีหรือครับ" บรรณาธิการนิตยสาร A Day ถาม

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ตอบ...

"นักเปียโนคนนี้มันก็คล้ายๆ กับผม นักเปียโนคนนี้ไม่เคยลงจากเรือเลย ผมก็ทำหนังสือไม่เคยออกจากหนังสือเลย เพราะฉะนั้นผมไม่รู้วิธีขาย"

เมื่อเปิดประเด็นเกี่ยวกับภาพยนตร์ สังเกตได้ว่าหนังสือของผีเสื้อมีหลายเรื่องที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่สิ่งที่สำนักพิมพ์ยึดมั่นมาตลอดคือไม่อิงกระแสของภาพยนตร์เพื่อหวังจะขายหนังสือได้มาก

"ผมไม่อยากให้เขาซื้อหนังสือเพราะว่าเขาคิดว่ามันเป็นหนัง ผมอยากให้ทุกคนอ่านหนังสือเพราะมันเป็นหนังสือ ผมคิดว่าคนอ่านหนังสือควรอ่านหนังสือเพราะเป็นหนังสือ มิเช่นนั้นเราจะทำให้คนเสียนิสัย อย่าลืมนะครับว่ามีหนังสือในประเทศไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นหนัง ถ้าเผื่อเราติดนิสัยว่าเราจะอ่านหนังสือเฉพาะที่เป็นหนัง หนังสืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ก็จะขายไม่ได้"

สำหรับอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสำคัญมาก และเชื่อว่ายังมีสำนักพิมพ์ไม่กี่แห่งที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้ นั่นคือ การทำสันโค้ง การทำสันโค้งมักจะมาคู่กับปกแข็ง และหนังสือที่ทำปกแข็งส่วนมากมักจะเล่มใหญ่หรือไม่ก็หนา หากกระบวนการทำปกแข็งสันโค้งไม่ประณีตหรือถูกวิธี หนังสือที่ดูเลอค่าอาจอยู่เป็นรูปเล่มได้ไม่นาน

"สันโค้งทำยาก ถึงแม้จะใช้เครื่องทำก็ไม่ดีเหมือนใช้มือเคาะ วิธีมือเคาะนี่เป็นวิธีโบราณ และหนังสือจะอยู่ได้นาน"

ในงานนี้มกุฏได้นำหนังสือสันโค้งจากฝรั่งเศสที่อยู่มาแล้ว 170 ปี มาให้ผู้ร่วมงานได้ชมด้วย ตอกย้ำว่าหนังสือสันโค้งที่ทำอย่างประณีตทีละเล่มๆ นั้นคุณภาพดีมากแค่ไหน

ถัดไปอย่างรวดเร็วเพื่อมาถึงหนังสือที่แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อไปแล้ว นั่นคือ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน

มกุฏ เล่าว่า ตอนนั้นพูดคุยกับอาจารย์สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ว่าจะทำหนังสือเล่มนี้ได้ไหม ด้วยเงื่อนไขคือต้องทำหนังสือปกหนัง 2 เล่ม พิมพ์หนังสือให้สถานทูตอีก 100 เล่ม ด้วยงบประมาณจำนวนหนึ่ง

"อาจารย์กับผมไปพบท่านทูตของสเปน แล้วถามด้วยคำถามเดียวกัน ผมคำนวณในหัวสมองว่าถ้าเราทำหนังสือดอนกิโฆเต้เล่มนี้ตามบัญชาของกษัตริย์สเปน และพิมพ์เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครองราชย์ครบ 60 ปี เราก็คำนวณว่าจะขาดทุนสักเท่าไร ทีแรกคิดว่าขาดทุนสักสี่แสน ก็ไม่เป็นไรขาดทุนสี่แสนก็สนุกดีที่ได้ทำหนังสือซึ่งในเมืองไทยไม่ได้มีโอกาสทำและเขาก็พิมพ์ไปทั่วโลก ตอนนั้นตัดสินใจทำทันที"

แต่ผลที่ลัพธ์จากการคำนวณว่าจะขาดทุนสี่แสน กลายเป็นขาดทุนสี่ล้านในความจริง!

ทั้งที่หนังสือเรื่องดอนกิโฆเต้ฯ นับเป็นวรรณกรรมชั้นเลิศเล่มหนึ่งของโลก แต่ด้วยความยาว 600 หน้า และภาษาโบราณชนิดที่ผสมผสานระหว่างภาษาร้อยแก้วกับภาษาร้อยกรอง จึงเป็นเล่มที่ยากมากสำหรับคนไทย

"ยูเนสโกซึ่งเขาดูแลเรื่องการอ่านของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เขาประเมินจากการตั้งคำถามแก่นักเขียนโนเบลและนักเขียนอื่นๆ รวม 100 คน ท้ายที่สุดได้คำตอบว่าดอนกิโฆเต้เป็นหนังสือที่ดีที่สุดของโลก"

