หนึ่งทศวรรษของเด็กหญิง 'กะทิ'

หนึ่งทศวรรษของเด็กหญิง 'กะทิ'

กาลเวลาอาจพรากหลายสิ่งหลายอย่างไป แต่สำหรับนวนิยายเรื่องเยี่ยมเรื่องนี้กาลเวลามิอาจทำอะไรได้...

...นอกเสียจากทำให้เรื่องราวของเด็กหญิงกะทิถูกบอกต่อ และกลายเป็นความประทับใจอันยากจะลืมเลือน

แด่ความสุข ความเศร้า ความเหงา และความทรงจำ...

ความสุขของกะทิ เป็นนวนิยายขนาดสั้นจากปลายปากกาของ งามพรรณ เวชชาชีวะ บอกเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของเด็กวัย 6-7 ขวบ ที่มองความสุข และการรับมือต่อความทุกข์ การตัดสินใจแก้ปัญหา ในสายตาเด็กแค่นั้นจะมีมุมมองแตกต่างจากผู้ใหญ่ทั่วไปมากน้อยแค่ไหน แม้เด็กหญิงกะทิจะต้องรับมือกับหลายๆ เรื่อง แต่เธอยังได้รับความรักจากคนรอบข้างและเธอเองยังมอบความรักให้แก่คนรอบข้างเช่นกัน

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข อบอวลด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะไปกับเรื่องราวจากวันนั้นจนถึงวันนี้ของ 'ความสุขของกะทิ' ในกิจกรรมเสวนา 10 ปี ความสุขของกะทิ ซึ่ง งามพรรณ เวชชาชีวะและ วิศุทธิ์ พรนิมิตร เป็นผู้ร่วมสนทนา

นักเขียนทุกคนล้วนมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์ผลงาน แต่แรงบันดาลใจแสนจะธรรมดาของงามพรรณกลับเป็นสิ่งสากลที่นักเขียนบางคนนำไปก่อเกิดประกายไฟด้วยความรู้สึก 'อยากเขียน'

“แรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่นักเขียนทุกคนอยากให้มีเกิดขึ้น แน่ใจว่าในที่นี้ก็มีหลายคนที่อยากเขียนหนังสือ เวลาไปพูดที่ไหนก็จะนึกถึงคนที่อยากเป็นนักเขียนด้วย เพราะถามว่าแรงบันดาลใจมาจากไหน ก็ต้องมาจากความอยากเขียนหนังสือ มันอยู่ในใจมานานมากเพื่อนหลายคนบอกว่า ถ้าพูดอยู่อย่างนี้ก็คงไม่ได้เป็นนักเขียน ก็คงไปเป็นนักพูด เพราะงั้นก็คงต้องเขียน” งามพรรณกล่าว

บางครั้งที่อยากเขียนแต่เริ่มเขียนไม่ได้เมื่อยังมีภาระงานอย่างอื่นค้างคาอยู่ งามพรรณเล่าติดตลกว่า “เผอิญมันเป็นรอยต่อ ว่าทำไมไม่มีใครมาจ้างแปล ก็เลยเอาช่วงเวลานี้แหละลองเขียนอะไรที่เราอยากจะเขียน”

เมื่อแรงบันดาลใจ ความรู้สึกอยากเขียน ประจวบเหมาะกับเวลาว่างพอดี จากนักแปลเริ่มสร้างตัวตนขึ้นด้วยการเริ่มเขียน โดยหาประเด็นที่จะเขียน ซึ่งงามพรรณเล่าว่าเกิดจากความน้อยใจ

“เราน้อยใจที่คนอื่นกลับบ้านเกิด เราเป็นคนกรุงเทพฯ คนอื่นกลับบ้านกันหมด อย่างมากเราก็แค่ไปเที่ยว แต่เราเป็นคนกรุงเทพฯ คนภาคกลาง เราเป็นเด็กธรรมศาสตร์ด้วยค่ะ นั่งริมแม่น้ำบ่อย ก็คิดในใจว่าอยากจะเล่าอะไรที่เกี่ยวกับแม่น้ำ เกี่ยวกับคลอง แล้วมันค่อยๆ เป็นภาพขึ้นมาเอง ว่าถ้าเราจะให้มีใครสักคนมีบ้านแบบนั้น ใช้ชีวิตง่ายๆ ความสุขที่เกิดขึ้นจากง่ายๆ ก็เลยกลายเป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นมา”

