เปิดปูม'นพพร ศุภพิพัฒน์'

เปิดปูม'นพพร ศุภพิพัฒน์'

(รายงาน) เปิดปูม "นพพร ศุภพิพัฒน์" มหาเศรษฐีกับคดีอุ้มลดหนี้

"คดีอุ้มลดหนี้" กลายเป็นคดีใหญ่ เพราะมีตัวละครคนสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวหลายคน รวมถึง "มหาเศรษฐีหมื่นล้าน" วัย 40 ต้นๆ ถูกออกหมายจับแล้วในวันนี้

ทางตำรวจได้ออกหมายจับ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (Wind Energy Holdings) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพฯ ลงวันที่ 1 ธ.ค.57 ในข้อหาฉกรรจ์ ทั้งหมิ่นเบื้องสูง, จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำการร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด ฯลฯ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก นายนพพร เป็นลูกหนี้ นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล ได้ว่าจ้างแก๊งทวงหนี้ไปเจรจากับนายบัณฑิต เพื่อให้ลดมูลหนี้ให้จากจำนวนหนี้ 120 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท

คดีดังกล่าวได้สร้างความตื่นตะลึงในหมู่นักธุรกิจ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ นายนพพร เพิ่งขึ้นปกนิตยสารชั้นนำของเมืองไทย พร้อมสกู๊ปปกเรื่อง "เปิดใจมหาเศรษฐีหมื่นล้าน หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ"

มิเพียงเท่านั้น นิตยสาร Forbes Asia ได้อันดับ 50 มหาเศรษฐีเมืองไทยประจำปี 2557 ปรากฏว่า มีมหาเศรษฐีหน้าใหม่ 9 คน ติดอันดับด้วย

หนึ่งน้องใหม่ 9 คนคือ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ในวัย 43 ปี ที่มีทรัพย์สินจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท จึงทำให้เขาติดอันดับ 31 ของ 50 มหาเศรษฐีไทย

เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมกิจการพลังงานไฟฟ้าทางเลือก ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิถึงเกือบ 1.2 พันล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว

"นิค" หรือ นพพร เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานจากลม ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐีหน้าใหม่ที่ถูกจัดอันดับในปีนี้

บนเส้นทางนักธุรกิจรุ่นใหม่ ไม่ได้ร่ำรวยเพราะโชคช่วย หรือฟ้าบันดาล เขาเล่นหุ้นตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ด้วยวัยเพียง 21 ปี เขาสามารถโกยเงินจากตลาดหลักทรัพย์ได้เกือบ 26 ล้านบาท ก่อนจะสูญทั้งหมดไปกับการทำนิตยสาร

นพพร ตั้งต้นใหม่กับธุรกิจพลังงานทางเลือกในปี 2548 ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจาก นายประเดช กิตติอิสรานนท์ อดีตวิศวกรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ นายสวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

เขาเปิดตัวในนาม บริษัท เขาค้อพลังงานลม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมแห่งแรกที่ได้ทำการตรวจวัดลมที่พิสูจน์ได้ว่าที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีศักยภาพที่จะก่อสร้างทุ่งกังหันลมเชิงพาณิชย์ได้ของประเทศไทย

นพพร ได้ยื่นคำร้องขายไฟฟ้าต่อ กฟผ. ในนาม บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีพันธมิตรสำคัญคือ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน)

เดือน ส.ค.2551 บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ประสบความสำเร็จได้รับอนุมัติเชื่อมโยงและรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.เป็นปริมาณ 60 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรก

เดือน ก.พ.2552 เขาประสบความสำเร็จโดยการขายหุ้นให้ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. โดยครั้งแรกเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 26 ของทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เงิน 97.5 ล้านบาทได้ไหลเข้ามาในบริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ แล้ว

นอกจากนี้ นพพร ได้จัดตั้ง บริษัท รีนิวเอเบิลเอนเนอร์ยี จำกัด เพื่อขยายโครงการไฟฟ้าพลังลมไปจังหวัดอื่นและก้าวไปสู่ความเป็นบริษัทมหาชนในนาม บริษัท วินด์เอ็นเนอร์ยีโฮลดิ้ง จำกัด ที่ทำให้เขาเป็นเจ้าของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม มีทรัพย์สินมูลค่า 25,600 ล้านบาท

ในความสำเร็จของชายหนุ่มวัย 43 ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก "คอนเนกชั่น" ของกลุ่มอดีตผู้บริหาร กฟผ.และ กฟภ. รวมถึงเครือข่ายสายการเมืองที่ยึดครองกระทรวงพลังงานมาตั้งแต่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นี่คือเส้นทางธุรกิจไฟฟ้าพลังงานลมที่เติบโตอย่างน่าอัศจรรย์ และฉากชีวิตของชายหนุ่มวัย 43 ที่ค่อนข้างลึกลับ

และแทบไม่น่าเชื่อว่า "มหาเศรษฐีอันดับที่ 31" ของเมืองไทย จะตกเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีอุ้มลดหนี้