จากข้อบังคับข้อหนึ่งว่าต้องทำหนังสือสองเล่มเพื่อถวายกษัตริย์สเปนและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นปกหนังสือสองเล่ม สำนักพิมพ์ผีเสื้อซื้อหนังวัวมาทั้งหมดเจ็ดตัว (ได้หนังเจ็ดผืน) โดยที่ผีเสื้อลอกแบบจากปกที่เซบานเตส (ผู้เขียนดอนกิโฆเต้) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1605 แล้วมาเขียนทองด้วยมือ

"เราต้องขึ้นเล่มอย่างนี้ทั้งหมด 20 เล่มเพื่อที่จะคัดสองเล่ม เล่มนี้ (ที่นำมาแสดงในงาน) คือใช้ไม่ได้ในจำนวน 20 เล่มนั้น"

ความน่าสนใจเกี่ยวกับดอนกิโฆเต้ของผีเสื้อยังมีอีกมาก เช่น มีดอนกิโฆเต้ฉบับที่ปกมีตราหอสมุดธรรมศาสตร์ มกุฏอธิบายว่าเมื่อครั้งธรรมศาสตร์เปิดวิชาภาษาสเปน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงชวนให้ไปแสดงนิทรรศการดอนกิโฆเต้ที่ห้องสมุดกลาง ทางผีเสื้อจึงแสดงความขอบคุณด้วยการพิมพ์หนังสือดังกล่าวทั้งหมด 100 เล่ม ทำให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีดอนกิโฆเต้มากที่สุดคือ 100 เล่ม และมีตรามหาวิทยาลัยด้วย

ทรงกลดตั้งข้อสังเกตว่าปกติหนังสือปกแข็งในห้องสมุดต่างๆ มักทำด้วยการฉีกปกเดิมออกแล้วใช้กระดาษจั่วปังทำปกแข็ง แล้วเขียนด้วยหมึกหรือปากกาลบคำผิดแทนชื่อปกเดิม ซึ่งดูไม่งามเลย

มกุฏ จึงบอกว่า "นี่คือตัวอย่างว่าถ้าเราต้องการทำหนังสือสวยๆ อยู่ในห้องสมุดเหมือนต่างประเทศ มันทำได้ตั้งแต่ตอนที่อยู่สำนักพิมพ์แล้วล่ะ เพียงแต่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะจะเข้าห้องสมุดก็ทำสำหรับห้องสมุด ถ้าสั่งมากๆ ก็ราคาถูกกว่าไปฉีกปกออกแล้วก็เย็บเชือก ไปทำอะไรที่น่าเกลียด ในที่สุดก็ได้หนังสือปกแข็งที่น่าเกลียดที่สุดอยู่ในห้องสมุด"

เมื่อเอ่ยถึงดอนกิโฆเต้ฉบับผีเสื้อย่อมมีเรื่องหนึ่งซึ่งไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ กระแสตอบรับจากประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างสเปน...

"เล่มที่ทำเนื่องในโอกาสที่กษัตริย์ฮวน คาร์ลอสจะถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพียงหนึ่งเล่ม แต่ท้ายที่สุดเราก็ทำสำหรับถวายสมเด็จพระเทพฯอีกเล่มหนึ่งเป็นปกหนังสีม่วง ไหนๆ ก็ทำแล้วก็เลยทำอีก 101 เล่ม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ทำขึ้นมาเหมือนจะ 150 เล่มนี่ล่ะ ก็ได้ส่งหนึ่งเล่มไปที่พิพิธภัณฑ์ของเซบานเตสที่ประเทศสเปน

เขาก็บอกว่ามันเป็นหนังสือเล่มที่สวยงามที่สุดในรอบ 400 ปีของดอนกิโฆเต้แห่งลามันช่า"

...จากที่ขาดทุนสี่ล้านบาทจึงกลายเป็นได้กำไรทันที

สำหรับโลกทุนนิยมที่วงการหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เรื่องกำไรและขาดทุนอาจเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่สำหรับสำนักพิมพ์ผีเสื้อสิ่งเหล่านี้ไม่นับอยู่ในสารบบ สิ่งที่เห็นจากอดีตจวบจนวันนี้คือคำตอบแล้ว ทั้งจากการที่นิตยสารหัวใหญ่อย่าง A Day ให้เกียรติกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ ทั้งกระแสตอบรับจากผู้อ่านทั้งในและต่างประเทศ และแน่นอนที่สุดจากคุณภาพของหนังสือซึ่งทุกเล่มต้องดีที่สุดจึงจะออกไปสู่แผงหนังสือได้

"ปกติเวลาเราบอกว่าเราจะทำหนังสือดีๆ เราก็มักจะจน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมก็คือทำงานหนัก เหนื่อย และยินยอมที่จะจน มักมีคนบอกว่าอุดมคติมันกินไม่ได้ แต่อุดมคติมันจรรโลงชีวิตเราได้ วันหนึ่งถ้าเราทำงานด้วยอุดมคติไปจนถึงวันหนึ่งที่เราตาย เราจะรู้สึกว่าเราตายอย่างน่าจะตาย ตายอย่างไม่เสียดายที่ใช้ชีวิตด้วยอุดมคติมาตลอด" บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อกล่าว