เมื่อนักเขียนหน้าใหม่เริ่มจับปากกาเขียน ซึ่งมิใช่การจับปากกาแปลดังแต่ก่อน ความกังวลย่อมเกิดขึ้น เธอจึงหากลวิธีการเขียนเฉพาะตน คือ แบ่งนวนิยายเป็น 3 ภาค

“ตอนนั้นคิดง่ายๆ ก่อนจะทำอย่างไรที่จะเขียนให้จบ เป็นนักเขียนหน้าใหม่จริงๆ ไม่เคยเขียนนิยายเลยสักเรื่อง มันมีความกลัวอยู่ลึกๆ เริ่มต้นได้แล้วมันจะจบหรือเปล่า แล้วมันจะจบตรงไหน จบอย่างไร ก็เลยคิดว่าจะทำให้มีโครงสร้างของนวนิยายที่จะช่วยเรา ก็เลยใช้วิธีเราแบ่งเป็น 3 ภาคดีกว่า มันจะช่วยเราว่า โอเค เราจะเขียนอย่างไรก็ได้แล้วมันจะเป็นภาคๆ ก็จะใช้ฉากที่หนึ่งแล้วเราก็ชอบเลขเก้า ภาคล่ะเก้าบท ทุกวันนี้ก็จะเขียนด้วยความมั่นใจว่าจะเขียนได้จบแล้ว เขียนไปเรื่อยๆ จนถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต ส่วนมากจะเป็นการเดินทาง เลยคิดง่ายๆ ว่า ให้เด็กคนนี้เดินทางสักหน่อย”

การดำเนินเรื่องแบบฉบับงามพรรณ คือ จะทำอย่างไรให้คนอ่านวางหนังสือเล่มนี้ไม่ลงและอ่านมันจนจบ ซึ่งก็ได้ผลเช่นนั้นจริงๆ

“ประโยคแรกของเรื่องเลยค่ะ คงจำได้ แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา ประโยคนั้นเป็นประโยคแรกที่เราคิดได้ แล้วมันมาเอง ใจก็คิดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คนอ่านหนังสือ เปิดตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย ก็คงไม่มีอะไรจูงใจไปกว่าความอยากรู้อยากเห็น เราก็ต้องมีปริศนาซ่อนไว้ เออ แม่ไปไหนทำไมไม่อยู่ด้วยแล้วถัดไปก็จะมีประโยคแบบนี้ทุกบท ในบ้านไม่มีรูปถ่ายแม่เลย ไม่เคยมีใครพูดถึงแม่ กะทิคิดถึงแม่ตลอด ก็จะไล่ไปทีละบท จะสร้างความสงสัยของคนอ่านไปเรื่อยๆ ว่า เด็กคนนี้ทำไมไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ความรู้สึกผูกพันของแม่ลูก มันเป็นความรู้สึกสากล”

เชื่อว่าหลายคนที่อ่านจนจบเล่มจะได้รับรู้ทั้งความเศร้า ความสุข ความเอื้อเฟื้อ และมองเห็นความรักจากคนใกล้ตัว แต่เด็กหญิงกะทิทำมากกว่านั้น เธอมอบสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้แก่ทุกคนที่เปิดอ่าน

ความสุขของกะทิได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2549 รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตีพิมพ์แล้วกว่า 91 ครั้ง แปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 10 ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน คาตาโลเนีย เกาหลี ลาว จีนแผ่นดินใหญ่ และจีนไต้หวัน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจซึ่งกระแสตอบรับทั้งในประเทศและนอกประเทศเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ความสุขของกะทิเติบโตขึ้นมีหนังสือภาคต่อของ ความสุขของกะทิ ชื่อว่า ความสุขของกะทิ ตอน ตามหาพระจันทร์ และ ความสุขของกะทิ ตอน ในโลกใบเล็ก

งามพรรณเล่าถึงภาคต่อของความสุขของกะทิว่าจริงๆ แล้วไม่อยากเขียนต่อเท่าไรนัก

“จริง ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเขียนภาคต่อสักเท่าไร แต่ว่าก็มีคนหลายคนที่พูด อย่างเช่นคุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ที่ a day บอกว่าพี่ไม่เขียนต่อเหรอ เขียนต่อสิ จริงๆ เรื่องมันก็ยังไม่จบ มีวันหนึ่งมาเซ็นหนังสือที่บูธนายอินทร์ก็มีคนถามว่าจะเขียนต่อไหม เราก็เซ็นไปพูดไปว่า ก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเขียนหรือเปล่า ก็มีคุณลุงที่อยู่ตรงหน้าก็บอก อ้าวคุณให้ผมคิดเองเหรอที่เหลือ เสียงดังมาก ท่าทีขึงขัง ใจคอจะให้ผมคิดเองหมดเลยเหรอที่คุณเขียนๆ ทิ้งไว้เนี่ย...เราก็ค่ะ ได้เลยค่ะ”

นั่นคือจุดเริ่มต้นภาคต่อของความสุขของกะทิทั้ง 3 เล่ม ที่มีให้อ่านกันในปัจจุบัน แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นงานเขียนแต่หนังสือความสุขของกะทิมีกระแสการตอบรับ เริ่มมีแฟนคลับ เนื้อหาสนุกจนผู้อ่านจินตนาการไปว่าเด็กหญิงกะทิมีอยู่จริง บ้านริมคลองมีอยู่จริง งามพรรณเริ่มมีแฟนคลับมากขึ้นเรื่อยๆ การเขียนหนังสือทำให้ผู้อ่านรู้จักเธอมากกว่าเป็นนักแปล

“ตกลงบ้านพี่อยู่คลองตรงไหนจะไปดู พี่ก็บอก ที่ไหนไม่มี คุณพ่อก็บอกไปทำงานคนก็ถามว่าอาจารย์มีบ้านอยู่ริมคลองไม่เห็นชวนไปเที่ยวเลย นี่เป็นเส้นบางๆ ระหว่างจินตนาการกับสิ่งจริง”

“ในฐานะที่เป็นนักเขียนทำให้รู้สึกว่า คนเขากล้าที่จะมาคุยกับเรา แปลมาสิบปีนะกว่าจะมาเขียนหนังสือ คนเขาก็เฉยๆ ไม่ได้คุยอะไร แต่พอเราได้เป็นนักเขียน จะมีคนมาแลกเปลี่ยนเหมือนเขารู้จักเรา เป็นความรู้สึกที่ดีว่าในสิ่งที่เราเขียนออกไป คนเขารับรู้ ชื่นชม แต่อย่างว่าเมื่อสิบปีก่อนก็ไม่ได้มี Social Network อย่างนี้ก็เลยมีคนเขียนจดหมายส่งมาที่สำนักพิมพ์ โบราณนะ แต่เราชอบ เป็นคนชอบจดหมายมาก ติดแสตมป์แล้วเดินไปไปรษณีย์กลัวมากว่ามันจะหายไป การเลือกระดาษ ปากกาหมึก ฉะนั้นจดหมายทุกฉบับที่เขียนมาคือปลื้มใจมาก เขียนมาชม ขอบคุณ ขอบคุณคุณงามพรรณที่เขียนอย่างนี้ทำให้เขาค้นพบกะทิของเขาแล้ว ซึ่งเราก็ว่าคืออะไรแต่ก็ต้องดีใจด้วย ล่าสุดก็มีน้องผู้หญิงคนหนึ่ง น้องแกชื่องามพรรณ ชื่อเล่นชื่อกะทิ คุณพ่อชอบหนังสือเล่มนี้มาก”

การเดินทางบางส่วนของความสุขของกะทิ ซึ่งต้องบอกว่าเดินทางไปสู่นักอ่านทั่วโลกจนทำให้ความสุขของกะทิตลอดสิบปีที่ผ่านมาถือว่าเป็น Best seller ความสุขของกะทิครบรอบ 10 ปี เด็กหญิงกะทิกำลังเติบโตขึ้นอีกครั้งในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม คือ จากตัวอักษรกลายเป็นลายเส้น ผู้ที่มามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ให้เด็กหญิงกะทิสร้างรอยยิ้ม มอบความสุขให้แก่ทุกคน เราจะได้เห็นการเติบโตของเด็กหญิงกะทิโดย ตั้ม - วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดการ์ตูนชื่อดัง ซึ่งมีผลงานเรื่อง ฮีชีอิท (hesheit) เด็กหญิงมะม่วง เป็นต้น วิศุทธิ์จะเป็นผู้ถ่ายทอดความสุขของกะทิในฉบับลายเส้นให้ผู้อ่านได้ติดตามกันต่อไป

งามพรรณเล่าว่าจุดเริ่มต้นจากความสุขของกะทิสู่ลายเส้น เริ่มจากเคยร่วมงานกับวิศุทธิ์ในหนังสือเรื่องชบาชมฟ้า กระทั่งทางสำนักพิมพ์อมรินทร์มีความคิดที่จะทำการ์ตูนจึงติดต่อวิศุทธิ์ไป

“พี่กับคุณตั้มรู้จักกันก็เพราะว่าพี่ได้รับเลือกจากสำนักพิมพ์ที่ญี่ปุ่นให้เขียนเกี่ยวกับหนังสือภาพ เขามาที่งานมหกรรม ยังไงก็ไม่ทราบเขาติดใจว่า เขาอยากให้พี่เขียน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เคยเขียนหนังสือสำหรับเด็กเลย เป็นสิ่งที่อยากเขียนอยู่ ก็มานั่งคุยให้ความมั่นใจว่าเราจะทำได้ เราก็เลยเขียนชื่อเรื่องชบาชมฟ้า สุดท้ายก็หาคนวาด เขาบอกพี่ว่าจะให้คุณตั้มเป็นคนวาด”

“เมื่อทางอมรินทร์มีความคิดที่จะทำเป็นการ์ตูนพี่ก็ไม่รู้จักคนอื่นเลย รู้จักคุณตั้มอยู่คนเดียว ก็บอกไปว่าชวนคุณตั้มดูไหม แต่ก็ไม่รู้ว่าคุณตั้มจะรับหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของทางสำนักพิมพ์ที่ไปทาบทาม ในความรู้สึกของพี่ก็ตื่นเต้นว่า โอ้ น้องกะทิจะได้มาเป็นอย่างน้องมะม่วงก็คงจะเป็นอะไรที่น่ารักๆ ที่น่าจะถูกใจคนอ่าน

ตั้ม - วิศุทธิ์ เล่าว่า งานนี้มันไม่ใช่เลย เพราะเป็นหนังสือขนาดยาวและเป็นหนังสือคนอื่น การอ่านหนังสือให้จบต้องใช้เวลา โดยปกติเขาจะชอบอ่านการ์ตูน

“ส่วนใหญ่ผมจะไม่ได้ใช้สมองคิด มันจะรู้เองว่าอันนี้น่าจะต้องทำ มันเป็นคล้ายๆ โชคชะตาอะไรสักอย่าง บางอย่างความรู้สึกมันไม่ใช่ อันนี้มันก็ไม่ใช่ แต่มันรู้สึกว่ามันจะใช่ ทำไมถึงบอกว่าไม่ใช่ มันไม่เคยทำ เป็นสิ่งที่ หนึ่งปกติผมเขียนสิ่งที่ผมคิดเอง จะคิดอะไรก็ได้ไม่ต้องเกรงใจใคร จะไม่สนุกก็ไม่เป็นไร จะผิดก็ไม่เป็นไร จะขายไม่ออกก็ไม่เป็นไร เราก็เขียนไปสนุกๆ ของเรา แต่งานนี้มันไม่ใช่เลย เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่คนอื่นเขาเขียนแล้วก็เป็นเรื่องที่เขาได้รางวัล ดูผู้ใหญ่เป็นคนที่เราเคารพ มันไม่ใช่แต่เรารู้ว่าเราต้องทำ เราก็อยากทำ”

อีกไม่นานนี้ความสุขของกะทิจะเติบโตในรูปแบบใหม่ ที่แปลกตาไปกว่าเดิม ความน่ารัก ความสดใสของเด็กหญิงกะทิจะปลุกให้ทุกคนมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งเป็นลายเส้น

“ผมทำให้ดีที่สุดนะครับ เอาให้ดีที่สุดมากกว่าที่จะเร็วที่สุด ออกมาก็ต้องดี ไม่ดีก็เปลืองกระดาษ” ตั้ม - วิศุทธิ์ บอก

เมื่อมาถึงตอนนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่หนังสือความสุขของกะทิ มอบความรัก ความอบอุ่น ความเศร้าและความรู้สึกต่างๆ อีกมากมาย เด็กหญิงกะทิอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมอบรอยยิ้มให้แก่คนรอบข้าง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นความรักที่ไม่รู้จบสิ้น การเติบโตของเด็กหญิงกะทิยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ หนังสือความสุขของกะทิจะยังคงคอยมอบความสุขให้แก่ผู้อ่านทุกคน

จะผ่านกี่วันกี่เดือนหรือจะกี่ทศวรรษ เด็กหญิงกะทิจะยังคงอยู่ในใจของผู้อ่าน และอีกไม่นานความประทับใจในหนังสือเล่มนี้จะเพิ่มขึ้น ความสุขของกะทิจะครองใจคนอีกครั้ง...จากตัวอักษรสู่ลายเส้น